เที่ยวนี้มี’สันติสุข’เป็นเดิมพัน

เที่ยวนี้มี’สันติสุข’เป็นเดิมพัน

ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง พลิกฟื้นการท่องเที่ยวสามจังหวัดชายแดนใต้ คืนความสุขให้ปลายด้ามขวาน

เส้นทางสายนั้นยังมีบังเกอร์ของทหารและจุดตรวจจุดสกัดให้เห็น แต่สีเขียวๆ ของป่าใหญ่ตัดกับท้องฟ้าใสๆ เปิดเผยความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่ปลายด้ามขวาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็น ทะเลหมอกที่อัยเยอร์เวง จ.ยะลา, เส้นสายลายสีของเรือกอและ ที่หาดตะโละกาโปร์ จ.ปัตตานี, แหล่งชุมนุมนกเงือกหลากหลายสายพันธุ์ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลาบาลา จ.นราธิวาส หรือวิถีวัฒนธรรมของชาวมุสลิมที่มีเอกลักษณ์ทั้งเสื้อผ้า อาหาร ศิลปหัตถกรรม รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของภูมิภาคนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเสน่ห์ของเมืองชายแดนใต้ที่ไม่ควรถูดบดบังด้วยภาพความรุนแรง หลายฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนจึงประสานมือกันอีกครั้ง ด้วยความหวังว่าจะพลิกฟื้นการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น เปลี่ยนความอึมครึมให้เป็นความสดใส เยียวยาผลกระทบที่สะสมมานานแรมปี แม้จะรู้ดีว่า...เส้นทางหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

เปิดประตู่สู่ปลายด้ามขวาน

เสียงเพลงพื้นบ้าน ‘ดิเกร์ ฮูลู’ เปลี่ยนความเงียบให้เป็นความครื้นเครงสนุกสนาน ใครที่เคยเดินทางมายังสามจังหวัดชายแดนใต้ย่อมรู้ดีกว่า โอกาสที่จะได้ยินเสียงแห่งความสุขนั้นมีมากกว่าเสียงปืนหรือระเบิดหลายเท่า ทว่า ท่ามกลางข่าวความรุนแรงรายวัน หลายคนจึงขีดเส้นใต้เรื่องความไม่ปลอดภัยไว้ประกอบการตัดสินใจ

“ถามว่าอย่างในกรุงเทพฯ ตอนเกิดเหตุที่พระพรหมเอราวัณ แล้วเราจะไม่ไปกรุงเทพฯหรือเปล่า เราก็ยังไปเพียงแต่ไม่ไปศาลพระพรหมในช่วงนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น นราธิวาสก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ครั้งหนึ่งในชีวิตให้คิดมาค่ะ” กรรณิกา ดำรงวงศ์ เจ้าของโรงแรมตันหยง จ.นราธิวาส กล่าวเชิญชวน และว่า "ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา พื้นที่สีแดงก็อย่าไป การท่องเที่ยวเป็นการช่วยคนในสามจังหวัด เราอยากให้สื่อนำเสนอภาพดีๆ บ้าง”

ในมุมมองของผู้ประกอบการ กรรณิกาเชื่อว่าจังหวัดชายแดนอย่างนราธิวาสไม่ได้เสี่ยงมากไปกว่าอีกหลายพื้นที่ของโลกที่ต้องเผชิญกับการก่อการร้าย ในทางตรงกันข้ามการที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาย่อมทำให้เกิดความเชื่อมั่น และอาจนำความมั่นคงกลับคืนมา

แนวคิดนี้กำลังได้รับการขยายผลในทางปฏิบัติภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่เมืองชายแดนตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยเมื่อเร็วๆ นี้ การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้เชิญตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยวจากส่วนกลางและภูมิภาคของไทย รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส เพื่อยืนยันถึงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่

สุมิตรา มัทธุรนนท์ ผู้บริหารบริษัท เพื่อนธรรมชาติ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้บอกว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วทางบริษัทได้เริ่มทำทัวร์มายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดเป็นรูท เช่น เบตง-ปีนัง, ยะลา-นราธิวาส ได้รับการตอบรับประมาณหนึ่ง ซึ่งหากต้องการให้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องมีมาตรการมาสนับสนุนอย่างจริงจัง

