เปิดใจ 'นักแคสติ้ง' หนังโฆษณา ในความเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

เปิดใจ 'นักแคสติ้ง' หนังโฆษณา ในความเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

เคยคิดมั้ยเวลาดูโฆษณา เห็นนักแสดงแล้วตลกหรือเชื่อเลยตามที่เขาแสดงเลยนั้น แต่รู้มั้ยว่ากว่าจะได้ "นักแสดง" ในหนังโฆษณาสักเรื่อง มีกระบวนการอย่างไร มากกว่านั้น เราจะได้รู้เรื่องราว "นักแคสติ้ง" ในยุคดิจิทัลว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรด้วย

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคุยกับ "แมรี่" พิมพ์พลอย พิทักษ์ชาติ แคสติ้ง ไดเร็กเตอร์ ของฟีโนมีนา บริษัทผลิตภาพยนตร์โฆษณาชื่อดัง เธอทำงานที่นี่มา 7 ปี แล้ว หลังจบการออกแบบจิวเวลรี่ จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

กระบวนการแคสติ้ง

เวลามีงานเข้ามา 1 งาน จะมีการประชุมทีมเกิดขึ้น คือการรับบรีฟจากผู้กำกับถึงสตอรี่บอร์ด แล้วนำมากระจายเล่าให้ทีมงานแต่ละฝ่ายฟัง โดยเล่าถึงภาพรวมก่อน ผู้กำกับก็จะมาแจกแจงงานอีกที ว่าอยากได้ อย่างไร แบบไหน ในส่วนของการแคสติ้ง หนังเรื่องนี้ต้องการตัวแสดงกี่คน ลุคเป็นแบบไหน วัยไหน บางเรื่องเขาก็จะบรีฟถึงเรื่องแอคติ้ง เพื่อที่จะเผื่อเกี่ยวกับการทำแคสฯไปเลย แต่ต้องขึ้นอยู่กับหนังด้วย ว่าหนังเป็นแบบไหน หนังบางเรื่องก็จะไม่ได้มีแอคติ้งมาก เน้นที่ลุคเป็นสำคัญ เขาก็จะไม่ได้บรีฟเรื่องแอคติ้งมาก แต่ส่วนมากทุกคนก็จะบรีฟรวมๆ กันหมดเลย หลัก ๆ แล้วผู้กำกับจะเป็นคนบรีฟงานเพราะว่าเขาเป็นคนกำกับ

หลังจากที่เราไปรับบรีฟ เราก็จะมีโมเดลลิ่งที่เราทำงานด้วยกันอยู่ โมเดลลิ่งก็จะช่วยเราหาบ้าง เพราะว่าแต่ละโมเดลลิ่งเขาจะมีแบบอยู่ในสต็อกของเขา เราก็ส่งบรีฟไปให้เขาว่าเราอยากได้ คาแรคเตอร์ อายุ หน้าตา ประมาณแบบไหน เขาก็จะส่งกับมาให้เราดูว่าเขามีใครบ้าง ประมาณนี้นะ แล้วเราก็มาคัดอีกที เพื่อที่จะเอาไปพรีเซนต์กับผู้กำกับ แต่ว่ามันก็จะมีงานที่ พึ่งโมเดลลิ่งไม่ได้ ด้วยความที่โมเดลิ่งในประเทศเรามีเยอะ แต่ความหลากหลายของคนที่มีอยู่ในโมเดลลิ่งแต่ละโมเดลลิ่งไม่ค่อยต่างกัน เช่น เขาก็จะมีสวย หล่อ วัยรุ่น วัยทำงาน หรือว่าคนแก่ ที่ดูเป็นลุคแบบว่า ถ้าสำหรับเราจะเรียกว่า โฆษณาๆ ดูแล้วแบบโฆษณามากๆ ลุคทั่วไปคือจะต้องดูดี ซึ่งโฆษณาในปัจจุบันนี้บางเรื่องเราไม่ได้ต้องการแบบนั้น เราต้องการสิ่งที่มันเรียวขึ้น จริงขึ้น เพื่อที่จะสื่อสารกับคนให้มากขึ้น ให้เข้าใจได้มากขึ้น ในกรณีพวกนี้เราก็จะพึ่งโมเดลลิ่งไม่ได้แล้ว

