วิจัยดีต้องขายได้ คีย์จากนวัตกรรุ่นใหญ่

วิจัยดีต้องขายได้ คีย์จากนวัตกรรุ่นใหญ่

ไอ วอล์ค นวัตกรรมช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก, ซียูสมาร์ทเลนส์ เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์ ตัวอย่างผลงานวิจัยจากแล็บก้าวสู่เชิงพาณิชย์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนวัตกรระดับอุดมศึกษา

ไอ วอล์ค (I Walk) นวัตกรรมช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก, ซียูสมาร์ทเลนส์ เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์ ตัวอย่างผลงานวิจัยจากแล็บก้าวสู่เชิงพาณิชย์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับกิจกรรมบ่มเพาะเพื่อพัฒนานวัตกรระดับอุดมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังนวัตกรรม

ศ.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีไมโครเวฟในงานวิศวกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อลงมือทำวิจัย 100 ชิ้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ 20 ชิ้น และจาก 20 ชิ้นสามารถนำไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ไม่เกิน 3 ชิ้น เนื่องจากมีกลไกลอีกมากมายกว่าที่จะนำไปจำหน่ายได้จริง

ดังนั้น คนที่ทำงานวิจัยต้องมีความลุ่มลึกในศาสตร์ที่ทำการศึกษามาเป็นเวลานาน จึงจะสามารถนำไปต่อยอดออกเป็นผลงานได้ไม่มีที่สิ้นสุด ขณะเดียวกันการทำนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลากหลายสาขาวิชาเข้ามาในรูปแบบของสหวิชา เพื่อให้สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์

ยกตัวอย่างนวัตกรรมช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก หรือ ไอ วอล์ค (I Walk) ที่ทำมาได้ 6 ปีจนสามารถนำไปใช้ได้จริงตามโรงพยาบาลนั้น เริ่มต้นมาจากการระดมสมองเพื่อค้นหาปัญหาความต้องการพบว่า คนไทยเป็น รคเส้นเลือดในสมองตีบ 5 แสนคนต่อปี แต่มีนักกายภาพบำบัดแค่ 3,000 คนไม่นับรวมอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่มีแค่ 3 เครื่อง ซึ่งนำเข้าในราคาเครื่องละ 30-40 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของการพัฒนาไอวอล์คในราคาที่สังคมไทยรับได้ หรือเครื่องละ 3 ล้านบาท

ทั้งใช้หลักการออกแบบที่เรียบง่าย ชิ้นส่วน 1 ชิ้นทำงานหลายหน้าที่เพื่อประหยัดต้นทุน แต่ยังคงมีสมรรถนะในการทํางานเท่ากับเครื่องนำเข้าและมีความปลอดภัย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ได้รับรางวัลมาแล้วหลายเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แตกไลน์ต่อยอดธุรกิจ

ศ.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาบริษัท เลนส์ แอนด์ สมาร์ทคลาสรูม จำกัด กล่าวว่า “ซียูสมาร์ทเลนส์” ที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนกลายเป็นกล้องจุลทรรศน์ เป็นนวัตกรรมจากห้องทดลองสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่นำความรู้มาพัฒนาเครื่องมือวิจัยเองโดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นแพลตฟอร์มหลัก

เนื่องด้วยศักยภาพที่สูงของสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถบันทึกภาพและวิดีโอไมโครสโครปที่ผู้ใช้ต้องการได้ โดยมีคุณภาพเทียบเท่ากับกล้องจุลทรรศน์แต่ใช้งานง่าย และมีราคา ถูก น้ำหนักเบา สามารถพกพาไปที่ใดก็ได้ เริ่มต้นจากการเป็นเลนส์สำหรับการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา ก่อนที่ขยายผลไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะด้าน ยกตัวอย่าง การนำไปเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ หรือแม้กระทั่งดูพระเครื่อง หรือการตววจนับลูกกุ้ง เป็นต้น

ล่าสุดได้พัฒนาเป็นกล้องส่องผิวหนังใช้วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งต่อยอดมาจากกล้องโพลาไรเซชันที่ส่องอัญมณี หรือการทำเอนโดไมโครสโคปขนาดเล็ก สามารถส่องเข้าไปในปากเพื่อดูรอยฟันผุ รวมถึงงานวิจัยกล้องใต้น้ำไว้ดูไข่ประการังใต้น้ำ ซึ่งจะเกี่ยวกับไมโครสโคปและซอฟต์แวร์

ทั้งนี้ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทผลการตอบรับดี มียอดจำหน่ายประมาณ 1 หมื่นชิ้น รายได้ 8 ล้านบาท จำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านศึกษาภัณฑ์ ร้านหนังในซอยสวยพลู และร้านหนังสือในจังหวัดสงขลา

นักวิจัยต้องไม่หยุดนิ่ง

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า นวัตกรรมที่ประสบความเร็จจริงต้องขายได้ ในยุคนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของนักวิจัยในการที่ผลักดันนวัตกรรมที่พัฒนาและคิดค้นขึ้นมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพราะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน

“นวัตกรรมเป็นสิ่งใหม่ จึงสามารถตั้งราคาได้ตามความต้องการ และผู้บริโภคยอมรับได้ ยกตัวอย่าง อีลอน มัสก์ นักธุรกิจผู้นำด้านเทคโนโลยี ที่สามารถขายสินค้าล่วงหน้า 4-5 โครงการได้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ผลิต เจ้าของบริษัทเทสล่า บริษัทที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และการตั้งบริษัทสเปซ เอ็กซ์ผลิตจรวดเดินทางไปยังอวกาศ หรือส่งมนุษย์ไปลงบนดาวอังคาร หรือแม้แต่การพัฒนาลูกประคบให้มีสีสันสดใส ขนาดเล็กลง ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยอิงความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ สามารถขยับราคาสูงขึ้นได้ รวมทั้งสามารถขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างประเทศได้ด้วย"

แต่สิ่งสำคัญคือ นักวิจัยจะต้องกัดไม่ปล่อยจนกว่าจะไปถึงเป้าหมายพร้อมกันนั้นต้องไม่หยุดนิ่งที่จะทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันสูง ทันทีที่นวัตกรรมออกสู่ตลาด คู่แข่งก็พร้อมที่จะลอกเลียนแบบทันที จึงจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง