เที่ยวเพลิน สไตล์ย้อนยุค

เที่ยวเพลิน สไตล์ย้อนยุค

3 สถานที่ย้อนยุคที่จัดวางสิ่งของเก่าๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ขอแนะนำย่านพุทธมณฑล

........................

สำหรับคนที่อยากหวนนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ หรืออยากพาลูกหลานไปย้อนความทรงจำครั้งคุณพ่อคุณแม่ยังสาว ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวย้อนยุคย่านพุทธมณฑลสามแห่งคือ หอภาพยนตร์ ,ชมเฌย และบ้านพิพิธภัณฑ์

ความทรงจำที่บ้านพิพิธภัณฑ์

จำได้ว่า แม่เคยมีกระต่ายขูดมะพร้าว เก็บไว้เวลาทำแกงกะทิ ,ถาดสังกะสี ลายไทยๆ แบบบ้านๆ เคยใช้ใส่ของทำบุญ แต่ ณ เวลานี้ได้อันตรธานหายไปแล้ว

และยังมีสิ่งของเก่าๆ อีกหลายชิ้นที่พาให้คิดถึงพ่อและแม่       เมื่อเร็วๆ นี้มีโอกาสแวะไปบ้านพิพิธภัณฑ์ พุทธมณฑลสาย 2 

เมื่อเยื้องกายเข้าไป ก็พบว่า ของเก่าที่อาจารย์เอนก นาวิกมูล สะสมมาทั้งชีวิต รวมทั้งได้จากการบริจาค มีจำนวนเยอะมาก 

พวกเขาจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อแสดงให้เห็นถึง วิถีชีวิตชาวตลาดและชาวเมือง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500

ฉันเดินทางไปถึงบ้านพิพิธภัณฑ์ ก็เกือบจะปิดแล้ว จึงมีเวลาละเลียดชมไม่กี่ชั่วโมง

ก่อนจะขึ้นไปชมชั้นสองบนบ้าน... 

ชั้นล่างบ้านพิพิธภัณฑ์ เป็นร้านของเล่น ของจิปาถะ ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงหนังสือที่อาจารย์เอนกเขียนขึ้น เป็นเรื่องราวเก่าๆ ในประวัติศาสตร์

ชั้นสอง จัดแสดงสิ่งของเก่าๆ ให้เห็นตั้งแต่ร้านตัดผม, ร้านตัดเสื้อ มีหนังสือตำราตัดเสื้อ ของนารีศิลป์วิทยาลัย หวนให้คิดถึงตอนเด็กๆ ที่แม่ตัดเสื้อให้ใส่  และมีการจำลองห้องเรียนเล็กๆ มีกระดานดำเขียนด้วยชอล์ก และโต๊ะไม้ รวมถึงครัวแบบไทยๆ ,ร้านตัดผมแบบดั้งเดิมที่ยังมีให้เห็นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะร้านตัดผมผู้ชาย เป็นเก้าอี้ไม้ สามารถหมุนไปมาได้ บางรุ่นมีพวงมาลัยเล็กๆ ปรับพนักเอนลงสำหรับโกนหนวดโกนเครา  

ส่วนอีกความทรงจำ ก็คือ ร้านกาแฟ ส่วนใหญ่จะอยู่ในร้านโชห่วย และปัจจุบันก็ยังมีอยู่แต่น้อยมาก 

การได้เห็นสิ่งของเหล่านี้ ก็เป็นการย้อนความทรงจำ และทำให้รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของอนิจจัง ความไม่เที่ยง

ว่ากันว่า บ้านพิพิธภัณฑ์ เป็นที่ของคำว่า “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า ” 

