7 ผลงานเก๋ ฝีมือดีไซเนอร์รุ่นปู่ซู่ซ่า 'คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์'

7 ผลงานเก๋ ฝีมือดีไซเนอร์รุ่นปู่ซู่ซ่า 'คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์'

แฟชั่นไอคอนที่โลกต้องกราบ! เปิด 7 ผลงานเก๋ ฝีมือดีไซเนอร์รุ่นปู่ซู่ซ่า "คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์"

ก้าวเข้าสู่ซัมเมอร์ ฤดูแห่งสีสันแบบเต็มตัว วงการแฟชั่นโลกก็คึกคัก จัดจ้าน และเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจใหม่ทุกมิติ ด้วยคอลเลกชั่นฤดูร้อนจากหลากแบรนด์ที่พาเหรดมาอวดความร้อนแรงแข่งกับอุณหภูมิอากาศ พาลให้คิดถึงดีไซเนอร์รุ่นปู่สุดซ่า “คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์” (Karl Lagerfeld) ดีไซเนอร์ที่เกิดในปี ค.ศ. 1938 ซึ่งถูกยกให้เป็นไอคอนแห่งวงการแฟชั่น ที่นอกจากดูแล Creative Director ให้กับแบรนด์ดังอย่าง Chanel (ชาแนล) และ Fendi (เฟนดิ) แล้ว เขายังเป็นเจ้าของแบรนด์ภายใต้ชื่อของตัวเองว่า KARL LAGERFELD” (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) แถมยังขยายตัวจากแฟชั่นไปจนถึง งาน illustration การถ่ายภาพ การ Styling และงานเขียนหนังสือ เสน่ห์เหลือร้ายของปู่คาร์ล ที่ทำให้ยังซู่ซ่าไม่มีดีกรีตก ครองใจแฟนตั้งแต่ยุค 50s จนถึงรุ่นเหลนในวันนี้ได้ อยู่ที่สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการผสานความหรูหราที่สามารถสัมผัสได้ ผสมกับความ Cool ในการออกแบบ กลายเป็น Signature หลักคือ การนำเอาความคลาสสิกมาผสมกับความโมเดิร์น และความเท่สไตล์ Rock-Chic Edge

1_3

ใครๆ ก็อยากได้ดีเอ็นเอความคลาสสิกบวกกับความคูลแบบไร้กาลเวลาของ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ หากเราลองตามรอยศึกษารสนิยมทางแฟชั่นผ่านงานชิ้นเด็ดในชีวิตของเขา กับ 7 ผลงานเหล่านี้ คงช่วยอัพเทสต์ให้อินเตอร์และปรับทัศนคติของการดีไซน์ได้ไม่มากก็น้อย นับถอยหลังแล้วไปดูเลย 5 4 3 2 1

1. ชิ้นแรกเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1954 เป็นภาพสเก๊ตเสื้อโค้ทฝีมือการออกแบบของ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ที่ส่งเข้าประกวด และประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด จัดโดย Secrétariat International de la Laineด้วยความฮอตจริงจัง ชื่อเสียงเลยไปเข้าหูดีไซเนอร์คนดังของฝรั่งเศส Pierre Balmain (ปิแอร์ บัลแมง) โดยได้นำภาพสเก็ตเสื้อโค้ทชิ้นนี้ไปผลิตออกจำหน่ายจริง แถมโชคดีสองเด้ง รับ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยอีกด้วย

2. สมัยก่อน ดีไซเนอร์เมื่อเลือกแล้วว่าจะทำงานสายไหนก็จะยึดทำสายนั้นไปตลอด แต่ไม่ใช่สำหรับ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เพราะในปีค.ศ. 1975 เขาก้าวออกจากสายเสื้อผ้ามาเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ผลิตน้ำหอมออกจำหน่ายเป็นคนแรก ภายใต้แบรนด์ Chloe (โคลเอ้)

