ปมรัก ปมการเมือง บุพเพสันนิวาส   

ปมรัก ปมการเมือง  บุพเพสันนิวาส    

ตอนต่อไป...เรื่องรักๆ จะคลี่คลาย เรื่องการเมืองจะเข้มข้น โดยเฉพาะฉากวิวาทะระหว่างสมเด็จพระนารายณ์และพระเพทราชา พลาดไม่ได้เลย...

"""""""""""""""""""""""

      อดใจกันไม่ไหว...หลังจากผีการะเกดออกมาทวงพี่หมื่นคืนจากเกศสุรางค์ คนดูก็เกิดอาการรำคาญ วิจารณ์กันยกใหญ่ทางออนไลน์  ทำให้ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ คนเขียนบท บุพเพสันนิวาส (ผลงานบริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ออกอากาศทางสถานีช่อง 3 ) ต้องออกมาคลายความสงสัย

“ผีการะเกดออกมาแค่สองสามฉาก คนดูก็ว่าเยอะ จริงๆ แล้วมีที่มาที่ไป เราไม่ได้เขียนอะไรที่ล่องลอยไม่มีจุดหมาย เมื่อทั้งสองคือ การะเกดและเกศสุรางค์มีคำมั่นสัญญาต่อกัน ก็ต้องมีการปลดล็อคปมในใจ” 

นี่คือเหตุผลคร่าวๆ ของศัลยา  

ที่ผ่านมา เธอเขียนบทละครมาเยอะ จนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะละครย้อนยุค และละครที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและสังคม  อาทิ คือหัตถาครองพิภพ ,สายโลหิต,ดอกส้มสีทอง ,นางทาส และอีกหลายเรื่องที่ยังอยู่ในใจคนดู     

ล่าสุดกับละครย้อนยุค บุพเพสันนิวาส หลังจากออกอากาศไปแล้ว เสียงตอบรับดีมาก มีการวิพากษ์วิจารณ์ทุกแง่ทุกมุม ทั้งมุมประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม ความรัก เครื่องแต่งกาย และอาหาร 

 

นัยยะแห่งรัก       

ว่ากันว่า รอมแพง ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ เขียนไว้สนุกอยู่แล้ว และเพิ่มความสนุกมากยิ่งขึ้นด้วยฝีมือผู้กำกับ คนทำเสื้อผ้า คนทำฉากเและนักแสดง ฯลฯ

      และที่สำคัญคือ บทละคร มีความคมคาย บทจะฮาก็สุดๆ ไปเลย บทการเมืองยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ค้นคว้าเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

นอกจากนี้ละครเรื่องนี้ ยังทำให้คนไทยทั้งประเทศห้ันมาสนใจคำโบราณดั้งเดิม อย่างคำว่า “ออเจ้า”(เจ้าหรือเธอ ใช้กับคนที่อายุน้อยกว่า ),”เวจ”(ที่ปลดทุกข์หนักเบาสมัยกรุงศรีอยุธยา),”วิปลาส”, “5 บาท” (ครึ่งชั่วโมง),”10 บาท” (ชั่วโมงหนึ่ง) และชม้อย ชะม้าย ชายตา ฯลฯ

ศัลยา เล่าถึงความฮาในละคร ซึ่งคนทั้งประเทศเสพติดไปแล้วว่า  ถ้าให้บทเกศสุรางค์เหมือนในนวนิยายทุกอย่าง เธอจะต้องพยายามเรียนรู้และพูดภาษากรุงศรีอยุธยา แต่พอมาเป็นละคร เราไม่ให้พูดแบบนั้น 

"เขียนให้เธอพูดแบบคนกรุงเทพฯ ไปเลย สนุกดี ในเรื่องเธอก็ทำให้คนอยุธยางง  และเธอก็สอนให้บ่าวพูดแบบนั้นด้วย” 

ส่วนเรื่องรักๆ ก็ต้องเขียนให้ละเมียดละไม ตอนที่ออกอากาศไปแล้ว หลายคนชอบฉากที่สร้อยสังวาสของการะเกดขาด แล้วขุนศรีวิสารวาจา ขันอาสาไปร้อยสร้อยให้เหมือนเดิม

“อย่างเรื่องสร้อย ถ้าจบเหมือนในหนังสือก็ได้ แต่เราก็เอาเรื่องราวมาต่อยอดให้เห็นถึงความรัก อย่างตอนที่นางเอกยืนยันจะใส่สร้อยชิ้นเดียวไปงาน บอกเป็นนัยยะว่า เกศสุรางค์ให้ความสำคัญกับสร้อยเส้นนั้นมาก หรือตอนที่สร้อยขาด แล้วพระเอกขันอาสานำไปร้อยให้” ศัลยา เล่าถึงบทที่เสริมเข้าไป