“ส่วนใหญ่ลูกทัวร์ที่เดินทางมากับเราจะเป็นลูกค้าประจำซึ่งมีความเชื่อมั่นในบริษัทอยู่แล้ว เท่าที่พามาหลายกรุ๊ปก็ประทับใจทุกกรุ๊ป แต่ถ้าอยากขยายตลาดออกไปต้องอาศัยการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐด้วย เช่น การจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลต่างๆ การทำโปรโมชั่นพิเศษแรงๆ ถ้าต้องการให้คนมาเยอะๆ ก็ต้องอาศัยราคาเป็นส่วนหนึ่งด้วย โดยมีงานเทศกาลต่างๆ ผนวกเข้าไป เติมสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาหารการกิน ผลไม้ ถ้าเราสามารถบวกหลายๆ อย่างเข้าไปคนก็จะรู้สึกว่ามาแล้วคุ้ม แต่ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนมุมมองของคนที่มาเที่ยวให้รู้สึกว่าไม่อันตราย"

เสน่ห์ใต้ ‘สดใหม่ ไร้การปรุงแต่ง’

ถามว่าอะไรคือแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยวสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำตอบจาก มัณฑนา ภูธรารักษ์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส ซึ่งดูแลพื้นที่สามจังหวัด ชี้ชัดว่า คือความสดใหม่ ไร้การปรุงแต่ง

“ที่นี่ยังมีเสน่ห์ของความเป็นธรรมชาติ และความเป็นบ้านๆ อยู่ วิถีชีวิตของคนในพื้นที่อยู่กันอย่างเรียบง่ายและมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมด้านภาษา เรามีภาษามลายูท้องถิ่น มีภาษาไทย มีภาษาพื้นบ้านที่เรียกว่าภาษาเจ๊ะเห นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมด้านอาหารที่น่าสนใจ เช่น ไก่กอและ น้ำบูดู หรือว่าขนมอาเกาะ ขนมลอปะตีแก ซึ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด จะเห็นขนมพื้นบ้านต่างๆ ของทางพี่น้องมุสลิมงัดมาขายกันเต็มเลย”

น่าเสียดายที่ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ ความงดงามเหล่านี้ถูกบดบังด้วยภาพร้ายๆ จนหลายคนแทบจะหันหลังให้กับดินแดนปลายด้ามขวาน ดังนั้นนโยบายที่ทางททท.ได้วางเป้าหมายไว้นับจากนี้คือ การสร้างภาพจำใหม่ให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี

“แหล่งท่องเที่ยวของเรายังมีความน่าสนใจมากมาย นักท่องเที่ยวที่อยู่ไกลออกไปอาจจะได้รับภาพจำเก่าๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลในการที่จะเดินทางเข้ามา ก็อยากให้ข้อมูลว่า พี่น้องในสามจังหวัดเขามีความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อที่จะให้คนในประเทศได้เดินทางมาทำความรู้จักพวกเขา”

ในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของททท. นอกจากวางแนวทางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดจนจัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในระบบคิวอาร์โค้ดและเออาร์โค้ดแล้ว จะมีการจัดโปรโมชั่นร่วมกับสายการบินต่างๆ ด้วย 

“ชุมชนต่างๆ ก็มีความต้องการที่จะมาร่วมขับเคลื่อนในเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บูนาดารา ปัตตานี พี่น้องมุสลิมเขาอยากจะต้อนรับนักท่องเที่ยวแต่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ก็เลยรวมตัวกันไปเชิญครูกศน.ในอำเภอมาสอนให้ ตรงนี้เรามีความคิดว่าในเมื่อเขามีความกะตือรือร้นก็ต้องส่งเสริม เพราะเป็นความต้องการของชุมชน เพราะฉะนั้นยังมีอีกหลายชุมชนที่ระเบิดจากข้างใน เราก็คงจะคัดจากชุมชนที่มีใจก่อน มีความพร้อมก่อน ในเรื่องอื่นมันพัฒนาต่อไปได้ไม่ยาก ถ้าชาวบ้านมีส่วนร่วมแล้วมันจะไปได้ดี แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป เราจะไม่ทำการประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดหรืออะไรที่มันหวือหวา เพราะว่าหวือหวาไป เราพัฒนาตัวเราไม่ทันก็อาจไม่เป็นผลดี”

สำหรับเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา มัณฑนาบอกว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี ส่วนใหญ่จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต่างจากที่คิดอย่างสิ้นเชิง ก่อนมาอาจมีความกังวลอยู่บ้าง แต่เมื่อมาแล้วรู้สึกประทับใจและอบอุ่นกับการดูแลอย่างใกล้ชิดของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ในแง่การประชาสัมพันธ์เราได้โจทย์ค่อนข้างยาก ต้องทำงานให้รอบคอบ แล้วทำงานด้วยความระมัดระวังไม่ผลีผลาม เพราะว่าเรื่องท่องเที่ยวในสามจังหวัดเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ เราต้องใช้จิตวิทยาเข้ามาทำงาน สร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวไปด้วยกัน”

