ลุยสอบอปท.ทุจริตซื้อรถดูดโคลน-รถขยะ กว่า10จังหวัด-รัฐเสียหาย70ล้าน

ลุยสอบอปท.ทุจริตซื้อรถดูดโคลน-รถขยะ กว่า10จังหวัด-รัฐเสียหาย70ล้าน

ตำรวจ ปปป. - เครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตฯ เดินหน้าตรวจสอบ "อปท." ทุจริตซื้อรถดูดโคลน-รถขยะล็อต2 เผยพบกว่า 10 จังหวัด ทำให้รัฐเสียหายกว่า 70 ล้าน

สืบเนื่องจาก บก.ปปป. พร้อมด้วยคณะเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ดำเนินการตรวจสอบการฮั้วประมูลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปแล้ว 2 ล็อต โดยล็อตที่ 1.ขายรถดูดโคลน และรถขยะอัดท้ายให้รัฐ ลักษณะเป็นการล็อคสเป็ค บก.ปปป.ดำเนินดคีไป 21 อปท. ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว 20 อปท. เหลืออีก 1 อปท. ในล็อตที่ 2 มี 11 อปท. ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี หลังจากนี้รอประสานผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีรายชื่อพบทุจริตฮั้วประมูล มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับ บก.ปปป. ในฐานะผู้เสียหายนั้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 เมษายน ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ว่าที่ร.ต.บุรินทร์ อินทรเสนีย์ ผอ.กลุ่มงานกฏหมายฯ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ชลบุรี นายไพศาล ขจรเวชกุล สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สมุทรสาคร นายจีรศักดิ์ ศรีสุมล สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ระยอง และนายเอกชัย สรรพอาสา สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สมุทรปราการ

พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เปิดเผยว่า หลังจากที่ทำหนังสือส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 10 จังหวัด และวันนี้ตัวแทนเข้ามาขอรับทราบรายละเอียด เพื่อนำไปให้นายอำเภอแต่ละท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบและเดินทางมาร้องทุกข์อีกครั้งที่ ปปป. โดยจากการตรวจสอบพบทั้ง 12 อปท. มีพฤติการณ์กระทำผิดที่คล้ายกันทั้งหมด คือ เริ่มแรกจะมีบริษัทผู้ผลิตรถดูดสิ่งโสโครก จะนำเสนอรายละเอียดที่จะขายให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จากนั้น อปท. จะตั้งงบเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อ เพื่อกำหนดระเบียบ สเปก ราคากลาง ซึ่งราคากลางที่แต่ละท้องถิ่นกำหนดนั้น ไม่ได้มีการกำหนดราคากลางที่ชัดเจน เพราะ รถดังกล่าว ไม่มีการวางขายตามท้องตลาดทั่วไป จึงทำให้แต่ละท้องที่ต้องเสนอราคากลางเอง และให้ตั้งขึ้นจากราคาขายรถประมาณ 6-7 ล้านบาทต่อคัน เมื่อบวกราคากำไรและภาษี จะต้องซื้ออยู่ที่ 11 ล้านบาท แต่กลับมีการตั้งราคาไว้ที่ 17-18 ล้านบาทต่อคัน ทำให้รัฐเสียหายกว่า 70 ล้านบาท

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบว่า มีบริษัทที่สามารถจะผลิตรถดังกล่าวได้เพียง 2 บริษัท โดยตรวจสอบว่ามีประธานกรรการบริหารเดียวกัน และในการประมูลนั้นตามระเบียบต้องมีบริษัทคู่เทียบ ที่มาร่วมแข่งขัน อีก 5 บริษัท ซึ่งคดีครั้งนี้ก็ตรวจสอบพบว่าเป็นเครือญาติ มีพนักงานเชื่อมโยงกัน ทำให้เอื้อต่อการทุจริต และพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ที่มาประมูลนั้นไม่ได้ตามมาตราฐานอุตสาหกรรมเลย
ทั้งนี้หากมีการร้องทุกข์แล้ว หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะสอบสวน ลงพื้นที่ และส่งสำนวนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เพื่อตรวจสอบ โดยการส่งสำนวนนั้น จะส่งทั้ง เจ้าหน้าที่รัฐ และ บริษัทเอกชน ในข่ายความผิด มาตรา 157 และ มาตรา10 มาตรา11 มาตรา12 พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

ด้านนายไพศาล เปิดเผยว่า บก.ปปป. ทำหนังสือถึงนายอำเภอเมือง จ.สมุทรสาคร ก่อนตนได้รับมอบหมายให้มาพบ พ.ต.อ.จักร เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เพื่อมาสอบถามข้อมูลการทุจริตฮั้วประมูล เพื่อนำเสนอนายอำเภอ ก่อนสรุปข้อมูลส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตามขั้นตอน กรณี อบต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลรถดูดโคลนนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนมาบ้าง แต่เป็นการร้องเรียนด้วยปากเปล่า ลักษณะคือ คู่แข่งการประมูลมาพูดร้องว่าบริษัทคู่แข่งมีการทุจริตแต่ไม่ได้มีเอกสารหรือร้องอย่างเป็นทางการ และมี 7 บริษัทเกี่ยวข้องในการประมูลงานที่ อบต.ท่าทราย

นายไพศาล กล่าวว่า ทั้งนี้ในจ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บ้านแพ้ว อ.กระทุ่มแบน ทั้ง 3 อำเภอคุม 38 อปท. หลังพบมีชื่อในการฮั้วประมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้สั่งการให้ทั้ง 3 อำเภอทำการตรวจสอบภายในทั้งหมด ปกติแต่ละ อปท.เมื่อใช้งบไม่หมดจะเก็บเป็นเงินสะสม หรือกองทุนสะสม หากมีเหตุจำเป็นหรือเกิดเหตุภัยพิบัตฉุกเฉิน แต่ละ อปท.สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเบิกตามขั้นตอน ทั่วประเทศกว่า 7 พัน อปท.คาดมีเงินสะสมกว่า 10,000 ล้านบาท

ภาพ-thansettakij