ฮาได้ ฮาดี

ละครต้องมีครบทุกรส ไม่เว้นแม้กระทั่งบทฮา เพียงแต่จะฮาแบบไหน โดยเฉพาะบทโต้ตอบระหว่างบ่าวกับนาย

“เวลาเขียนบท เราจะไหลไปกับตัวละคร ไม่ว่า อีปริก จิก จวง จ้อย เราเขียนเหมือนเป็นตัวละครตัวนั้น เขาโศก เขาทะเลาะกัน เราเป็นคนเขียน ก็รู้สึกไปด้วย และรู้สึกมากด้วย โดยเฉพาะฉากเสียใจ”

มือเขียนบทชั้นครู เล่าต่อว่า ตัวละครทั้งหมด ปั้นออกมาเหมือนเอาวิญญาณเราใส่เข้าไป บทพวกบ่าวจะพูดจาบ้าบอคอแตกอะไรก็ได้

“แทบทุกเรื่องที่เขียนบทบ่าว เราจะสนุกมาก อย่างสมัยก่อนเขียน นางทาส หรือ คือหัตถาครองพิภพ จำไ้ด้ว่าในเรื่องนี้ในบ้านท่านเจ้าคุณจะมีทั้งครัวไทยและครัวฝรั่ง กุ๊กจีนและกุ๊กฝรั่งคนเดียวกัน ตอนนั้นพูลสวัสดิ์ ธีมากร รับบทนั้น คนแสดงสนุกมาก คนเขียนบทก็สนุก โดยเฉพาะละครย้อนยุคจะถกเถียงกันแรงๆ มึงๆ กูๆ ซึ่งเป็นถ้อยคำธรรมดา” ศัลยา กล่าว และโดยนิสัยส่วนตัว เธอก็ไม่ใช่คนเคร่งขรึม เงียบเฉย 

“เราเองก็เป็นคนชอบโต้ตอบ โดยเฉพาะกับเพื่อนๆ เฉือดเฉือน จิกกัดกันได้”

      ส่วนอรรถรสความสนุก นั่นเป็นเรื่องฝีมือล้วนๆ ศัลยา เล่าถึงแนวทางการเขียนของเธอว่า ก่อนเขียนต้องมั่นใจ ถ้าไม่มั่นใจ ไม่เขียนจะทิ้งไว้ก่อน จนกว่าจะคิดออกว่า จะเขียนยังไงให้สนุกและโดนใจ

“ถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่สนุก ก็ฉีกทิ้ง ถ้าเขียนไม่สนุก ดาราก็เล่นไม่สนุก ผู้กำกับก็ไม่สนุก อะไรที่เขียนลงไปจะมั่นใจว่า ใช้ได้แน่นอน”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บุพเพสันนิวาสจึงมีทั้งรัก ฮา เชิงสังคม และการเมือง

“เรื่องนี้ชูความรัก เป็นบุพเพสันนิวาส รักที่มาจากความร่าเริงของนางเอก ความไม่ทุกข์ร้อน ความน่าขำของนางเอก โรแมนติกคอมเมดี้ โดยมีบริบทสังคมสมัยนั้น ทั้งเรื่องการเมืองและศาสนา”

 

ประวัติศาสตร์ต้องค้น

หลายคนคงจำฉากเผาพระคลังสินค้าได้ดี เรื่องนี้ คนเขียนบทอธิบายบริบททางการค้าสมัยนั้นให้ฟังว่า มีลักษณะผูกขาด อยากให้คนดูเห็นว่า สมัยนั้นขุนหลวงค้าขายแบบไหน และพระองค์เป็นเจ้าของสินค้าด้วย

“ตอนที่มีการเผาพระคลังสินค้า ในหนังสือบอกว่า อยู่ๆ ตัวละครเอกทั้งสามคน ก็ลงเรือไปเผาพระคลังสินค้า แล้วก็กลับมา พูดแค่ว่า พวกฝรั่งจะถูกใส่ร้ายว่า เผาพระคลังสินค้า ถ้ามีการพูดว่า ฟอลคอนเผา ก็แสดงว่า เขาทำความผิดบางอย่าง ก็จะมีการสืบค้นต่อไปว่า ความผิดอะไร แล้วก็จะพบว่า เขาร่วมมือกับเพื่อนสองคน เพื่อคดโกงบริษัทค้าขายของอังกฤษ”