วันเวลาผ่านมากว่า 17 ปี สิ่งของในสถานที่แห่งนี้ ก็ยิ่งเก่ามากขึ้นทุกวัน 

และที่น่ารักมากสำหรับบ้านพิพิธภัณฑ์ ก็คือ เจ้าของทำด้วยใจรัก

ถ่ายรูปสวยๆ ต้องชมเฌย

กว่าจะหา ชมเฌย ย่านพุทธมณฑลสาย 4 เจอ ก็วนไปวนมาหลายรอบ ที่นี่จะเปิดให้ชมทุกโซนในวันเสาร์-อาทิตย์ 

บอย-จักรทิพย์ สัจจาภิบาลธร ผู้ดีไซน์ และสร้างชมเฌย สถานที่ย้อนยุคที่มีเรื่องราวบนพื้นที่ 6ไร่ เคยบอกว่า ที่นี่เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวเขา ไม่ใช่สตูดิโอ แต่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายละครอยู่เรื่อยๆ

เพราะเจ้าของบ้าน ชอบสะสมของเก่าและมีเยอะมาก จึงนำมาจัดเป็นโซนๆ อาศัยว่า เป็นคนรักศิลปะและทำงานในแวดวงบันเทิง ก็เลยจัดวางโซนต่างๆ ไว้เป็นเรื่องเป็นราว

ว่ากันว่า ของสะสมหลายพันชิ้น บางชิ้นเป็นสมัยรัชกาลที่ 4 และบางชิ้นเข้ามาขายในยุคแรกๆ ของเมืองไทย อาทิ เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย,วิทยุธานินทร์ เตารีดน้ำมันก๊าด ฯลฯ

เขาสะสมของเก่าเหล่านี้ ตั้งแต่เป็นนักเรียนเพาะช่าง บางชิ้นเป็นขยะเก็บไว้นาน แล้วนำมาซ่อมแซม ที่นี่จึงเป็นเสมือน The Memory of Gallery

เพราะเขาหลงรักสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ชมเฌย จึงมีสไตล์เช่นนั้น บางตึกจำลองมาจากศาลากลางเก่าที่จะทุบทิ้งในปทุมธานี

เจ้าของชมเฌย เคยเล่าให้ฟังว่า ไม่ได้สร้างเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ ไม่ได้แบ่งพื้นที่ขายของ มีแค่ร้านกาแฟ

“มีคนถามผมว่า ทำแบบนี้ได้อะไร ผมก็บอกว่าไม่ได้อะไร แค่แบ่งปันให้ดู ไม่ได้ต้องการอวดหรือโชว์”

ของเก่าในโซนต่างๆ ที่เขาพาชม มีตั้งแต่ร้านทำฟัน ร้านโชห่วย ร้านวิทยุ ร้านของเล่นเก่า ร้านซักรีด ฯลฯ ร้านเหล่านี้ไม่ใช่ร้านขายของ แต่เป็นการจัดดีสเพลย์เรื่องราวให้ของเก่า

ว่ากันว่า ขวดน้ำอัดลมยุคแรกในเมืองไทยที่เขาสะสมไว้ เป็นของสมัยรัชกาลที่ 4  ในยุคนั้นสั่งทำจากฮ่องกงและสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังมีเตารีดหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการ ตั้งแต่เตารีดเหล็กหล่อที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาสู่ยุคเตารีดน้ำมันก๊าด พัฒนามาเป็นเตารีดไฟฟ้า ฯลฯ

เมื่อเดินมาถึงปั๊มน้ำมัน ที่ยุคนี้แทบจะไม่เห็นรูปทรงแบบนี้แล้ว เจ้าของชมเฌย จำได้ว่า พ่อของเขาชอบเติมน้ำมันสามทหารตรงศาลหลักเมือง และโซนโรงหนังเก่า ด้านในเป็นเก้าอี้ไม้ 

ส่วนเหรียญกษาปณ์แต่ละรุ่น เจ้าของชมเฌยเก็บสะสมไว้อย่างละเหรียญ และที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ การจำลองวิถีการทอผ้า เพราะเขาเกิดที่บ้านครัว ชุมชนทอผ้า

