‘เปลี่ยน’ การศึกษาไทยในยุค Digital Disruption

‘เปลี่ยน’ การศึกษาไทยในยุค Digital Disruption

การศึกษาไทยจะเดินไปทางไหน หลายคน “คิด” หาทางออกเพราะ“อึดอัด” กับปัญหาเดิมๆ

คนในแวดวงเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพก็เช่นกัน

ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการ “ลุก” ขึ้นมาทำอย่างไรสักอย่างเพื่อ “เปลี่ยน” ระบบการศึกษาแบบเดิมๆ ให้ดีขึ้นได้ด้วย Education Technology

“หลายคนอึดอัดอยู่นานกับปัญหาการศึกษาของไทย ผมก็เป็นหนึ่งคนในนั้น

เหมือนทุกคนเห็นแล้วว่ามียอดสึนามิไกลๆ กว่าจะถล่มก็ไม่รู้เมื่อไหร่ รู้แล้วอย่างนี้หลายคนอึดอัด อยากลงมือเปลี่ยนแปลง

ทำไม คนเข้าไปในระบบ ต้องเข้าพร้อมกัน แล้วไต่ระดับ เหมือนเราเข้าโรงงาน เพื่อออกมาพร้อมๆ กัน ” กระทิง พูนผล Managing Partner 500 TukTuks และ CEO – Disrupt กล่าว

หากเปรียบเทียบระบบการศึกษาดั้งเดิมเหมือนท่อเก่า ๆ (Dumb Pipe) ที่ผู้เรียนเข้าไปเรียนตามท่อ แล้วเดินออกตามท่อนั้นๆ โดยที่ไม่สามารถดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาได้อย่างเต็มที่

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เรียนหนัก แต่กลับมีความสามาถน้อยลง ไม่ตอบโจทย์กับโลกสมัยใหม่ที่คนต้องมีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย เพื่อเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ของโทคโนโลยี และจะต้องพร้อมปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในอนาคตยุค Digital Disruption

   แล้วคนรุ่นใหม่มีความสนใจแค่ไหนกับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

กระทิง ยอมรับ ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพในไทยหมวดการศึกษายังมีอยู่น้อยมาก “Education ผมพูดมาตลอดสองปี เตรียมเงินพร้อมจะลงทุนเป็นร้อยล้าน แต่ก็

ลงได้แค่ SkillLane ตัวเดียว จาก 48 สตาร์ทอัพที่ลงทุน ทั้งๆ ที่ตั้งใจลงทุนในด้านการศึกษาให้มากกว่านี้

กลายเป็นว่า ทุกคนทำ Fintech และ Proptech กัน เพราะมองว่าเซ็กซี่กว่า ทำเงินได้

นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำให้เห็นว่า EdTech ก็เซ็กซี่ได้ และสำเร็จได้ ด้วยการมองหาและแจ้งเกิดสตาร์ทอัพดีๆ หาคนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้คนได้เห็นว่าการศึกษาทำเงินได้”

“Education Disruption Hackathon 2018” เป็นหนึ่งในการทำงานที่ กระทิง เชื่อว่า นี่จะเป็นทางออกของปัญหาการศึกษาในยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

เริ่มจากควักทุนส่วนตัวหลักล้าน บวกกับหาพันธมิตรเข้ามาเสริมจนได้เป็นรูปแบบงานที่จะมีขึ้นในวันที่30 มีนาคม-1 เมษายน 2561

“ผมไม่ใช่เศรษฐีพันล้าน โชคดีที่พอเดินไปบอกสิ่งที่อยากจะทำหลายคนเห็นด้วย ดีแทค สปอนเซอร์สถานที่ฟรี กสิกรไทย TCP Group PTT และ Areeya Property เป็นต้น ”

รูปแบบงานจะมีทั้งส่วนของ Conference และ Hackathon

การที่ต้องมีทั้งสองกิจกรรมพร้อมๆ กัน กระทิง มองว่า จะเป็นตัวเร่งอย่างดีให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ

Conference จัดขึ้นในวันศุกร์ ที่ 30 มีนาคม 2561 เวลา 9.00 – 18.00 โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน เป็นการให้ความรู้และมุมมองด้านการศึกษา

อีกส่วนเป็น Edtech Hackathon จัดขึ้นในวันเสาร์ ที่ 31 มีนาคม และอาทิตย์ ที่ 1 เมษายน 2561 (2 วัน 1 คืน) ที่ ดีแทคเฮ้าส์ จามจุรีสแควร์

“ที่สุดเราได้ 30 ทีมจะมากินนอนกันที่ตึกจามจุรีฯ แล้วสร้างโปรดักท์ที่จะออกมาตอบโจทย์ระบบการศึกษาไทยในอนาคต

ทีมที่ชนะจะได้เข้า Fast Track ของดีแทค ซึ่งผม และโค้ช จะเป็นคนพาเค้าเดินไปจนสำเร็จให้ได้”

Mark Pavlyukovskyy - CEO of Piper, อริยะ พนมยงค์ MD of Line Thailand, กระทิง พูนผล จาก 500 TukTuks, ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ จาก Ookbee, ไผท ผดุงถิ่น จาก Builk, ตะวัน เทวอักษร CEO อักษรเจริญทัศน์, สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ จากดีแทค แอคเซเลอเรท เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี Michael Staton - Partner จาก Learn Capital ที่มีเงินลงทุนกับ Education Startup กว่า 3,500 ล้านบาท เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกการศึกษา และผู้จัดการกองทุน Learn Capital กองทุน VC เบอร์ 1 ของโลกที่ลงทุนกับ EdTech Startups จะมาบรรยายในหัวข้อ “Future of Education” การศึกษาแห่งโลกอนาคตและการปฎิวัติการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ในโลกยุค Digital Disruption

“เปลี่ยน” การศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ยากกว่าการทำสตาร์ทอัพในหมวดอื่นๆ แต่ กระทิง เชื่อว่า ทำได้ และสิ่งที่ลุกขึ้นมาทำในครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมและยังเป็นการจุดประกายให้สตาร์ทอัพหันมาทำ EdTech กันมากขึ้น

คาดหวังถึงจุดเริ่มต้น EdTech Ecosystem ในไทยให้เริ่มออกเดินจาก 0-1 (zero to one) จากนั้นคงไปถึง 1-10 และ 10-100 ได้ในที่สุด

ที่แน่ๆ คือวันนี้ เลข 1 ได้เกิดขึ้นแล้ว