“วงใน” แตะขอบฟ้า พลิกเกมเทคฯไทย

“วงใน” แตะขอบฟ้า พลิกเกมเทคฯไทย

“วงใน”สตาร์ทอัพสายพันธุ์ไทย ฝ่าด่านล้มเหลวขาดทุนกว่า 7 ปี จนพลิกธุรกิจมีกำไร..!! ต่อยอดรีวิวร้านอาหาร สู่ “ธุรกิจไลฟ์สไตล์” “ยอด ชินสุภัคกุล”ฝันใหญ่ เปลี่ยนไทยพ้น“เมืองขึ้น”เทคโนโลยี

จากเด็กหนุ่มผู้มีฝันและความหลงใหล อยากเป็นเจ้าของกิจการ หลังจาก "ยอด ชินสุภัคกุล" จบปริญญาโทเอ็มบีเอ แคลิฟอร์เนีย เมืองที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สตาร์ทอัพตัวจี้ดระดับโลก บรรยากาศสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายให้เด็กหนุ่มนักเรียนนอก กำเงิน 2 ล้านบาทเป็นทุนประเดิม ร่วมกับเพื่อนวิศวจุฬาฯ อีก 2 คน เข้ามาสู่ถนนสายสตาร์ทอัพ ในไทย 

“ตอนเรียนเอ็มบีเอปีแรกได้เกรดเอ ทุกวิชา หลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกอยากหาความท้าทายเรื่องเรียน พอได้ไปทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับโซเชียลมิเดียในสหรัฐ กลับรู้สึกมีความท้าทายใหม่ มี Passion (แรงปรารถนา) อยากเป็นเจ้าของกิจการ" 

กลายเป็นที่มาของเว็บไซด์ และแอพพลิเคชั่น “วงใน” (Wongnai) รีวิวร้านอาหาร ที่เกิดขึ้นในปี 2553 โดยถอดแบบมาจากโมเดล “Yelp”  เว็บไซด์รีวิวร้านอาหารในสหรัฐ 

ด้วยไฟฝันและความเชื่อว่า ธุรกิจต้องแจ้งเกิดไทย เช่นเดียวกันกับสหรัฐ เขาจึงยอมทนกับภาวะขาดทุนนานถึง 7 ปี เป็นนายทุนที่รับเขียนโปรแกรม (โปรแกรมเมอร์) เพื่อหาเงินประคองธุรกิจ จ่ายเงินเดือนพนักงาน

นี่คือชีวิตจริงของ“ยอด”ในเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ธุรกิจล้มลุกคลุกคลาน ก่อนจะประสบความสำเร็จทุกวันนี้ ที่เว็บไซด์มียอดลงทะเบียนแตะหลักล้าน มีคนรีวิวกว่า 3 ล้านคน และมีผู้ใช้บริการกว่า 8 ล้านคนต่อเดือน

“คนทำสตาร์ทอัพต้องมีความทะเยอทะยานสูงมาก อยู่ดีไม่ว่าดี ต้องมาเจอกับความล้มเหลว โดนด่า เครียด กลางสนามแห่งนี้จึงมีน้อยคนที่จะไปถึงสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 33,000 ล้านบาท และไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)" 

เจ้าตัวยังการันตีว่า เว็บไซต์และแอพรีวิวร้านอาหารของวงใน เป็นเว็บไซด์รีวิวอาหารอันดับ 1 ในไทย ปัจจบันยังขยายธุรกิจไปสู่ แพลตฟอร์ม “ไลฟ์สไตล์” ตอบโจทย์ทุกบริการที่หลากหลาย เพื่อดึงลูกค้าดิจิทัลมาลงทะเบียนใช้บริการให้มากที่สุด กุมเกมธุรกิจให้อยู่หมัด 

“ตอนนี้วงในวางตัวเองเป็นไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม ไม่เพียงเว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร แต่ยังขยายฐานไปสู่ความสวยงาม (Beauty) ทำอาหาร(Cooking) และกำลังจะเปิดตัวธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่มีความสุขกับการกิน ดื่ม ช็อป เที่ยว แชะ และแชร์”  