การหาตัวแสดง

ถ้าปัจจุบันนี้มันก็ง่ายขึ้นมาหน่อย สื่อโซเซียล เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ต่างๆนานาที่เราจะหาคอนแท็กคนนั้น คนนี้มาได้ง่าย แต่ทั้งหมดนี้จะหามาได้ยังไง เราต้องใช้คอนเน็กชั่น อาจจะหาจากคนใกล้ตัวก่อน ว่ามีใครที่รู้จักไหมในลุคประมาณหน้าตาแบบนี้ เป็นคนแบบนี้ ก็จะแนะนำต่อๆกันมา ในเคสที่มันยากมากจริงๆก็คงต้องไปลงพื้นที่ ไปหาคนจริงๆ ณ สถานที่นั้น เช่นเราอยากได้ชาวบ้านที่ พายเรือได้ ทอดแหได้เราก็จะต้องหาก่อนว่าที่ไหน จะมีคนพวกนี้อยู่ ทำการบ้านก่อน พอเรารู้ที่ เราก็ไปหา ไปคุยและติดต่อ หรือไปแคสเขาถึงที่

สมมติว่าถ้าเราจะหาพระเราต้องไปวัด ถ้าเราจะหาชาวบ้านที่ขายผักเราก็ต้องไปปากคลอง เราก็จะเริ่มจากสิ่งที่นึกขึ้นได้ง่ายๆก่อน แต่ถ้าจะเอาละเอียดว่าไปที่ไหนบ่อย ก็ตอบยาก เพราะหนังแต่ละเรื่องความต้องการไม่ซ้ำเลย เพราะฉะนั้นไม่ค่อยได้ไปที่ซ้ำๆ แต่ถ้าอยากได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็คงจะต้องไปข้าวสาร

3_5

เวลาเราทำงานเอาตัวเราเองเป็นบรรทัดฐาน เราจะส่งบรีฟให้กับทุกโมเดลลิ่งที่เรามี ซึ่งเกิน 10 โมเดลลิ่ง เพราะมีทั้งหมด เกือบ 100 โมเดลลิ่ง เช่น 3 โมเดลลิ่ง แบบซ้ำกันหมดเลยก็มี เพราะฉะนั้นหายาก ที่โมเดลลิ่งมีแบบที่เป็นของตัวเอง แบบที่ว่าเซ็นสัญญากับตัวเองโดยที่ไม่ไปรับงานให้กับโมเดลลิ่งอื่น เราจะส่งบรีฟให้กับทุกโมเดลลิ่งจริงๆ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าคนแบบนี้บ้างที อาจจะไปฟลุ๊คอยู่ในโมเดลลิ่งไหนสักที ก็ได้ พอเขาส่งกลับมาเราก็จะคัดแล้วเราก็จะมาเลือกว่าแบบโอเคไหม เพื่อเราจะโทรไปแชร์กับผู้กำกับอีกทีนึง ว่าสิ่งที่เรารับบรีฟจากผู้กำกับเหมือนเรียกว่าการเช็คกันว่าเรามองตรงกันไหม พอเห็นตรงกันแล้วผู้กำกับก็จะไปแชร์กับลูกค้า เอเจนซี่อีกที ถ้าเข้าใจตรงกันแล้วว่าต้องการแบบไหน ก็เรียกตัวแสดงมาแคสเพื่อดูแอคติ้ง มาดูตัวจริงว่าเล่นได้ไหม เป็นคนยังไง เป็นคนแบบที่เราคิดเอาไว้หรือเปล่า

