ปชช.59.7%กังวลมากที่สุด เด็กสอบเข้าม.1 ผู้ปกครองอยากให้เข้าร.ร.ดัง

ปชช.59.7%กังวลมากที่สุด เด็กสอบเข้าม.1 ผู้ปกครองอยากให้เข้าร.ร.ดัง

เปิดผลสำรวจเรื่องสอบเข้าม.1 เด็กไทย...ค่านิยมกับความทุกข์ใจของผู้ปกครอง ชี้ปชช.59.7%กังวลมากที่สุด เผยผู้ปกครองตัดสินใจเลือกโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีกำหนดให้มีการสมัครสอบเข้าศึกษาต่อของนักเรียนชั้น ม.1 ซึ่งจะประกาศผลสอบและรายงานตัววันที่ 4 เมษายน 2561  

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “สอบเข้า ม.1 เด็กไทย...ค่านิยม กับ ความทุกข์ใจของผู้ปกครอง” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไปสอบเข้าศึกษาต่อชั้น ม.1 ในโรงเรียนต่างๆ ของรัฐบาล ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น1,085 คน พบว่า

เหตุผลที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 65.3 ตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้แก่บุตรหลานในการสอบเข้าศึกษาต่อชั้นม.1 คือ ชื่อเสียงของโรงเรียน รองลงมาร้อยละ 63.7 ระบุว่าความสะดวกในการเดินทาง และร้อยละ 57.7 ระบุว่ามั่นใจในระบบการเรียนการสอน

ปชช.59.7%กังวลมากที่สุด เด็กสอบเข้าม.1 ผู้ปกครองอยากให้เข้าร.ร.ดัง

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้บุตรหลานเพื่อสอบเข้าม.1 นั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 57.2 ระบุว่าให้อ่านหนังสือและซื้อแบบฝึกหัดเตรียมสอบมาหัดทำเอง รองลงมาร้อยละ 56.2 ระบุว่าให้เรียนพิเศษตั้งแต่ป.4-ป.5-ป.6 และร้อยละ 45.1 ระบุว่า พาไปสอบPre-test ม.1/ซ้อมสอบเสมือนจริงตามโรงเรียนต่างๆ

ส่วนเรื่องที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 59.7 กังวลมากที่สุดในการสอบเรียนต่อระดับม.1 ของบุตรหลานในครั้งนี้ คือ อัตราการสอบแข่งขันสูงรองลงมาร้อยละ 13.5 คือกลัวลูกสอบไม่ติดและไม่มีโรงเรียนรัฐบาลรองรับและร้อยละ 10.7 คือกลัวลูกสอบไม่ติดแล้วต้องไปหาโรงเรียนเอกชนค่าเทอมแพง

เมื่อถามว่า อยากให้ระบบการสอบเข้าหรือศึกษาต่อระดับม.1 ของนักเรียนในประเทศไทยเป็นอย่างไร ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 74.8 ระบุว่าควรมีการสอบคัดเลือก (โดยร้อยละ 27.7 ระบุว่าอยากให้มีการสอบมากกว่า 1 รอบ เพื่อให้โอกาสเด็ก รองลงมาร้อยละ19.2 ระบุว่าสอบคัดเลือก100% เหมือนสมัยก่อนและร้อยละ 15.3 ระบุว่าให้สอบเหมือนปัจจุบันที่แบ่งสัดส่วนนักเรียนในพื้นที่กับนอกพื้นที่) ขณะที่ร้อยละ 25.2 ระบุว่าไม่ต้องมีการสอบคัดเลือก(โดยร้อยละ 11.4 ระบุว่าให้นักเรียนมีโอกาสเข้าเรียนได้ตามเขตพื้นที่รองลงมาร้อยละ 10.6 ระบุว่ามีโรงเรียนและที่นั่งให้พอเพียงกับนักเรียน และร้อยละ 3.4 ระบุว่าให้ใช้การทดสอบวิธีการอื่นที่เหมาะสม)

ด้านองค์ประกอบของระบบการศึกษาไทยที่หวังและอยากให้บุตรหลานได้รับขณะศึกษาในยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 72.6 มีความเห็นว่าการเรียนการสอนควรมีมาตรฐานเท่ากันทุกโรงเรียนไม่ควรมีการจัดระดับ/ควรยกเลิกค่านิยมโรงเรียนดังรองลงมาร้อยละ 59.0 มีความเห็นว่าครู/อาจารย์ควรมีความทันสมัยเข้าใจหลักสูตรไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและร้อยละ 51.7 มีความเห็นว่ารัฐบาล/ผู้บริหารการศึกษาของประเทศให้ความสนับสนุนค่าเทอมค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา