ราชบุรี-ททท.จัดงานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ช่วงสงกรานต์นี้

ราชบุรี-ททท.จัดงานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ช่วงสงกรานต์นี้

จังหวัดราชบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และวัดขนอน จัดงานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ /13 ภายใต้แนวคิด “ชมหนังใหญ่ แต่งไทย ไปตลาดด่านขนอน” สัมผัสได้ในเทศกาลสงกรานต์ 13-14 เมษายน 2561 ณ วัดขนอน อ.โพธารามจ.ราชบุรี

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ปีนี้วัดขนอน จังหวัดราชบุรี ททท. สำนักงานกาญจนบุรี และพันธมิตรคณะผู้จัดงานฯ ได้ร่วมจัดงาน “งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 13” ภายใต้ธีมงาน“ชมหนังใหญ่ แต่งไทย ไปตลาดด่านขนอน” ซึ่งมีกำหนดจัดงานดังกล่าวขึ้น ในวันเทศกาลสงกรานต์ 13-14 เมษายน 2561ศกนี้

2_1

ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของการแสดงนั้น คณะผู้จัดงานฯ ได้คิดปรับเรื่องราวใหม่ในทุกๆปี ซึ่งเดิมทีหนังใหญ่วัดขนอนจะมีทั้งหมด 9 ตอน แต่ 12 ปีที่ผ่านมาเล่นวนในตอนของรามเกียรติ์ 5 ตอน และด้วยความแปลกใหม่ปีนี้ทางคณะฯ จึงได้หยิบยกตอนหนึ่งจากเรื่องรามเกียรติ์“ตอนศึกพรหมาศ”มาทำเป็นครั้งแรก ด้วยการสร้างหนังตัวใหม่ขึ้นมาที่มีความสูงของหนังประมาณ 3.40 เมตร แกะเป็น“ตัวหนังท้าวโกสีย์ขี่ช้างเอราวัณ” เป็นหนังที่แกะใหม่ โดยครูหมู จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมแกะหนังใหญ่ และครูผู้สอนศิลปะการแสดง คณะหนังใหญ่วัดขนอน

3_2

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม กล่าวว่า การแกะหนังชุดนี้เป็นงานศิลปะลงสีหนังมีสีสันสวยงามจะนำมาแสดงผสมผสานร่วมกับนาฎศิลป์ประยุกต์ร่วมสมัยโดยอ.กฤษฎิ์ชัยศิลบุญ และโขน จากศิษย์ศิลปากรร่วมขับเคลื่อนอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราว และให้อรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมด้วยแสงสีเสียง ให้ผู้ชม และนักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างเต็มอิ่มกับการจัดงานในปีนี้ แต่ก็ยังคงตัวตนความเป็นหนังใหญ่วัดขนอนไว้อยู่

“นอกจากนี้ ก็ยังมีการแสดงในชุดอื่นๆอีกมากมายเช่นการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน การแสดงศิลปภาคใต้ดิเกร์ฮูลู หนังตะลุง และมโนราห์ โดย อ.วาที ทรัพย์สิน ทายาทสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี พ.ศ.๒๕๔๙ บ้านหนังตะลุงสุชาติ พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงแห่งแรกของไทย แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ต้นแบบ “หนังตะลุงเมืองคอน” แห่งนครศรีธรรมราชการแสดงโขน (ศิษย์ศิลปากร) กลุ่มการแสดงนาฎศิลป์ไทยร่วมสมัย อ.กฤษฎิ์ชัยศิลบุญ หุ่นละครเล็กคลองบางหลวงกลุ่มละครหุ่นคนแม่เพทาย (เพชรบุรี)เป็นต้นและเช่นกันทุกๆ ปีภายในงานจะรณรงค์เรื่องการแต่งกายเที่ยวงานเทศกาลฯ ด้วยผ้าไทยซึ่งเป็นหนึ่งในงานศิลปวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมเผยแพร่ความเป็นไทย จุดกระแสท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน ในวันเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทยนี้ด้วย”

5_2

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการเปิด “ตลาดด่านขนอน” อีกว่า “วัดขนอน” สร้างมาสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทว่าบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้อดีตหน้าวัดเคยเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากร เป็นพื้นที่ค้าขายและตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า โดยล่าสุดทางวัดขนอน ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี ได้ปรับพื้นที่ และปรับภูมิทัศน์ด่านแห่งนี้ใหม่อีกครั้ง ให้เป็นตลาดวิถีชุมชนโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “ตลาดด่านขนอน “ตลาดบกแบบไทยย้อนยุคที่จะมีสินค้า และอาหารท้องถิ่น ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศ

โดยวันงานทั้ง 2 วัน จะเปิดฟรี การแสดงชมฟรีทั้งหมด รวมทั้งตลาดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของงานเทศกาลหนังใหญ่ ที่ยังคงไว้ซึ่งการแลกเบี้ยแบบโบราณสำหรับไปจับจ่ายซื้อของสินค้าท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน และของที่ระลึก พร้อมสุขใจด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น การก่อกองทราย งานสาธิตช่างสิบหมู่ งานจักรสาน ฯลฯ

จึงอยากเชิญนักท่องเที่ยวสนใจร่วมงานแต่งชุดไทย ชมสุดยอดศิลปะนาฎศิลป์อันทรงคุณค่า ชิมของอร่อยเมนูพื้นบ้าน ช้อปสินค้าท้องถิ่น ได้ในงาน“งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 13”ประจำปี 2561“ชมหนังใหญ่ แต่งไทย ไปตลาดด่านขนอน”มีกำหนดจัดงานขึ้นในช่วงวันเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง 13-14 เมษายน 2561 เวลา 15.00-22.00 น.ณ ลานกลางแจ้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

6_2

สำหรับ “หนังใหญ่วัดขนอน” ได้มีการสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ผู้ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เกิดปีวอก พ.ศ.2391 มรณภาพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2485 รวมอายุได้ 95 ปี ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน

ต่อมา ได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง ที่ยังอนุรักษ์การแสดงแบบพื้นบ้านเพียงคณะเดียวในประเทศไทย กระทั่งในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้วัดขนอน ช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดราชบุรี รับสนองโครงการพระราชดำริ จากการสืบทอดการแสดง อนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟู ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ไว้เป็นอย่างดี จนได้รับ “รางวัลจากยูเนสโก (UNESCO)” ด้านชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรมและเป็นแหล่งอนุรักษ์ เรียนรู้ ฝึกฝน ศิลปะทุกแขนงที่เกี่ยวกับหนังใหญ่