"กระทรวงดีอี"เสียงแข็งตั้ง2บริษัทลูก

"กระทรวงดีอี"เสียงแข็งตั้ง2บริษัทลูก

ชี้เอ็นบีเอ็น-เอ็นจีดีซีเดินหน้าแล้วหยุดไม่ได้เป็นตามมติครม

ปลัดดีอีเผยพร้อมช่วยกำกับดูแลอย่างเต็มที่หลังเชิญตัวแทน ทีโอที-กสทฯ ชี้แจงทำความเข้าใจในการตั้ง 2 บริษัทลูกเอ็นบีเอ็น-เอ็นจีดีซี ย้ำแต่คงชะลอการดำเนินการไม่ได้ ชี้เข้าใจปัญหาทั้งหมดและพร้อมนำกลับมาหาทางออกร่วมกันเพื่อเสนอสคร.เป็นมติที่ชัดเจนต่อไป ยันการตั้ง 2 บริษัทลูกไม่ผิดกฎหมายเป็นการจัดตั้งบริษัทในเครือของบริษัทแม่เองไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และเป็นไปตามมติผู้ถือหุ้นคือกระทรวงการคลังในการตัดสินใจ

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังการชี้แจงทำความเข้าใจในการตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (เอ็นบีเอ็น) บริษัทลูกของบมจ.ทีโอที และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี) ของบมจ.กสท โทรคมนาคมว่า จากนี้จะให้คณะทำงานขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านไปยัง 2 บริษัทลูก โดยจะเร่งทำรายงานเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อลงเป็นมติในการสร้างความจัดเจนในการบริหารจัดการอย่างมีหลักการและอุดช่องโหว่ที่หลายฝ่ายเป็นกังวล

"กระทรวงดีอีรับปากว่าจะกำกับดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่คงไม่สามารถหยุดการจัดตั้งบริษัทได้ ต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจ เพราะทั้งสองบริษัทต่างก็เริ่มดำเนินการมาแล้ว เข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านทุกองค์กรย่อมมีปัญหา สามารถขยายเวลาเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านดีที่สุดได้ เราเข้าใจในธุรกิจว่าจะเป็นอย่างไร อุปสรรคอยู่ตรงไหนเราจะช่วย ถามว่าเขาขายให้เอกชนได้ไหม เขาขายไม่ได้ เพราะมันไม่มีใครทำได้ ” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว

สำหรับข้อกังวลที่ตัวแทนกสทฯ เสนอมานั้น อาทิเช่น การลงทุนที่ซ้ำซ้อน ที่ไม่มีสิ่งไหนยืนยันได้ว่าในอนาคตจะเกิดขึ้น และคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ,ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างค่าธรรมเนียมยูโซ่ ที่ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า รวมถึงแผนธุรกิจที่ชัดเจน บริษัทไหนจะเป็นผู้ลงทุน และหลักเกณฑ์ในการเข้าประมูลงานของบริษัทแม่ จะทำได้หรือไม่ ในเมื่อระเบียบภาครัฐระบุว่าต้องเป็นบริษัทที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง แต่บริษัทแม่ไม่มีเพราะไปอยู่ที่บริษัทลูก เป็นต้น คณะทำงานต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปในการสร้างความชัดเจน โดยตนต้องเชิญตัวแทนของบริษัทแม่เข้ามาเป็นคณะทำงานร่วมกันด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังได้แจกเอกสารยืนยันว่าการตั้ง 2 บริษัทลูกนั้น ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากการตั้ง 2 บริษัทลูกนั้น เป็นการจัดตั้งบริษัทในเครือของบริษัทแม่เอง โดยการโอนทรัพย์สินโครงข่ายภายในประเทศ โครงข่ายระหว่างประเทศให้เอ็นบีเอ็นและเอ็นจีดีซีซึ่งสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุน และการกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างกิจการ เพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ ได้รับการยกเว้นให้เอ็นบีเอ็นและเอ็นจีดีซี ทำธุรกิจที่เป็นภารกิจหลักของบริษัทแม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 และกระทรวงดีอีได้แจ้งเวียนให้บริษัทแม่ทราบและถือปฏิบัติแล้ว 

ขณะเดียวกันการจัดตั้ง 2 บริษัทลูกไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เหมือนตอนแปลงสภาพองค์การโทรศัพท์เป็นทีโอที และการสื่อสารแห่งเป็นประเทศไทย เป็น กสทฯ เพราะเป็นการตั้งบริษัทใหม่ ต่างจาก ทีโอที และ กสทฯ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว การตั้งเอ็นบีเอ็นและเอ็นจีดีซีดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์การจัดตั้งและร่วมทุน และการกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ การโอนทรัพย์สินโครงข่ายของทีโอที และ กสทฯ ไปยังเอ็นบีเอ็นและเอ็นจีดีซีจึงใช้มติผู้ถือหุ้น คือกระทรวงการคลัง ที่ถือหุ้น ทีโอที และ กสทฯ 100%

ด้านฟากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทีโอที และ กสทฯนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ร่วมเดินทางกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ไปยังกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่มีเพียงตัวแทนของกระทรวงมารับหนังสือไว้ แต่ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะหยุดการโอนทรัพย์สินในวันที่ 1 เม.ย.นี้หรือไม่ โดยตัวแทนสรส.กล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่มีสิทธิ์ หรือ อำนาจ ในการโอนหุ้นให้บริษัทลูก และไม่เข้าใจว่าใช้กฎหมายข้อไหนในการโอนทรัพย์สินของประเทศชาติไปให้บริษัทลูก เพราะการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปให้ยังบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุแถมยังทำให้บริษัทแม่อ่อนแอ ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งที่จะสร้างรายได้ในระยะยาวได้แต่อย่างใด

โดยนายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพกสทฯ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่และหยุดไม่ได้ ทำไมบริษัทแม่ต้องให้เงิน เอ็นจีดีซี ทั้งๆที่พนักงานที่ทำงานเป็นคนของกสทฯ มีหลายประเด็นยังไม่เป็นที่กระจ่างและ จึงเป็นเหตุให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว