แก๊สไฮเทค-กล่องฟางข้าว สตาร์ทอัพรักษ์โลก

แก๊สไฮเทค-กล่องฟางข้าว สตาร์ทอัพรักษ์โลก

ธุรกิจนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ลืมที่จะช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น Easy Gas ระบบแก๊สชีวภาพติดตั้งเซ็นเซอร์และ IoT แก้ปัญหาแก๊สหมดกลางคัน ผลงานสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ“ฟางไทย” บรรจุภัณฑ์อาหารจากฟางข้าว

อีซี่แก๊สและฟางไทย คว้ารางวัลชนะเลิศ STARTUP Thailand League ระดับมหาวิทยาลัยและระดับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ในเวทีแข่งขัน STARTUP Thailand 2018 : Northern @Chiang Mai เตรียมความพร้อมลงสนามชิงแชมป์สุดยอดสตาร์ทอัพไทย ประจำปี 2561 ในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2018 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 16-20 พ.ค.นี้

งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับผู้มีไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งที่เป็นนักศึกษาและประชาชนในทุกระดับ มีแผนงานทางการตลาดและการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ของนักธุรกิจสตาร์ทอัพรายใหม่ ให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

พร้อมเปิดโอกาสให้พบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน อันจะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการขึ้นในประเทศไทยและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แก๊สชีวภาพส่งตรงถึงมือ

กิตติพงศ์ สินทร หัวหน้าทีม อีซี่ แก๊ส กล่าวว่า ครัวเรือนไทยปกติใช้แก๊สหุงต้ม เมื่อแก๊สใกล้จะหมด ต้องมาคอยเช็คโดยการแกว่งหรือยกดูน้ำหนักถังแก๊ส ก่อนจะเปลี่ยนถังใหม่ แต่สำหรับภาคธุรกิจ ต้องคอยตรวจสอบอย่างถ้วนถี่เพราะหากแก๊สหมดระหว่างกระบวนการผลิต อาจส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายทั้งในแง่ของคุณภาพการผลิต รวมถึงเม็ดเงินทั้งต้นทุนและรายได้

อีซี่แก๊สจึงเข้ามาตอบโจทย์ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเอนไซม์และตัวเร่งปฏิกิริยาในการผลิตแก๊สชีวภาพ ที่สามารถควบคุมคุณภาพของแก๊สชีวภาพ ในขณะเดียวกันก็พัฒนาถังแก๊สระบบ IoT โดยพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจับปฏิกิริยาเคมี เพื่อตรวจวัดปริมาณแก๊สที่คงเหลือในถัง หากปริมาณเหลือน้อยกว่าที่ตั้งเอาไว้ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนไปยังสเตชั่นแก๊สเพื่อให้ส่งแก๊สถังใหม่มาถึงมือผู้บริโภค

“โมเดลธุรกิจของเราคือ ผลิตและจำหน่ายสินค้าทั้งแก๊สชีวภาพและถังแก๊ส ที่ตอบโจทย์เรื่องของความประหยัดจากแก๊สชีวภาพที่ค้นทุนต่ำ และปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐาน จากนั้นวางระบบแฟรนไชส์ให้ผู้ที่สนใจมาซื้อสเตชั่นแก๊ส ที่จะรองรับลูกค้า 500 ครัวเรือนต่อสเตชั่น คาดว่าจะพร้อมต่อยอดเชิงธุรกิจภายใน 2 ปี” กิตติพงศ์ กล่าว

สิ่งสำคัญคือ การจดสิทธิบัตรเพื่อเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของสตาร์ทอัพนวัตกรรมนี้ พร้อมกับเป้าที่เขาวางไว้ในการยื่นขอมาตรฐานทั้ง มอก. และมาตรฐานด้าน IoT ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ที่จะซื้อแฟรนไชน์และผู้บริโภคทั่วไปนั่นเอง

ฟางข้าวเพื่ออาหารปลอดภัย

บัณฑิตจบใหม่ที่กลับภูมิลำเนาในลำปาง จารุวรรณ คำเมือง มองเห็นของเหลือจากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในท้องถิ่น ฟางข้าวจำนวนมากถูกเผาทิ้งหรือนำไปทำปุ๋ยแบบไร้ราคา เมื่อเธอวางแผนจะสร้างธุรกิจจึงมองของเหลือทิ้งนี้ เป็นวัตถุดิบหลักจากเงินทุนไม่มากนัก แต่ใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นอาวุธ

“เรามองว่าฟางข้าวสามารถนำมาทำเป็นกระดาษที่มีความแข็งแรง แต่กระดาษจากฟางข้าวอาจไปได้ไม่ไกลนัก จึงมองเป็นเรื่องของบรรจุภัณฑ์และร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสัมผัสอาหารได้” จารุวรรณ กล่าว

เธอต่อยอดเชิงธุรกิจภายใต้ หจก. ฟางไทย แฟคทอรี่ ในปี 2559 จุดเด่นหลักคือ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้และปลอดสารเคมี 100% ที่สำคัญคือ สามารถขายในราคาที่สามารถแข่งขันได้เพราะไม่มีต้นทุนของสารเคมี ทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค อาหาร สมุนไพร โดยมีกำลังการผลิต 5,000-10,000 ชิ้นต่อเดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มมีดีมานด์จากประเทศมาเลเซีย ที่ต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยจำนวนที่มากถึง 1 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ด้วยกำลังการผลิตที่จำกัดจึงยังไม่สามารถทำได้ 

“เราต้องการผู้ร่วมทุน เพื่อใช้ในการขยายโรงงานการผลิตแบบครบวงจร ที่ต้องลงทุนสูงถึง 30 ล้านบาท หากขยายกำลังการผลิตได้ก็จะสามารถรับออเดอร์ขนาดใหญ่จากต่างประเทศอีกมาก” จารุวรรณ กล่าว