'อีไอซี' ประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง 4%

'อีไอซี' ประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง 4%

"อีไอซี" ประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง 4% ตามเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 โตต่อเนื่องที่ 4.0%YOY ตามกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น พื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ โดยอีไอซีประเมินมูลค่าการส่งออกปี 2561 ขยายตัวที่ 5.0%YOY และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นที่ 7.9%YOY

ทั้งนี้ การเติบโตที่ต่อเนื่องในภาคการส่งออกได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนในปี 2561 ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะความชัดเจนที่มีเพิ่มขึ้นของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) หลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านการอนุมัติให้เป็นกฎหมาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศ อีกทั้งประเด็นความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวก็ลดลงหลังมีการผ่อนคลายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทั้งจากการเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวรวมถึงการปรับลดบทลงโทษที่เกี่ยวข้อง

การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มกระจุกตัว การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจาก
ปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญสะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทน นำโดยยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตได้ในระดับสูงในช่วงต้นปี 2561 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีข้อจำกัด ทั้งจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังไม่ชัดเจน ดูได้จากอัตราการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ขณะที่จำนวนการจ้างงานแบบล่วงเวลาลดลง ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานมากนัก นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรในบางหมวดที่ลดต่ำลง ส่งผลให้การบริโภคในกลุ่มสินค้าไม่คงทนขยายตัวในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐในปีนี้

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 น่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมไม่มากนัก แต่บางสาขาธุรกิจควรเพิ่มความระมัดระวัง ประการแรก มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบางกลุ่มสินค้าของไทย ได้แก่ แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็กและอะลูมิเนียม ตลอดจนสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนน้อยของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อภาพรวมการส่งออกจะเพิ่มสูงในกรณีที่มีมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าต่างๆ จนนำไปสู่สงครามการค้าในวงกว้าง ประการที่สอง การแข็งค่าและความผันผวนของค่าเงินบาทที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากภาคเกษตร และประการที่สาม ความผันผวนทางการเงินของโลกอันเป็นผลมาจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้าสู่สมดุล (monetary policy normalization) ของเศรษฐกิจสำคัญนำโดยสหรัฐฯ ที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินของโลกลดน้อยลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินทรัพย์และกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศได้ อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าเสถียรภาพของฐานะการเงินด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง และสภาพคล่องที่เพียงพอในระบบการเงินของไทย จะช่วยเป็นกันชนรองรับความผันผวนของภาวะการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้