กรมสุขภาพจิต ดึง 'แพทย์แผนไทย ยาสมุนไพร' รักษาผู้ป่วยจิตเวช

กรมสุขภาพจิต ดึง 'แพทย์แผนไทย ยาสมุนไพร' รักษาผู้ป่วยจิตเวช

กรมสุขภาพจิต ดึง "แพทย์แผนไทย ยาสมุนไพร" รักษาผู้ป่วยจิตเวช เริ่มแล้วที่รพ.จิตเวชสระแก้วฯ พบได้ผลดี

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.)จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ จ.สระแก้ว เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายเมื่อเช้าวันนี้ (28 มีนาคม 2561) ว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายนำการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และยาสมุนไพร มาใช้บำบัดรักษาโรคจิตเวชหรืออาการทางกายที่เกิดมาจากสาเหตุทางจิตใจ เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีลักษณะเด่น คือ ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม รักษาทั้งอาการเจ็บป่วย จิตใจและสังคมในคราวเดียวกัน โดยได้ให้ รพ.จิตเวชสระแก้วฯ เป็นต้นแบบระดับประเทศ โดยเปิดคลินิกการแพทย์แผนไทยที่แผนกผู้ป่วยนอกบริการคู่ขนานกับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อพัฒนามาตรฐานวิชาการเป็นศูนย์เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยการแพทย์แผนไทยฯ และขยายผลลงสู่คลินิกการแพทย์แผนไทย ซึ่งขณะนี้ มีบริการในรพ.จิตเวชทุกแห่ง และรพ.ทุกระดับลงไปถึงหมู่บ้าน คือ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษา เพิ่มการเข้าถึงบริการที่ใกล้บ้านที่สุด เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพจิตที่ดีแก่ประชาชน จากการตรวจเยี่ยมพบว่า มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธาบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ยอดการใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 506 คน ในปี 2559 เป็น 721 คนในปี 2560 ในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้รพ.จิตเวชสระแก้วฯ สามารถพัฒนามาตรฐานบริการผู้ป่วยจิตเวชด้วยการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรที่สามารถเข้ากับการรักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นผลสำเร็จแล้ว 4 อาการ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ อาการปวดกล้ามเนื้อ อาการติดบุหรี่ โดยใช้ชาชงดอกหญ้าขาว และอาการนอนไม่หลับ ผลการศึกษาพบว่า บรรเทาอาการของผู้รับบริการได้ดีมากกว่าร้อยละ 70 และได้จัดทำเป็นคู่มือแนวทางมาตรฐานแล้ว ในขั้นต้นนี้จะขยายผลใช้ในโรงพยาบาลจิตเวช 19 แห่งทั่วประเทศก่อน ผลที่ได้นี้นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว สามารถใช้แทนยาแก้ปวดหรือใช้แทนการกินยานอนหลับหรือยาคลายเครียดได้ด้วย ซึ่งผลสำรวจสุขภาพประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปโดยการตรวจร่างกายครั้งล่าสุดในปี 2557 มีประชาชนร้อยละ 2.7 กินยาคลายเครียดหรือกินยานอนหลับเป็นประจำ

ทางด้านแพทย์หญิงจุฬาพันธุ์ เหมกูล ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ กล่าวว่า คลินิกการแพทย์แผนไทยมีแพทย์แผนไทย 2 คน มีบริการทั้งการนวด การกดจุด อบประคบสมุนไพร บำบัดด้วยกลิ่นหอมหรือสุคนธบำบัด ใช้ยาสมุนไพร การฝึกสมาธิ โดยแพทย์แผนไทยจะตรวจคัดกรองผู้ป่วย และใช้เครื่องมือทางสุขภาพจิตประเมินระดับความรุนแรง เช่น แบบประเมินระดับความรุนแรงของการเสพติดนิโคติน (Fagerstrom Test Level of Nicotine Dependence) แบบทดสอบการนอนหลับ (The Pittsburgh Sleep Quality Index:PSQI) แบบประเมินระดับการปวดศีรษะ(Visual Analog Scale: VAS) เป็นต้น และจัดบริการตามระดับอาการ เช่น ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะ หากปวดระดับปานกลางคือระดับคะแนนแบบทดสอบอยู่ในช่วง 4-6 จะนวดไทยแบบราชสำนัก ประคบสมุนไพร และยาสมุนไพร หากระดับคะแนนอยู่ในช่วง 7-10 จะเพิ่มการสูดดมกลิ่นหอมเพิ่มไปด้วย ผลการศึกษาในปีที่ผ่านมาพบว่า ในผู้ที่นอนไม่หลับ สามารถนอนหลับได้ดีขึ้นร้อยละ 67 ผู้ที่ปวดศีรษะระดับความปวดลดลงมากกว่า 3 คะแนนร้อยละ 74 ผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อร้อยละ 99 ระดับความปวดลดลงมากกว่า 1 คะแนน ส่วนผู้ที่ติดบุหรี่หรือติดสารนิโคตินพบว่าร้อยละ 96 ระดับการติดลดลงกว่าที่ วัดครั้งแรก จำนวนการสูบลดลงจาก 19 มวนเหลือ 9 มวนต่อวัน ผู้ป่วยพึงพอใจบริการสูงถึงร้อยละ91

DZXe4yZUMAEG8t8

"แผนการพัฒนาต่อไป คือ การศึกษาตัวยาสมุนไพรตัวอื่นที่ช่วยลดการป่วยซ้ำจากการหยุดใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุที่ผู้ป่วยจิตเวชส่วนหนึ่งหยุดยา เนื่องจากมีผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก น้ำหนักเพิ่ม โดยอาการที่มักจะอายไม่กล้าบอกแพทย์ ในผู้ป่วยหญิงก็คือเรื่องของประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดประจำเดือน หรือผลต่อสมรรถภาพทางเพศลดลงในผู้ชาย อาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยหยุดกินยา ทำให้การรักษาขาดความต่อเนื่อง" แพทย์หญิงจุฬาพันธุ์กล่าว

สำหรับยาสมุนไพรที่ใช้ใน รพ. ขณะนี้มีกว่า 30 รายการ แต่ที่ใช้บ่อยมี 20 รายการ เช่น ขมิ้นชัน ครีมไพรจีซาล ชาชิง ยาธาตุอบเชย โดยใช้ใน 2 ลักษณะ คือ รักษาอาการทางจิตเวชโดยตรง เช่น นอนไม่หลับและปวดศีรษะ จะใช้ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทจักร เป็นต้น และใช้รักษาอาการข้างเคียงที่เป็นผลมาจากการกินยาจิตเวช ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการท้องผูก จะใช้มะขามแขก ตรีผลา เพชรสังฆาต รักษา ส่วนผู้ป่วยหญิงที่ประจำเดือนไม่ปกติจะใช้ยาประสะไพลชนิดลูกกลอนรักษา พบได้ผลดีมาก ปลอดภัย ไม่พบอาการข้างเคียง