 เขายังบอกกว่า เมื่อขยายเซ็คเมนท์ไปสู่กลุ่มธรกิจอื่น จะทำให้ฐานคนใช้บริการกว้างขึ้น ไม่เพียงวัยรุ่นอายุเฉลี่ย 25-35 ปีอีกต่อไป อาทิ ธุรกิจทำอาหาร ส่วนใหญ่คนที่สนใจเรื่องนี้จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป “บอสใหญ่” วงใน ยังระบุว่า แม้ปัจจุบันรายได้หลักของวงใน  จะยังคงมาจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร 50-60% แต่ล่าสุดเริ่มมีรายได้จากเซ็กเมนต์อื่นเสริมเข้ามา ได้แก่ ธุรกิจ Beauty สัดส่วน 15-20 % ธุรกิจทำอาหารสัดส่วน 10%  เป็นต้น

ขณะที่ความเคลื่อนไหวสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะแตกไลน์หลากหลายนธุรกิจแล้ว ยังมาพร้อมกับการผนึกพันธมิตรรายใหญ่อย่าง “อินทัช” (Intouch Holding) ที่เข้ามาถือหุ้นในวงในสัดส่วน 10% ในปี 2559 ขณะที่ในปี 2560 วงในยังเชื่อมต่อฐานธุรกิจไปยังช่องทาง “ออฟไลน์” เป็นไปเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจออนไลน์ ด้วยการเปิดตัวธุรกิจงานแสดงสินค้าอาหาร หรือ Food Event โดยเฉพาะการเชื่อมออนไลน์ไปหาคนออฟไลน์ในต่างจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงคนทั้งประเทศ ที่ผ่านมายังผนึกกับ “ไลน์” (Line) โดยการเชื่อมต่อฐานผู้ใช้ไลน์กว่า 50 ล้านคน และฐานรถจักรยานยนต์จาก ลาลามูฟ (LalaMove) เบอร์ต้นๆในธุรกิจเดลิเวอร์รี่ (บริการขนส่งสินค้า) เพื่อพากันรุกธุรกิจ Food Delivery (บริการส่งอาหาร)

“จุดยืนเราต้องการเป็นตัวเชื่อมต่อคนเข้ากับสิ่งดีๆ คิดอย่างนี้ จะทำได้หลายอย่าง ไม่จำกัดเฉพาะการรีวิวร้านอาหาร"

ยอดยังบอกด้วยว่า วงในมีจุดแข็งที่ผู้ใช้มาแชร์ประสบการณ์อาหาร (User Generated Content) เนื้อหาสาระ ที่ปรากฏบนแอพและเว็บไซต์ที่แชร์กันออกไปมาจากผู้ใช้จริง และมีการเชื่อมต่อกับแผนที่ตั้งร้านอาหาร (Location-Based)  ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเขาย้ำว่า ปัจจุบันวงในเป็นธุรกิจรีวิวร้านอาหารอันดับ1ในไทย แต่หากเทียบกับแอพและเว็บไซด์สายพันธุ์ไทยในหลากธุรกิจ ก็จะติดอันดับท็อป 5 เป็นรองกลุ่มธนาคาร  และหากรวมแอพต่างชาติตั้งแต่ เฟซบุ๊ค (Facebook), ไลน์ (Line) , อินสตาแกรม (Instagram), ยูทู้ป (Youtube) ,ทวิตเตอร์ (Twitter) และกูเกิ้ล (Google) วงในติด 1 ใน 10 

ขณะที่เป้าหมายธุรกิจวงใน ยังต้องการเข้าถึงคนทุกซอกทุกมุม ปักธงยึดหัวหาดต่างจังหวัด โดยปัจจุบันมี 6 ศูนย์กระจายในภูมิภาค ประกอบด้วย การซื้อกิจการเว็บไซต์ “น้าอ้วนชวนหิว” ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงตั้งศูนย์วงใน ที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต สงขลา นครราชสีมา และขอนแก่น 

นี่ไม่ใช่แค่ทำให้ลึก แต่เป็นป้อมปราการแข็งแกร่งที่เว็บไซต์ หรือแอพต่างชาติเข้ามาตีตลาดได้ยาก! เจ้าตัวเผย 

“เว็บไซต์และแอพต่างชาติก็มากันหมด สิ่งที่เว็บไซด์หรือแอพท้องถิ่นจะสู้ได้คือ ต้องทำให้ลึกกว่า กว้างกว่า ใครจะรู้เรื่องอาหารได้ดีกว่าคนในท้องถิ่น แม้เฟซบุ๊ค อินสตาแกรมมีร้านอาหาร แต่เรามีข้อมูลและรีวิวที่เยอะกว่า”

โดยขอปักหลักรักษาฐานที่มั่นในประเทศก่อน ไม่ฝันไกลเกินตัว !

“เราไม่คิดไปต่างประเทศ เพราะต้องการเซิร์ฟคนไทย วิธีป้องกันตัวที่ดีที่สุด คือ การเพิ่มฐานภายในประเทศตลอดเวลา” ยอดเล่าถึงแผนของคนตัวเล็ก ซึ่งมีบทเรียนจากเว็บไซต์คล้ายกันที่อยากจะไปโตต่างแดน สุดท้ายก็ต้องเจ็บตัวกลับมา

“วงในรู้ตัวว่าเป็นเว็บไซด์ระดับประเทศ (National Class) ยังไม่กล้าเป็นระดับสากล (World  Class) อันนี้พูดตรงๆ ไปก็ตายเปล่า สู้หาความท้าทายระดับประเทศไปก่อน เมื่อถึงจุดหนึ่งค่อยไประดับโลก” เขาเล่าถึงวิถีโต

-------------

2 เกมชิงชัยตลาด 

บาลานซ์ฝัน-ยึดผืนดินเก่า

แผนการขับเคลื่อนธุรกิจ “วงใน” ก้าวสู่ปีที่ 9 (ปี 2561) หลังจากปี 2560 ธุรรกิจโตพ้นน้ำ โดยเป็นปีแรกที่เริ่มมีกำไร เป้าหมายระยะสั้นจากนี้ ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด คือ การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ระดมทุน ในปี 2562 

กับเกมกลยุทธ์ “เก็บแต้ม” เพื่อต่อยอดฐานผู้ใช้บริการด้านไลฟ์สไตล์ ขยายฐานคนทั้งประเทศไทยเข้ามาใช้บริการทุกวัน แย่งชิงเวลาคนไทยใช้เวลาอยู่กับอินเตอร์เน็ทเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง

“เราเริ่มจากฟู้ด ขยายสู่บิวตี้ สูตรทำอาหาร เดลิเวอร์รี่ และท่องเที่ยว รวมถึงไอที ค่อยเสริมทีละนิดละหน่อย”

บนเป้าหมายขยับขึ้นไปติดอันดับท็อป 3 แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ของไทยที่มีคนเข้าชมมากที่สุดในประเทศ !

ความฝันอันสูงสุดสำหรับนักล่าฝัน คนพันธุ์สตาร์ทอัพ ที่มีนิสัยชอบเอาชนะตัวเอง เอาชนะคำสบประมาท และเอาชนะความไม่แฟร์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก เขารู้สึกว่าทำไมคนไทยต้องพึ่งพาแอพและเว็บไซต์ต่างชาติ เมื่อพัฒนาตลาด ธุรกิจ สื่อในประเทศ แต่ต้องพึ่งแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊ค ยูทู้บ หรือไลน์

“ท็อปไฟว์ธุรกิจด้านเทคโนโลยีไทย ในปัจจุบันไม่ได้มาจากบริษัทไทย ประเทศเรานำเข้าเทคโนโลยีมาเกือบจะ 100% ไม่ว่าจะเป็น กูเกิ้ล เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ลาซาด้า อโกดา ถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องลงโฆษณาให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในสัดส่วนที่เยอะกว่าที่เราควรได้ เงินที่หายไปจากหนังสือพิมพ์ สื่อในไทยไปลงให้ต่างชาติ ถามผม ผมรู้สึกถึงความไม่แฟร์”

นั่นคือ  ความเจ็บปวดจากที่เห็นประเทศเป็น "เมืองขึ้น" พึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยที่บริษัทไทยไม่สามารถผลิตและสร้างสรรค์แพลตฟอร์มได้เอง เขาจึงตั้งเป้าหมายสูงสุดจะพาวงใน เป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของไทย เทียบชั้นจีนที่มี Alibaba หรือญี่ปุ่นที่มี Recruit group

