โครงการหลวงดอยตุง นำร่อง Waste to Energy

โครงการหลวงดอยตุง นำร่อง Waste to Energy

ครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ไทย – เบลเยียม สกว. นำร่องพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะ เตรียมจับมือโครงการหลวงดอยตุงเป็นพื้นที่รับเทคโนโลยี เปลี่ยนขยะจากกาแฟ แมคคาเดเมียให้เป็นประโยชน์

ครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ ไทย – เบลเยียม พ.ศ. 2411 – 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จับมือสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ขยับสู่การเป็นพันธมิตรนวัตกรรม มุ่ง 3 ด้านหลักคือ ดิจิทัล, อาหารและชีวภาพ นำร่องพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะ เตรียมจับมือโครงการหลวงดอยตุงเป็นพื้นที่รับเทคโนโลยี เปลี่ยนขยะจากกาแฟ แมคคาเดเมียเป็นประโยชน์


"เบลเยียมเป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเมื่อเปรียบกับประเทศไทยแล้ว เบลเยียมมีจำนวนประชากรน้อยกว่าไทยถึง 6 เท่า และมีขนาดประเทศที่เล็กกว่าประเทศไทยถึง 7 เท่า แต่มีมูลค่าจีดีพีเท่ากับประเทศไทย โดยในปัจจุบัน เบลเยียมถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนา ด้านนวัตกรรมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก(Bloomberg Innovation Index)" นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าว

ความโดดเด่นในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ไทยและเบลเยียมต่างขยับความร่วมมือในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเริ่มจากการจัดงานสัมมนา "Thailand – Belgium Innovation Partnership for the Future" เนื่องในวาระครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ ไทย – เบลเยียม พ.ศ. 2411 – 2561 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต รวมถึงกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน เพื่อสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของทั้ง 2 ประเทศ ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมีทิศทาง


เมื่อเดือนกันยายน 2560 สกว. ฝ่ายอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานกับหน่วยงานเครือข่ายของประเทศเบลเยียม ผ่านการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งในระดับนโยบายและการสนับสนุนกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน สำหรับในการสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ต่อไปในอนาคต เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อไปทำวิจัย เป็นต้น


"เบลเยี่ยมเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่บริหารจัดการและใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าให้มากที่สุด ดังนั้น โครงการนำร่องที่จะเกิดจากความร่วมมือนี้ จะเริ่มที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ โดยเป็นโครงการ Waste to Energy ที่มีความร่วมมือจากวีโต้ (Vision on Technology :VITO) หน่วยงานวิจัยของเบลเยียมที่โดดเด่นเรื่องของเทคโนโลยีเชิ้อเพลิง" รศ. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าว


โครงการ Waste to Energy ที่ สกว. จะมีความร่วมมือกับเบลเยียมจะมุ่งเรื่องของการจัดการขยะ ซึ่งได้ไปดูงานและพูดคุยในรายละเอียดกับโครงการหลวงดอยตุงที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีของเหลือจากกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเปลือกแมคคาเดเมียหรือกาแฟ ที่เป็นของเหลือถึง 90% ของจำนวนผลผลิตทั้งหมด ที่เดิมใช้การเผา และนำความร้อนไปเป็นพลังงานในการต้มในกระบวนการต่างๆ เช่น การทำกระดาษสา


รศ. พงศ์พันธ์ กล่าวว่า การจัดการขยะของโครงการหลวงดอยตุงทำได้ดี แต่เรามองว่า เทคโนโลยีสามารถทำให้ดีกว่าเดิม โดยโจทย์คือ ลดใช้พลังงาน และนำไปทำให้เกิดเป็นพลังงานสำหรับกระบวนการที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากวีโต้ร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยในรายละเอียด คาดว่าจะเดินหน้าให้เริ่มโครงการในช่วงปรงบประมาณ 2561 นี้ เพื่อให้โครงการหลวงดอยตุงเป็นพื้นที่สาธิต สำหรับเทคโนโลยีการจัดการขยะ


ด้วยการเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัย รศ. พงศ์พันธ์ชี้ว่า ทุนวิจัยจะอยู่ภายใต้งบวิจัยของ สกว. เอง เพราะสิ่งที่ต้องการจากเบลเยียม ไม่ใช่เงิน แต่เป็นความเชี่ยวชาญที่จะหนุนให้นักวิจัยและเอกชนไทยเข้าถึงมและพัฒนาเทคโนโลยีโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่อาจจะเป็นขั้นที่ 5-6 ที่เบลเยียมทำไว้อยู่แล้ว


"ในช่วงต้นปี 2562 คาดว่าจะเริ่มเห็นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากโครงการหลวงดอยตุง ยังมีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะเป็นเชื้อเพลิงแบบแข็ง ซึ่งจะเป็นความร่วมมือในขั้นต่อไป" ผู้บริหารสกว. กล่าว พร้อมชี้ว่า Waste to Energy เป็นเพียงการเริ่มต้น เพื่อขยายการใช้ประโยชน์จาก วทน. ให้เกิดเป็น Waste to High Value Economy ในที่สุด


นอกจากนี้ ในแง่ของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ก็จะเกิดความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐาน เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือหนุนภาคเอกชนไทยในการส่งออกอาหารไปสู่ตลาดโลกโดยเฉพาะอียูที่ต้องการมาตรฐานสูง หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลที่เบลเยียมเองเป็น "เมืองอัจฉริยะ (Smart City)" และจะทำงานร่วมกันให้เกิดเมืองอัจฉริยะในไทย


ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดัน ความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม ยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่าย ตลอดจนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชนของไทยและเบลเยียม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาของไทยต่อไป