หลักไมล์ ‘ท่องเที่ยวโดยชุมชน’

ปี 2560 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา รวมกันกว่า 1.5 ล้านคน คิดเป็นรายได้ไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท แม้จะยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งประเทศ แต่ตัวเลขกลมๆ นี้ก็ช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างน่าพอใจ

ณรงค์ สังข์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า แต่ละปีจังหวัดชายแดนใต้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาไม่น้อย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดน ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังเสร็จสิ้นโครงการจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

“อย่างจังหวัดนราธิวาส ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีนโยบายในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น หาดนราทัศน์ เราก็ปรับปรุงเรื่องไฟฟ้า สุไหงโก-ลก จัดทำจอแอลอีดี ที่สุคิรินก็มีการปรับปรุงเรื่องของถนนหนทาง ที่พักโฮมเสตย์ รวมถึงจุดดูทะเลหมอก”

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นยืนยันว่าที่ผ่านมาความรุนแรงลดลงมาก เป็นผลมาจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน

“สำหรับภาพลบที่อาจจะเห็นจากสื่อต่างๆ ถ้าท่านมาสัมผัสเองจะเห็นว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่ยังดำเนินไปอย่างปกติ อาจมีเหตุการณ์อยู่บ้าง แต่ก็ห่างไกลไปจากแหล่งท่องเที่ยวซึ่งทางจังหวัดก็ให้ความเชื่อมั่นที่จะมีมาตรการต่างๆ ในการดูแลความปลอดภัย โดยร่วมมือกับชุมชน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลตอนนี้พยายามให้คนเดินทางไปท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น เป็นการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วย”

หลักไมล์ต่อไปสำหรับการท่องเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีหัวใจอยู่ที่ ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ เนื่องจากภาครัฐเห็นว่าการเสริมรายได้ให้กับประชาชนน่าจะช่วยลดความรุนแรงได้ทางหนึ่ง

ประสิทธิ์ วิชัยสุชาติ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้เราดำเนินการภายใต้นโยบายใหม่ของรัฐบาลคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน โจทย์สำคัญสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้คือจะทำอย่างไรให้ความรุนแรงลดลง สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เสริมสร้างรายได้ให้เขาจากการพัฒนาอาชีพ ซึ่งตรงนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน”

แม้จะดูมีความหวัง แต่การท่องเที่ยวบนฐานทรัพยากรของชุมชนเป็นเรื่องค่อนข้างอ่อนไหว เงื่อนไขสำคัญคือความพร้อมของชาวบ้านในการจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมและจัดสรรผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ไม่เช่นนั้นชุมชนจะกลายเป็นเพียงผู้ถูกท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวอาจทำลายต้นทุนทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมไปในที่สุด

“โดยส่วนตัวผมที่ได้ไปสัมผัสกับชุมชนมาทั่วประเทศ เราต้องถามชุมชนก่อนว่าเขาอยากจะทำหรือเปล่า เพราะถ้าเราไปบอกให้เขาทำโดยมีงบประมาณเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้ดูว่าเขาพร้อมรึยัง แล้วไปขับเคลื่อนด้วยคนนอก บางครั้งก็กลายเป็นการไปทำลายเขาโดยตรง เพราะฉะนั้นชุมชนต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรักษาผลประโยชน์ และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง ตรงนั้นถึงจะยั่งยืน” กันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ ผู้ช่วยประธาน สทท.ด้านตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ตั้งข้อสังเกต พร้อมชี้จุดอันตรายที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า

"ต้องให้ชาวบ้านรู้ว่าการท่องเที่ยวเป็นแค่รายได้เสริม เป็นอาชีพเสริม ไม่ใช่เอามาเป็นรายได้หลัก อาชีพหลัก แล้วละทิ้งวิถีดั้งเดิม เพราะนอกจากการท่องเที่ยวจะไปไม่รอดแล้ว วิถีชีวิตที่เคยเรียบง่ายมีความสุขก็จะเสียไปด้วย”

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวถึงความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ซึ่งหากกลัดกระดุมเม็ดแรกไม่ผิดแล้ว รับรองว่าการท่องเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยเป็นยิ่งกว่าเมืองรองของเมืองรอง จะกลายเป็นเพชรเม็ดงามประดับปลายด้ามขวานที่ใครๆ หวังจะมาชื่นชม

และเมื่อไหร่ก็ตามที่การพัฒนาก่อร่างจากรากฐานอันแข็งแรงของชุมชน เมื่อนั้นสันติสุขย่อมไม่ไกลเกินฝัน