ใช้ม.44 เปิดทางอาชีวะต่างชาติลงทุนในไทย

ใช้ม.44 เปิดทางอาชีวะต่างชาติลงทุนในไทย

ศธ.เดินหน้าฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ ฝึกเด็กอาชีวะทำงานได้ทันที เผยใช้ม.44 เปิดทางให้อาชีวะต่างชาติเข้ามาลงทุนเปิดการเรียนการสอนในไทย

วันนี้ (4 เม.ย) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ Education to Employment : Vocational Boot Camp (E to E) ปิดภาคเรียนฤดูร้อน เฟส 3 ว่า โครงการนี้เดินหน้ามาถึงระยะที่ 3 แล้ว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการและนักศึกษาเป็นจำนวนมาก และยังมีนักศึกษาที่เข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการนี้สถานประกอบการได้รับเข้าทำงานทันทีอีกด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรฝึกอบรมที่คัดเลือกมาได้มีการร่วมกับสถานประกอบการปรับปรุงและกำหนดหลักสูตรให้มีความเข้มข้นและตรงกับความต้องการของประเทศมากขึ้น ซึ่งทำให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้เมื่อสำเร็จการศึกษานี้เข้าทำงานในสถานประกอบการได้ทันทีไม่ต้องเสียวเวลาไปอบรมอะไรอีก ขณะเดียวกันการปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมโครงการระยะที่ 3 นี้สถานประกอบการยังให้คำยืนยันด้วยว่าพร้อมที่จะรับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดเข้าทำงานในสถานประกอบการทันทีด้วย


นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้เดินทางไปหารือกับรมว.ศธ. และ ผู้บริหารอาชีวศึกษา ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อเชิญชวนให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาของประเทศญี่ปุ่นมาเปิดการเรียนการสอนตามมาตรฐานหลักสูตรของประเทศญี่ปุ่นแบบ100% ในประเทศไทย โดยเริ่มในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนในกลุ่มพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สาขา New S-Curve อาทิ หลักสูตรควบคุมหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรม หลักสูตรบริการล้อยางและระบบเบรคอากาศยานส่วนบุคคล เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 คำสั่งที่ 27/2560 เรื่อง การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่อนุญาตให้สถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงมาจัดการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งคำสั่งนี้ให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างชาติเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยได้คล้ายกับคำสั่ง คสช.ที่ 29/2560 ที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพสูงมาเปิดในประเทศไทยได้เช่นกัน


ด้าน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำหรับโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ ระยะที่ 3 มีหลักสูตร จำนวน 47 หลักสูตร มีวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 253 แห่งครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 656 แห่ง โดยขณะนี้มีผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมแล้วกว่า 13,000 คน