ศิริราชเปิดตัว‘หุ่นยนต์จ่ายยา’ร่นเวลารอ ดีเดย์1 ส.ค.นี้

ศิริราชเปิดตัว‘หุ่นยนต์จ่ายยา’ร่นเวลารอ ดีเดย์1 ส.ค.นี้

รพ.ศิริราชยกระดับการบริการสู่เมดิคัลฮับพร้อมขานรับความเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมนิว เอส-เคิร์ฟ เตรียมเปิดตัวใช้งานหุ่นยนต์จ่ายยาเต็มรูปแบบ 1 ส.ค.นี้ ร่นเวลารอยาเหลือไม่เกิน 15 นาที เล็งจีบหุ่นยนต์ดินสอมามอนิเตอร์สัญญาชีพคนไข้ช่วยพยาบาล

รพ.ศิริราชยกระดับการบริการสู่เมดิคัลฮับพร้อมขานรับความเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมนิว เอส-เคิร์ฟ เตรียมเปิดตัวใช้งานหุ่นยนต์จ่ายยาเต็มรูปแบบ 1 ส.ค.นี้ ร่นเวลารอยาเหลือไม่เกิน 15 นาที เล็งจีบหุ่นยนต์ดินสอมาทำหน้าที่มอนิเตอร์สัญญาชีพคนไข้ ลดภาระงานเจ้าหน้าที่พยาบาล ระบุไทยจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมการแพทย์รองรับสังคมสูงอายุในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ด้าน “เฉลิมพล” แนะภาครัฐจับมือเอกชนสนับสนุนงานวิจัยระบบเอไอผ่านโรงเรียนแพทย์เสมือนเป็นสปริงบอร์ดให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไทยก้าวสู่เวทีโลก

โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐพยายามผลักดันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับธุรกิจให้เป็นเขตเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมทางการแพทย์นั้นเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve ที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาให้บริการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจัดเสวนาหัวข้อ Smart Robotics For Smart Life

หุ่นยนต์จ่ายยาร่นเวลารอคิว

รศ.นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า วันที่ 1 ส.ค.นี้จะเปิดตัวการใช้หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติเต็มรูปแบบ รองรับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการจากห้องยาประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน ที่ผ่านมาใช้เวลารอนานร่วม 1 ชั่วโมงก็จะเหลือไม่เกิน 15 นาที ที่สำคัญเป็นหุ่นยนต์สัญชาติไทยและในอนาคตมีแนวคิดที่จะนำหุ่นยนต์ดินสอมาช่วยเจ้าหน้าที่พยาบาลมอนิเตอร์สัญญาชีพ โดยเป็นการศึกษาทดลองใช้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบริการในอนาคตต่อไป

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไม่ใช่แฟชั่นหรือกระแส แต่เป็นความจำเป็นที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากระบบสุขภาพไทยในอนาคต 5-10 ปีกำลังได้รับความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาคแรงงานลดลง โรคมีความซับซ้อนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงขึ้น ดังนั้น หุ่นยนต์จึงมีความสำคัญเพราะเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการให้บริการ อีกทั้งไทยจึงจำเป็นต้องผลิตใช้เองแทนเทคโนโลยีนำเข้าที่มีราคาแพง

สำหรับแนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ หุ่นยนต์ที่ไม่ต้องเข้าไปในร่างกายและหุ่นยนต์ที่สัมผัสหรือฝังภายในอวัยวะ เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหรือเจาะเลือด ที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนาและต้องการแรงสนับสนุนมาก รวมทั้งการสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรสนับสนุน แต่เป็นเรื่องในระยะยาว ทั้งนี้ ไทยนำเข้าหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้แล้วไม่น้อยกว่า 5 ตัว ขณะที่ในเอเชียมีอยู่กว่า 100 ตัว

ส่วนหุ่นยนต์ที่ไม่ต้องเข้าไปในร่างกายมนุษย์ แต่มีส่วนส่วนช่วยให้ดูแลและการบริการดีขึ้น จะทำได้ง่ายและมีโอกาสสำเร็จมากกว่า เช่น กระบวนการให้บริการจัดยาที่มีความแม่นยำ รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น

สร้างสปริงบอร์ดอุตฯหุ่นยนต์

ด้านนายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ กล่าวว่า แนวนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์การแพทย์ถือว่ามาถูกจังหวะเวลาและเข้ากับยุคสมัยของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรมและหลายประเทศให้ความสำคัญ

ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัว แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐาน แต่ถ้ามองให้ดีก็ยังมีโอกาสโดยการโฟกัสที่จุดแข็งของประเทศ ซึ่งก็คือ การแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มาผสมผสานกับวิศวกร นักวิจัยในการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับกับการดูแลประชากรผู้สูงอายุในอนาคต

“ถึงเวลาที่เราต้องทำงานแบบทีมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน แพทย์ นักวิจัย ที่ต้องเข้าสนับสนุนงานวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะเป็นเซกเมนต์ที่ยังไม่มีใครเป็นผู้นำ เรายังมีโอกาสทางการตลาดด้วยการวิจัยและพัฒนาผ่านโรงเรียนแพทย์ตลอดจนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นสปริงบอร์ดให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไทยก้าวสู่เวทีโลก เหมือนกับโมเดลบริษัทต่างประเทศ อย่าง ซีเมนต์ ซัมซุง ที่พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ก่อนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์” นายเฉลิมพล กล่าว

สำหรับหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ “ดินสอมินิ” ขณะนี้ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในปีนี้ตั้งเป้าจำหน่ายไว้ 2,000 ตัวในราคาตัวละ 8.5 หมื่นบาท หุ่นยนต์ตัวนี้มีระบบเฝ้าดูแลที่จะแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแล เช่น หากผู้สูงอายุลุกขึ้นจากเตียงก็จะแจ้งไปยังสมาร์ทโฟนของพยาบาลหรือลูกหลานตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ จึงไม่จำเป็นต้องมีคนนั่งเฝ้าตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังมีมีระบบวิดีโอคอลทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุสามารถติดต่อญาติ เพื่อน หรือแม้กระทั่งแพทย์ พยาบาล เป็นระบบเรียลไทม์ พูดคุยได้ทันที เพียงแค่แตะไปหน้าหุ่นยนต์เท่านั้น ทั้งยังมีระบบเตือนผู้สูงอายุหรือผู้เฝ้า เช่น ให้กินข้าว กินยา โดยการอัดเสียงเตือนไว้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนไทยที่มักจะลืมกินยาและกินซ้ำ หรือเตือนให้ออกกำลังการ ให้เข้านอน ขณะเดียวกันยังโหลดข้อมูลหรือวิดีโอคลิปเพื่อความบันเทิงใส่ในหุ่นยนต์ รวมถึงสามารถโหลดเกมฝึกสมอง ช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน คลายเหงาได้ ที่สำคัญสามารถรายงานหรือวัดสัญญาณชีพได้