“เมืองไทยไม่มีบริษัทด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสักราย เราจึงอยากเป็นบริษัทไทยเจ้าแรกของประเทศที่สร้างแรงกระเพื่อม เปลี่ยนประเทศ” เขาเล่าแพสชั่นลึกๆ ที่ไกลกว่าคำว่ามั่งคั่ง เมื่อได้เป็นเจ้าของธุรกิจร้อยล้านแล้ว สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการทำธุรกิจเพื่อประเทศ

“มันเป็นเรื่องชาตินิยมเว็บไซด์และแอพสัญชาติไทยต่างๆ เปรียบเหมือนปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเมืองขึ้น” เขาย้ำ

เขายังเคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพนักงานวงในกว่า 220 คน ชักชวนทีมไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ด้วยกัน พร้อมกันกับทิ้งท้ายว่า

“เราออกไปแตะขอบฟ้าด้วยกันครับ” คำพูดปลุกพลังคนในองค์กรฮึกเหิมเดินไปกับเขา

เขามองว่าเป็นยุคการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยี บริษัทท็อป 10 ในโลกปัจจุบัน มีถึง 7 บริษัทที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต 5 อันดับแรกมาจากอเมริกา และอีก2 บริษัทมาจากจีน คือ Tencent และ Alibaba

หันมามองที่ไทยบริษัทท็อป 20 กลับไม่มีธุรกิจทางเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต การเปลี่ยนผ่านยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัลจึงเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ที่ธุรกิจเทคโนโลยีไทยจะก้าวขึ้นมาเติบโต

“วันแรกคิดเปิดธุรกิจแบบเจียมตัว แค่อยากรวย มีร้อยล้านก็แฮปปี้แล้ว พอทำไปเรื่อยๆ เปลี่ยนความคิดบริษัทมีมูลค่าร้อยล้าน ยังแบกความหวังของอีกหลายคนและเพื่อประเทศ”เขาเล่าฝันจากธุรกิจที่วันนี้มาถึงแค่ครึ่งทางเท่านั้น

ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง สตาร์ทอัพเฟื่องฟู มีธุรกิจใหม่มาทำลายล้าง (Disrupt)ตลาดเดิมตลอดเวลา เขาสรุปสั้นๆ จะเดินเกม 2 โมเดลพลิกตลาด คือ ต่อยอดฐานเดิม กับ รุกธุรกิจใหม่

“เราต้องบาลานซ์ระหว่างความฝันกับธุรกิจเดิมที่ต้องติดดินอย่าไปทำอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในช่วงแรก แต่หลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เราจะเสี่ยงได้มากขึ้น หาโปรดักท์พลิกแผ่นดิน (Ground Breaking) สินค้าที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด คิดออกมาโดยไม่ต้องสนใจตลาดว่าคนต้องการใช้หรือไม่” 

บันไดที่จะเป็นแรงส่งให้วงในเดินแผนขยายฐานไปเรื่อยๆ นั่นคือการเติบโตแบบจากธุรกิจหลัก (Core Business) จนขึ้นไปครองความเป็นจุดเชื่อมไลฟ์สไตล์คนไทย และอีกแผนคือระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2562 หลังจากได้เงินก้อนโต ก็พร้อมเสี่ยงมากขึ้น โดยนำเงินไปซื้อกิจการหรือควบรวม(Acquirement)ธุรกิจสตาร์ทอัพดาวรุ่งรวมทีมคนมีไฟฝันมาไว้ในกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้พวกเขามาปล่อยพลังสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจแปลกใหม่มาแทนที่ตลาดเดิมได้หลากหลายบริการ

“บริษัทแอปเปิ้ลถ้าไม่ออกไอโฟนก็ถือเป็นตลาดเล็ก แต่เล็กก็ไม่ได้เล็กตลอดไป เพราะโลกมันมีไดนามิค มีเทคโนโลยีใหม่ อาทิ เอไอ,บิ๊กดาต้า สร้างโอกาสให้ธุรกิจและคนมีไอเดียตลอด”

วงในก็เป็นหนึ่งของธุรกิจเทคโนโลยีพันธุ์ไทยโตเร็วจากยุคดิจิทัล เติบโตเฉลี่ยปีละ 70-100%

