ก.อุตฯ เปิดศูนย์ ITC และศูนย์ออกแบบ ตรวจสอบอุตฯ อาหาร

ก.อุตฯ เปิดศูนย์ ITC และศูนย์ออกแบบ ตรวจสอบอุตฯ อาหาร

ก.อุตสาหกรรม เปิดศูนย์ ITC และศูนย์ออกแบบ ตรวจสอบอุตฯ อาหาร พร้อมเยี่ยมชมศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคใต้ จ.สงขลา

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center : ITC) พร้อมเปิดศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม (สาขาอาหาร) ต้นแบบ สถาบันอาหาร สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม และเยี่ยมชมศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมพูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเปิดศูนย์ ITC สงขลา และนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์ ITC ว่า ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) เป็นกลไกประชารัฐที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลกในการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ โดยอาศัยแพลทฟอร์มที่จะผลักดันให้บริษัทผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก (Global Player) รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ (LEs) ที่มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้วมามีส่วนร่วมในการทำให้ SMEs ขับเคลื่อนนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยศูนย์ฯ เปรียบเสมือนกับข้อต่อกลางที่จะเข้ามาช่วย SMEs ที่ไม่พร้อมในเรื่องของบุคลากรด้านวิศวกรรมที่ยังต้องสั่งสมประสบการณ์ และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิตให้สามารถปฏิรูปธุรกิจของตนเองผ่านกระบวนการ SME Transformation ตามแพลทฟอร์มต่างๆ ที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ยังมีหน้าที่ในการร่วมพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยให้ไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง

โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ การให้บริการทางวิศวกรรม การหาผู้รับจ้างผลิต ทำการทดสอบและรับรองมาตรฐาน การทดสอบตลาด ซึ่งเปรียบได้กับผู้ช่วยทางวิศวกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ บ่มเพาะให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและดำเนินธุรกิจได้เอง มีการแลกเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง โดยที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องไปลงทุนเครื่องจักรก่อนที่จะได้ผลิตภัณฑ์ และยังมีความช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านโครงการของภาครัฐ รวมถึงสินเชื่อพิเศษต่างๆ อย่างมากมายอีกด้วย

สำหรับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ ITC ภาคที่ 11 จ.สงขลา มีหน้าที่ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส จะดำเนินงานให้บริการในเรื่องต่างๆ อาทิ การเป็นศูนย์บริการด้านข้อมูลของผู้ประกอบการ เพื่อการเชื่อมโยงจับคู่ทางธุรกิจ, การบริการให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาตามประเด็นความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการออกแบบ การบริหารจัดการ การจัดหาแหล่งทุนและเครื่องมือทางด้านการเงินต่างๆ การให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ ทั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพวัตถุดิบ เครื่อง 3D Printing 3D Scanning เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง การให้บริการด้านวิศวกรรม การจัดหาผู้ผลิต ทำการทดสอบและรับรองมาตรฐาน การทดสอบตลาด เพื่อบ่มเพาะให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสินค้าและดำเนินธุรกิจได้เอง โดยมีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ

ล่าสุด ทางศูนย์ ITC ภาคที่ 11 ได้มีการติดตั้งเครื่องนึ่งสุญญากาศ เครื่องจักรที่ทันสมัยและเป็นเทคโนโลยีล่าสุด คือ มีการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟท์แวย์โดย บริษัท ฟู้ด แมชชินเนอรี่ จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องจักรในกระบวนการแปรรูปอาหารอันดับหนึ่งของไทย เพื่อให้บริการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแก่ผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เข้ามาติดตั้งและให้บริการภายในศูนย์เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา ยังมีการดึงเอาหน่วยงานเครือข่ายมาร่วมดำเนินการในพื้นที่อีกด้วย ได้แก่ สถาบันอาหาร (National Food Institute) ซึ่งให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การทดสอบ ตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการและการปนเปื้อนต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหารไทย โดยเฉพาะ SMEs กลุ่ม Starup และกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่น รวมถึงมีทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการ หรือ SMEs ที่มีความต้องการในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทอาหารแปรรูปมากกว่า 10 ชนิด ที่มีความต้องการและสามารถผลักดันให้เป็นสินค้า OTOP ส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้