หนังเก่าๆ ที่หอภาพยนตร์

หากมาย่านพุทธมณฑลสาย 5 แหล่งท่องเที่ยวย้อนยุคอีกแห่ง แม้จะไม่ใหญ่โตนัก ก็น่าเที่ยวอยู่ นั่นก็คือ หอภาพยนตร์ ศูนย์กลางงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย

สถานที่แห่งนี้ ขอแนะว่า ควรเดินทางมาช่วงวันเสาร์-อาทิตย์จะดีกว่าวันธรรมดา จะได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย (อาคารสีเหลืองสด) ซึ่งเปิดให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีวิทยากรพาชมเฉพาะวันหยุด 

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย จำลองรูปแบบสถาปัตยกรรมมาจากโรงถ่ายภาพยนตร์ศรีกรุงในอดีต แต่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 4 เท่า ด้านในรวบรวมสิ่งของที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่หาชมได้ยาก และสิ่งของเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและตัดต่อ ตั้งแต่ยุคแรกที่มีการผลิตภาพยนตร์ และมีนิทรรศการหนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ในแต่ละยุคให้ชม

นอกจากเรื่องราวของหนังไทยยุคต่างๆ แล้ว ด้านในยังมีอุปกรณ์ประกอบฉาก ไม่ว่า สเลท แผ่นเสียง สูจิบ้ัตร กล้องถ่ายภาพยนตร์แบบฟิลม์ เครื่องฉายหนังแบบโบราณ แเละเครื่องทำซับไตเติ้้ล รวมถึงฉากในภาพยนตร์ อาทิ ฉากบาร์เหล้าในเรื่อง โรงแรมนรก ปี 2500 และมีรูปปั้นของรัตน์ เปสตันยี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรก ที่ได้รางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระดับนานาชาติ

ส่วนสีสันด้านนอกหอภาพยนตร์  ทำให้เห็นว่า ที่นี่คือ เมืองมายา  มีโรงหนังตังค์แดง โรงหนังยุคแรกๆ ที่แทรกตัวอยู่ในตึกย่านนิวยอร์ค ,กร็องด์ คาเฟ่ ฯลฯ และยังมีส่วนของโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ขนาด 121 ที่นั่ง จัดฉายภาพยนตร์ ทั้งแนวอนุรักษ์และภาพยนตร์จากทั่วโลก

ส่วนอีกมุมที่นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายภาพ คือ สถานีรถไฟศีนิมา และสถานีจำลองสมัยรัชกาลที่ 7  ,รถหนังขายยา ที่เคยเฟื่องฟูช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ,โรงถ่ายแบล็คมารีอา จำลองมาจากโรงถ่ายหนังแห่งแรกของโลกของโทมัส เอดิสัน

”””””””””””””

การเดินทาง

หอภาพยนตร์

เปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย โดยมีวิทยากรนำชมฟรี เฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ใช้เวลาชมรอบละหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ

ตั้งอยู่ที่ 94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5 พุทธมณฑล นครปฐม 73170

โทรศัพท์ 02 4 822 013 -14 024 821 087-88

บ้านพิพิธภัณฑ์

เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านชาวเมืองราวยุค 2500 เปิดให้ชมเฉพาเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. ผู้ใหญ่เสียค่าบัตรราคา 40 บาท เด็กโต บัตรราคา 10 บาท

ตั้งอยู่ที่ 170/17 หมู่ที่ 17 พุทธมณฑลสาย 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ ซอย 3 กรุงเทพมหานคร เบอร์โทร 089 200 2803

ชมเฌย

ตั้งอยู่ที่ซอยกำนันทินกร ถนนศาลาธรรมสพน์ ใกล้พุทธมณฑลสาย 4 เปิดโซนต่างๆ ให้ชมเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 10.00-19.00 น. ส่วนร้านกาแฟเปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ โดยไม่เปิดโซนต่างๆ ให้ชม (เข้าชมไม่เส่ียค่าใช้จ่าย) โทร 089 415 2038