รุมซัดปฏิรูปตร.ไร้ผลงานจวกส่อแววเหลวตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการ

รุมซัดปฏิรูปตร.ไร้ผลงานจวกส่อแววเหลวตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการ

"วงเสวนาตรวจการบ้านปฏิรูปตร." รุมซัด 1 ปีไม่ตอบโจทย์ กลับเพิ่มอำนาจให้ตำรวจ แนะ 8 ข้อ ประชาชนจึงจะได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.61 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch จัดเสวนาหัวข้อ “ตรวจการบ้าน 1 ปี ปฏิรูปตำรวจ แก้ปัญหาประชาชนได้จริงหรือไม่” โดยรศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาเผยว่า การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้เรียกได้ว่าย้อนไปไกลมากไปสู่ยุคบุพเพสันนิวาสก็ว่าได้ เพราะขณะนี้ผู้มีอำนาจยังไม่ตระหนักว่าตำรวจมีปัญหา จึงยังไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้าง เป็นการรวมศูนย์อำนาจเหมือนเดิม อีกทั้งยังมีระบบสัญลักษณ์เชิงอำนาจนิยมแบบทหาร คือ ระบบชั้นยศ ดังนั้นการปฏิรูปควรลดระบบสัญลักษณ์ และปรับปรุงในเชิงโครงสร้างให้ได้ ขณะเดียวกันที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่กล้าปฏิรูปตำรวจ เพราะกลัวว่าจะกลับมาเล่นงานตัวเอง แต่นายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมีมาตรา 44 ก็ยังไม่กล้าและขี้ขลาดกลัวเกินที่จะปฏิรูปตำรวจ

รัฐบาลชุดนี้ต้องปฏิรูปตำรวจเพราะคนร่างกฎหมายได้ร่างเอาไว้ต้องมีการปฏิรูปตำรวจ และระบบการศึกษา จึงต้องทำตามรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปครั้งนี้เห็นร่องรอยตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการครึ่งหนึ่ง 15 คน ก็ส่อแววเหลวแล้ว และก็เป็นอย่าที่คาดเอาไว้ 9 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้อะไรเลย งานด้านบริหารบุคคล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ศูนย์รวมอำนาจยังอยู่ที่ สตช.อยู่ที่ตัว ผบ.ตร. ไม่มีการกระจายอำนาจถึงแม้จะมีการเขียนไว้ให้กระจายอำนาจไปยังกองบัญชาการ แต่ไม่มีการกระจายอำนาจไปยังกองบังคับการจังหวัด ตามจริงแล้วการปฏิรูปโครงสร้าง สตช.จะต้องลดลง ตำรวจมีประมาณ 220,000 คน อยู่ที่ สตช.หรือส่วนกลางประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ก็พอ นอกจากนั้นให้ลงไปที่จังหวัดแต่ละพื้นที่

นายพิชาย กล่าวอีกว่า การแต่งตั้งโยกย้ายต้องกระจายอำนาจไปยังจังหวัด ย้ายภายในจังหวัด ห้ามโยกย้ายออกนอกจังหวัด พนักงานสอบสวนก็เติบโตตามสายงาน จะได้ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ส่วนกองบัญชาการให้เปลี่ยนเป็นจเรตำรวจกำกับดูแลตำรวจในจังหวัด ให้เขามีงานทำมากขึ้น เพราะปัจจุบันกองบัญชาการภาคทำแต่งานธุรการ ส่วนการโอนถ่ายภาระกิจต้องทำให้สำรเร็จตำรวจจะได้ทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่คืองานป้องกันและปราบปราม และการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และโดยเฉพาะงานสอบสวน ไม่มีการปฏิรูปเลยหัวหน้าสถานียังสามารถเข้ามาแทรกแซงสั่งซ้ายสั่งขวาได้