3. เมื่อ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ทำแบรนด์ของตัวเอง ที่มีชื่อเดียวกับชื่อของเขาว่า KARL LAGERFELD” (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) ทำให้เขาได้ประกาศความสามารถอีกด้าน นั่นคือ การถ่ายภาพ ผ่านการถ่ายทำ Campaign Shooting ในปี ค.ศ.1987 โลกต้องบันทึกไว้อีกข้อว่าเขาคือเป็นช่างภาพแฟชั่นที่มีฝีมือคนหนึ่ง โดดเด่นในวงการ กระทั่งผลงานรูปถ่ายหลายๆ ชิ้นของเขาถูกนำไปใส่ไว้ในหนังสือภาพที่ถูกตีพิมพ์โดย Gerhard Steidl (แกร์ฮาร์ด ชไตเดิล) ช่างภาพชื่อดังชาวเยอรมัน ที่มีผลงานโฟโต้บุ๊กและสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง 

3_4

4. เรื่องการเนรมิตศิลปะบนภาพ ไม่ได้ถูกจำกัดพรสวรรค์แค่ภาพนิ่ง เพราะเขายังสำแดงเดชไว้กับการวาดภาพอีกด้วย โดยในปีค.ศ.1992 คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ได้สร้างสรรค์ 60 รูปวาดเพื่อเป็นภาพประกอบให้กับหนังสือ The Emperor’s New Clothes เขียนโดย Hans Christian Anderson เป็นหนังสือประเภทนิยายเจ้าหญิงสุดคลาสสิก 

5. ถ้าอำนาจแห่งอินฟลูเอ็นเซอร์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ นี่แหละคือ อินฟลูเอ็นเซอร์อันดับหนึ่งสายลดน้ำหนัก เพราะในปีค.ศ. 2000 เขาลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง เปลี่ยนลุคจากชายอวบอ้วนเทอะทะ ลดน้ำหนักอย่างจริงจังจนน้ำหนักลดลงถึง 42 กิโลกรัม จากความสำเร็จนี้เขาต่อยอดด้วย การพิมพ์หนังสือชื่อ The 3D Diet ที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับประสบการณ์การลดน้ำหนักในแบบส่วนตัวของเขาถูกจัดจำหน่ายไปทั่วโลก 

2_4

6. พรสวรรค์ด้านดีไซน์ของ ปู่คาร์ล แผ่อำนาจไปถึงวงการอินทีเรีย ที่เชื่อมั่นในเทสต์ว่าจ้างให้เขาออกแบบห้อง suite 2 ห้องให้กับโรงแรม Hôtel de Crillon เมื่อปีค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นโรงแรมไอคอนิคของกรุงปารีส และยังได้รับรางวัล “Outstanding Achievement Award” จาก British Fashion Award และรางวัล John B. Fairchild Award จาก WWD อีกด้วย 

7. มาถึงตอนนี้ ถ้าจะบอกว่าดีไซเนอร์สุดเก๋าอย่าง ปู่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ จะกระโดดไปออกแบบแหวนหมั้นสุดโรแมนติก ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินฝัน ใช่แล้วล่าสุดเมื่อปีค.ศ. 2016 นี้เอง เขาได้ร่วมมือกับ Frederick Goldman (เฟรดเดอริค โกลด์แมน) บริษัทผลิตเครื่องเพชรรายใหญ่ เพื่อผลิตแหวนหมั้นสำหรับเจ้าสาวยุคใหม่ โดยจะส่งให้ลูกค้าในประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นหลัก ประกอบด้วย 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ แหวนรูปทรงปกติที่เห็นทั่วไป ต่อด้วยแหวนทรงโมเดิร์นรูปร่างเรขาคณิต และปิดท้ายด้วยทรงโค้งมน แต่ละวงทำด้วยทองคำขาว ทองคำ และแพลตทินัม 18 กะรัต ราคาเริ่มต้นที่ 1,000 ไปจนถึง 10,000 เหรียญ