ผู้ก่อตั้งวงใน ย้อนรอยเส้นทางรายได้เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา จากทุนตั้งต้น 2 ล้านบาทในปี 2553 จนกระทั่ง 4 ปีที่ผ่านมา ยอดการเติบโตเกือบดับเบิ้ลทุกปี ไล่เรียงตั้งแต่ปี 2557 รายได้อยู่ที่ 20 ล้านบาท ปี 2558 มีมูลค่า 50 ล้านบาท ปี 2559 มีมูลค่า 90 ล้านบาท และปี 2560 ปีล่าสุดมีรายได้ 160 ล้านบาท และปี 2561 ตั้งเป้าก้าวโดดไปแตะที่ 250 ล้านบาท

“กราฟธุรกิจ ช่วงปีที่ 1-4 ปีเป็นช่วงลงทุน เริ่มไต่จุดตัดโผล่พ้นน้ำในปีที่ 7 (2559) และมีกำไรในปีที่8 (2560)” เขาเล่าธรรมชาติของสตาร์ทอัพมักต้องยอมขาดทุนเพื่อดึงให้คนมาใช้ในช่วงแรกๆ”

สิ่งที่เขาเชื่อมั่นองค์กรและทีมวงในยึดถือคุณค่าร่วมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม ที่เป็นเบ้าหลอมของทีมกว่า 220 คน ที่อายุเฉลี่ยในองค์กร 26-27 ปี กองกำลังคนรุ่นใหม่พาวงในก้าวไปสร้างสิ่งใหม่ๆ

“เราเชื่อมั่นในจิตวิญญาณของความมีนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ที่ฝังอยู่ในคนของวงใน แต่จะเป็นโปรดักท์หรือบริการอะไรก็ต้องดูกันต่อไป อย่ามองรูปแบบการโตในเชิงสถิติเติบโตคงที่ แต่ควรมองโอกาสมากมายที่เป็นแรงส่งการขับเคลื่อนการโตอย่างก้าวกระโดด(Dynamic)”

-----------------------

สูตรเคลื่อน“เทคฯคัมพานี”

สิ่งที่คนวงในยึดมั่นคุณค่าร่วม (Core Value) ซึ่งส่งผลทำให้ทีมงานมีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของนวัตกรรมสูง เพราะเป็นผู้มีแรงปรารนา ทำงานเต็มที่  รวดเร็ว (Speed) และยืดหยุ่นสูง (Flexible)

คนเริ่มต้นจากสตาร์ทอัพจนไต่ระดับยูนิคอร์น ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า30,000 ล้านบาท) ต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่เป็นแรงส่งให้ก้าวไปสู่พอร์ตอันยิ่งใหญ่ ประธานฯวงใน สรุปว่า แรงผลักดันสำคัญมาจากความโลภ พยายาม และทะเยอทะยาน ชื่อเสียงต้องมาพร้อมทรัพย์ ทำให้มีพลังก้าวไปสู่จุดนั้น ซึ่งเมืองไทยจะเห็นน้อยมาก เพราะสภาพแวดล้อมหลายด้านไม่เอื้อให้มีการคิดนวัตกรรม และส่งเสริมให้โมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโต ที่ต้องมาจาก 3 ปัจจัย คือ

1.ขนาดตลาด เมืองไทยตลาดเล็ก หากเทียบกับตลาดที่มีการพัฒนาโมเดลใหม่ อย่างจีน และอินเดีย

2.วัฒนธรรม  ไทยถูกรวมในกลุ่มประเทศตะวันออกที่ชอบอยู่ในคอมฟอร์ทโซน เสี่ยงน้อย และไม่ค่อยปล่อยลูกหลานให้ไปเสี่ยงทำธุรกิจ แต่ให้สืบทอดธุรกิจจากครอบครัว

3.ขาดวิศวกรรม ที่มีคุณภาพระดับโลกยังน้อย 

เป้าหมายของเขาในอนาคตหากพัฒนาธุรกิจให้มีพอร์ตมูลค่าระดับพันล้านจะสามารถจ้างวิศวกรรมเก่งๆ ระดับโลกได้หลายคนที่จะมานำร่องช่วยยกระดับธุรกิจเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0