ด้าน ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ เผยว่า การทำงานมีการขัดแย้งกับคณะกรรมการฝ่ายตำรวจ กระบวนการยุติธรรมไทยมีจุดอ่อนผิดตั้งแต่เชิงปรัชญา วิธีคิด การใช้ โดยเฉพาะงานสอบสวนริดรอนสิทธิมนุษยชน คดีหนึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายไปตรวจสอบอย่างอิสระ ทั้งอัยการ กองพิสูจน์หลักฐาน ฝ่ายปกครอง หรือแม้กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ แต่บ้านเรามีเพียงตำรวจที่เห็นพยานหลักฐาน เมื่อมีพยานเห็นเหตุการณ์หลายคนหรือหลายส่วน ตำรวจก็ไม่สามรรถบิดเบือนพยานหลักฐานได้ จากผิดมากเป็นผิดน้อย หรือทำให้อัยการยกฟ้องเลย การทำสำนวนเป็นไปแบบที่ตำรวจยากให้เป็น

ส่วน พ.ต.อ.วิรุตม์ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ กล่าวว่า หลังคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจสรุปผลการทำงานไม่มีตำรวจออกมาโวยวายสักคน เหมือนตอนที่คณะกรรมการเสนอให้อัยการเข้าร่วมสอบสวนทำคดี ปัญหาของตำรวจอยู่ที่ขาดการตรวจสอบทุกมิติ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้แยกงานสอบสวนออกจาก สตช.สรุปอ้างว่างานสอบสวนและสืบสวนเป็นเนื้อเดียวกันไม่สามารถแยกจากกันได้ งานสอบสวนธรรมชาติแตกต่างจากงานตำรวจเพราะงานสอบสวนเป็นงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แต่ตำรวจเอางานรายงานตัวเป็นเรื่องใหญ่กว่า เมื่อนายมาโรงพักต้องเข้ารายงานตัว แต่งานสอบสวนเป็นเรื่องเล็ก 

ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หลังจากอ่านข้อสรุปจำนวน 18 หน้าของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแล้ว ทุกจุดมีช่องโหว่ตั้งแต่ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการมีตำรวจถึง 15 คน ต่างประเทศการปฏิรูปแต่ละอย่างคนที่มาเป็นคณะกรรมการต้องมีการสัมภาษณ์ถึงทัศนคติ ไม่ใช่เลือกใครมาเป็นก็ได้ ดดจทย์การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้เพื่อการปฏิรูปประเทศ แต่การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการปฏิรูปเพื่อตำรวจ คนที่ได้ก็คือตำรวจ ประชาชนได้น้อยมาก กลัดกระดุมผิดตั้งแต่เท็ดแรกก็ผิดไปหมด การปฏิรูปต้องลดอำนาจตำรวจบางคนไม่ใด้เหมารวมทุกคน และเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงจะถูก ให้มีสถาบันตรวจสอบภาคประชาชน ที่ผ่านมามี กต.ตร. แล้วเป็นอย่างไร

ขณะที่ นางสมศรี หาญอนันทสุข ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ได้เผยแถลงการณ์ ผลการตรวจการบ้าน 1 ปีว่า ตามที่คณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ)ตามรัฐธรรมนูญที่มีพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ ได้สรุปแนวทางปฏิรูปชี้แจงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันพุธที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และได้สรุปรายงานการดำเนินการจำนวน 18 หน้า เสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการแล้วนั้น

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจและองค์กรแนวร่วม เห็นว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ยังไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชน เพราะเป็นเพียงการเพิ่มอำนาจตำรวจ ลดอำนาจประชาชน ยังขาดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง การรวบอำนาจและทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง ไม่กระจายอำนาจและบุคลากรไปยังระดับจังหวัด ท้องถิ่น และระดับสถานี ทั้งยัง “รวมศูนย์” ไม่ลดทอนสายการบังคับบัญชาจนเกิดความเทอะทะขององค์กร ขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ยึดหลักการการเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่มีกลไกการตรวจสอบที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังขาดความเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาค ถือเป็นข้อเสนอการปฏิรูปที่ผิวเผิน มิได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนได้ประโยชน์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันดังนี้ 1. ด้านบริหารงานบุคคล วิธีแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่ตัดอำนาจ ก.ตช. โดยให้ ผบ.ตร. เสนอชื่อให้ ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกนั้น เป็นการลดทอนอำนาจของประชาชนซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้ง ส่วนหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจระดับต่างๆ แม้จะมีบางส่วนที่ถือว่าก้าวหน้าขึ้น เช่น ให้คำนึงถึงอาวุโส แต่ก็เป็นเรื่องภายในที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมต่อตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปอะไร

การปฏิรูประบบบริหารงานที่แท้จริงคือการกระจายอำนาจสู่จังหวัด หรือ การปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด ตามดำริของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกด้านในจังหวัดต้องมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้กำกับการลงไปในจังหวัดได้เมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัดหรือคณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัด ลดสายการบังคับบัญชาจากส่วนกลางที่ห่างไกลต่อสถานการณ์ปัญหา และเป็นภาระต่อตำรวจผู้ปฏิบัติในปัจจุบัน คือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 รวมทั้งฝ่ายอำนวยการต่างๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณเฉพาะในส่วนนี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท และมีกำลังพลอีกไม่น้อยกว่า 5,000 คนไปปฏิบัติหน้าที่ตามสถานีตำรวจ 1,480 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) ยังมีจุดอ่อนที่หน่วยปฏิบัติและผู้ปฏิบัติยังคงเป็นข้าราชการสำนักงานจเรตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีความเป็นอิสระจากตำรวจในการที่จะสรุปหรือวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนให้เป็นไปตามพยานหลักฐานให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและตำรวจอย่างแท้จริง

2. ด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ ยังไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 30ก.ย. 2558 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการให้โอนตำรวจ 11 หน่วยทั้งอำนาจหน้าที่ บุคลากร และงบประมาณ รวมทั้งอุปกรณ์ ในการปฏิบัติภารกิจนั้นๆไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเองทั้งหมด เพื่อทำให้งานรักษากฎหมายและการสอบสวนความผิดทางอาญาเฉพาะด้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มิใช่เป็นการโอนเฉพาะแต่ภารกิจเช่นที่งานตำรวจน้ำให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม แต่ไม่โอนเรือให้ และอ้างว่ากระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อมนั้น เป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบ เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาและข้อขัดข้องรัดสนับสนุนให้เกิดความพร้อมโดยเร็ว ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ 2547 ซึ่งผ่านมา 14 ปีแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

3. ด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา มีแนวทางเพียงให้มีสายงานสอบสวนเช่นเดิมก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช.ที่ 7/ 2559 ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั้งหมดซึ่งทำให้เกิดความโกลาหลอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีการกำหนดหลักประกันความเป็นอิสระในการหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากการแต่งตั้งโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ เนื่องจากยังคงให้หัวหน้าสถานีตำรวจผู้ไม่มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับงานสอบสวน รวมทั้งบางส่วนมาจากการซื้อตำแหน่งและมีพฤติกรรมทุจริตรับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็น ผู้บังคับบัญชาควบคุมและสั่งการ ทำให้สามารถใช้อำนาจบริหารเข้าแทรกแซงหรือแม้กระทั่งการ “สั่งด้วยวาจา” ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อหาประชาชนโดยปราศจากพยานหลักฐานหรือเกินจริง รวมทั้งการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเพื่อล้มคดีได้เช่นเดิม โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมโดยพนักงานอัยการตามหลักสากล

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจยังคงยืนยันแนวทางการปฏิรูป 8 ข้อที่เครือข่ายประชาชน 102 องค์กรเคยยื่นเรื่องให้นายกรัฐมนตรี เมือวันที่ 5 ตุลาคม 2560 และเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจน อาทิ ให้ยุบกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1-9 เพื่อลดสายการบังคับบัญชาที่ซับซ้อน, โอนสำนักงานจเรตำรวจไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี, แยกงานนิติวิทยาศาสตร์ งานสอบสวนออกจากองค์กรตำรวจ, ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 5 ปี, ยกเลิกเงินรางวัลนำจับคดีจราจร และการสั่งปรับต้องกระทำโดยศาล ฯลฯ