เคสที่เลือกนักแสดงมาแล้วคลิกเลย

อย่างเรา ทำงานกับผู้กำกับมันเหมือนต้องใช้ประสบการณ์ ว่าเราทำงานกับผู้กำกับคนนี้มา รู้ว่าเขาชอบอะไร แบบไหน ชอบคนน่าตาแบบไหน พอมีประสบการณ์บวกกับการที่เรามีประสบการณ์ที่เราเจอแบบมาเยอะ แล้วเราก็จะรู้ว่า คนนี้เป็นแบบนี้ คนนี้นิสัยแบบนี้ คนนี้ใช่เลย เห็นสตอรี่บอร์ดแล้วมองว่าใช่คนนี้เลย ก็มีซึ่งเราจะผู้กำกับว่าคนนี้ใช่เลย ผู้กำกับก็ให้เรียกมาแคสเลย พอมาแคสเขาก็จะบอกว่าใช่เลย และจะมีบ้างเคสที่ผู้กำกับชอบแต่ลูกค้าไม่ชอบผู้กำกับอาจจะอยู่แล้วเราก็จะต้องหาเพิ่มเพราะว่าลูกค้าอาจจะยังไม่ชอบ ยังไม่ตรงตามที่เขาคิดไว้

การแคสติ้งหนังโฆษณาทำใหญ่เหมือนหนังค่ายใหญ่หรือเปล่า

ถ้าเอาเราเป็นบรรทัดฐานเราจะแคสติ้งเหมือนหนังเลย สตอรี่บอร์ดมาทั้งเรื่อง เราจะแคสทั้งเรื่อง สมมติว่าเรื่องเกิดขึ้นข้างนอก การแคสมันจะไม่ใช่แค่การตั้งกล้องอยู่ในสตูห้องสี่เหลี่ยม เราจะไปทำการแคสข้างนอกกลางแจ้งเพื่อให้ทุกอย่างมันดูสมจริงที่สุด เพื่อที่เราจะขายงานง่ายด้วย ผู้กำกับเห็นภาพ ผู้กำกับเอาไปให้ลูกค้าดู ลูกค้าก็จะได้เห็นภาพมากขึ้นว่า คนนี้เวลาที่ได้อยู่กลางแจ้งแล้วเป็นยังไง เช่นการขับรถ ก็จะไม่ใช่แค่ให้เขาทำท่าจับพวงมาลัย เราก็จะแคสบนรถเลย โดยที่ตั้งกล้องอยู่ข้างนอก และให้เขาอยู่ในรถเพื่อให้ทุกอย่างดูสมจริงที่สุด แอคติ้งเราก็จะให้เล่นตามสตอรี่บอร์ดทั้งเรื่องเลย สำหรับที่นี่นะคะ เพราะแคสติ้งแต่ละที่มีสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนกัน

2_7

การแคสติ้งตัวแสดงก็จะทำการแคสติ้งทีละคน แต่ว่ามันก็จะมีเคสที่ทำด้วยกันก็ได้เช่น การแสดงที่ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นแฟนกัน การตามนักแสดงมาแคส ในหนึ่งวันเราจะตามนักแสดงมาแคสติ้งหลายคนมาก สมมติว่ามีสองบทก็ขึ้นอยู่ว่าใครมาก่อนมาหลัง สมมติว่าผู้หญิงมาคนแรกเราก็จะแคสผู้หญิงก่อน ผู้ชายมาคนที่สอง ก็ทำการแคสคนต่อไป แต่ว่าเราก็จะมีผู้ช่วยแคสติ้งที่เขาจะมาค่อยเล่นรวมเฟรมเพื่อที่จะมาส่งบทให้ ในกรณีที่เราเริ่มทำแคส 10 โมง แล้วผู้หญิงกับผู้ชายที่เป็นแบบมาพร้อมกันพอดีเราก็อาจจะให้เขาเล่นคู่กันไปเลยก็ได้

ความเปลี่ยนแปลง?

ถ้าเป็นรุ่นเราในระยะเวลา 7 ปี ไม่ค่อยเปลี่ยนมาก แต่ถ้าย้อนไปเมื่อก่อน ลูกค้าก็จะยอมสู้ไม่อั้น แต่เดี๋ยวนี้เหมือนเซฟคอร์สตัวเองมากๆ ถ้าถามเราว่าค่าตัวหนังแสดงเปลี่ยนไปเยอะไหม ตอบง่ายๆคือ ไม่เปลี่ยนเลย แต่เข้าใจไหมค่ะ ว่าอัตราค่าเงินมันเปลี่ยนแล้วใน 7 ปี สมมติว่าคุณเคยให้ค่าตัวนักแสดง 10,000 บาท เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังเท่าเดิม อันนี้ก็เห็นความต่างแล้วว่าค่าน้ำมัน ค่าครองชีพทุกอย่างขึ้นหมด แต่ค่าตัวหนังแสดงเท่าเดิม

ค่าตัวนักแสดง

การแคสติ้งที่แพงที่สุดคือไม่มีเพดาน ให้นักแสดงเรียกมาได้เลย ส่วนมากจะเป็นโปรดักที่ออนแอร์หลายประเทศหรือว่าเป็นแบรนด์เหล้าที่ดังมาก แต่น้อยมากที่จะเจอแบบนี้ ในยุคนี้ค่าตัวของนักแสดงที่คิดแต่ละคน อันนี้ตอบยากบางคนที่เราเห็นเขาบ่อย เขาอาจจะเป็นนักแสดงมา 4-5 ปี บ้างทีค่าตัวเขาอาจจะไม่ได้แพงแต่ว่าเขาจะดูจากโปรดักส์หรือผลิตภัณฑ์สมมติว่าเป็นผู้หญิงผิวสวยหน้าตาสวย แล้วเขาจะต้องไปเล่นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสกินแคร์ ผิวหน้า ผิวตัว อันนี้ค่าตัวจะสูง เรื่องของมาตรฐานลูกค้าบางคนก็ไม่ติด สมมติปีนี้คุณเล่นดีแทคไปแล้ว ปีหน้าคุณไปแคสแบรนด์ดัง ปรากฏว่าไม่ติด ต้องไปเช็คว่าแบรนด์เขาติดหรือเปล่า

4_2

เรียนอะไรมา ก่อนทำแคสติ้ง

บอกก่อนว่าเราไม่ได้เรียนมาสายนี้ ที่มาทำอาชีพนี้ด้วยความที่เราเรียนออกแบบเครื่องประดับ แต่ที่มาทำอาชีพนี้ได้คือตอนเด็กๆ เคยแคสโฆษณามาก่อน แล้วหนึ่งในโปรดักชั่นที่เราไปแคสบ่อยก็คือฟีโนมีนา ตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 พอดีมีพี่ที่เป็นแคสติ้งที่เรารู้จัก วันหนึ่งเราเรียนจบ ไม่ได้อยากทำงานในสายที่อยากเรียนมา ก็เลยลองคุยกับพี่ที่เป็นแคสติ้งที่ฟีโนมีนา ถ้าเราอยากทำตรงนี้ ต้องทำยังไง พอดีตอนนั้นที่ฟีโนมีนาเขาเปิดรับ ตำแหน่งแคสติ้ง พี่ที่เป็นแคสติ้งเขาก็มาคุยว่าลองทำไหม โดยเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยก่อน โดยทำไป 3 งาน ฟีโนมีนาถึงได้รับ เขาก็เริ่มวัดศักยภาพเรา จากการการเป็นผู้ช่วย เริ่มจากเป็นผู้ช่วยก่อนมันดี ที่เราก็ค่อยๆ เรื่องรู้งานไป พอได้มาเป็นพนักงานก็ได้มาเป็นแคสติ้งเต็มตัว

การทำงานหลักๆ เป็นการทำงานเป็นฉายเดียว หมายถึงว่า สมมติว่างานหนึ่งชิ้นเราทำคนเดียวแต่เราก็จะมีผู้ช่วยของเรา แต่ว่าผู้ช่วยเราจ้างฟรีแลนซ์เป็นหลายวัน หรือจะเหมาจ๊อบก็ได้ขึ้นอยู่กับสกิล (ทักษะ) งานแต่ต้องมีผู้ช่วย หนึ่งการที่เราทำแคสเราต้องการคนที่จะมาเล่นร่วมเฟรมเราต้องการที่ที่ม่เล่นส่งบท ซึ่งบางที่เราจะต้องคอยดู แอคติ้งอยู่หลังกล้อง ก็จะมีผู้ช่วยเราต่อบทให้นักแสดง อีกตำแหน่งคือแคสติ้งเทคนิเชียน (technician) บางงานเราจะใช้เทคนิเชียน ถ่ายงานให้เราด้วย