 ศัลยา เล่าถึงละครเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนและต้องค้นคว้าเยอะ เมื่อค้นคว้าไปแล้ว มีทั้งข้อมูลที่คัดค้านและตรงกันข้าม อย่างเช่น บุคลิกของคอนสแตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) หรือเหตุการณ์ตอนที่พระนารายณ์ใกล้จะเสด็จสวรรคต 

“เวลาเสนอออกไป ก็ต้องมีหลักฐาน ต้องหาหลักฐานหลายแบบ เราก็ค้นจนกว่าจะเจอสิ่งที่เราอยากได้ ซึ่งเร่ื่องนี้ตัวละครมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ สมเด็จพระนารายณ์,พระเพทราชา,หลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ, คอนสแตนติน ฟอลคอน ฯลฯ ”      

เมื่อถามว่า บุคลิกของฟอลคอนในละครทีวีดูร้ายมาก แล้วหลักฐานในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร

“ไม่มีใครรู้ ก็เขียนตามนวนิยาย แล้วค่อยๆ หารายละเอียดเพิ่ม มีีหนังสือที่บาทหลวงเขียนถึงพระยาวิชาเยนตร์ไว้เยอะ มีทั้งขาวและดำ คนที่เขียนถึงเขา ถ้าเป็นคนดี ก็เห็นเขาในแง่มุมที่ดี ถ้าคนที่เห็นเขาเป็นคนไม่ดี ก็เขียนแง่มุมนั้นออกมา

มุมที่ดีของเขา เราวัดจากที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพอพระทัยเขา แปลว่า สิ่งที่เขาทำ ก็เป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า เขาก็คงมีมุมดีๆ และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเรา สิ่งที่ไม่ดีก็มีหลักฐานชัดเจนว่า เขาอยากให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส เราก็เอามาประมวลรวมกันและเอาหลักฐานที่แน่ใจที่สุดมาเขียนเรื่องนี้”

เธอบอกว่า บางตอนมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์น้อยมาก จึงต้องขยายความ

"สมัยนั้นสมเด็จพระนารายณ์มีพระราชกรณียกิจหลายอย่างที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาก้าวหน้า ทั้งเรื่องการค้า การก่อสร้าง ถนนหนทาง สิ่งประดิษฐ์ และความเจริญด้านสถาปัตยกรรม มีชาวต่างชาติเข้ามารับราชการเป็นผู้ชำนาญการ ทำให้ราชสำนักมีความก้าวหน้า แต่อีกแง่มุมหนึ่ง สิ่งที่พระองค์ทรงทำบางอย่าง ก็ไม่ได้เหมาะกับบ้านเมือง ยินยอมให้ชาวต่างประเทศมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเยอะ ยอมให้ฝรั่งเศสเอาทหารและปืนใหญ่เข้ามา

โดยเฉพาะตอนที่สมเด็จพระนารายณ์อยากให้สร้างป้อมปราการ เพราะฟอลคอนเป็นคนเล่าให้สมเด็จพระนารายณ์ฟังว่า เมืองยุโรปมีป้อมปราการ มีปืน มีน้ำพุ พระองค์ก็คงมีหัวทันสมัยพอสมควร ก็เลยอยากให้กรุงศรีอยุธยามีแบบนั้นบ้าง”

 

การเมืองสมัยสมเด็จพระนารายณ์

เหมือนเช่นที่กล่าวมา บุพเพสันนิวาส มีครบทุกรส และส่วนที่ขาดไม่ได้ ก็คือ การเมืองแห่งยุคสมัย

ศัลยา เล่าว่า บทส่วนนี้ต้องเขียนเพิ่มขึ้น เพราะนวนิยายเขียนไว้อย่างรวบรัด ไม่มีบทสนทนาเป็นฉากๆ ไม่มีสถานที่และภาพใดๆให้เห็น มีแต่การบรรยาย

“แม้จะเป็นละครที่ทำให้คนหัวเราะ มีความสุข ก็ต้องเพิ่มส่วนนี้เข้าไป เพื่อไม่ให้ละครเบาเกินไป ตอนที่เพิ่มเข้ามาคือ ประวัติศาสตร์ช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์จะเสด็จสวรรคต ,ตอนพระเพทราชาไม่พอใจพวกฝรั่ง และฟอนคอลก็ทำอะไรหลายอย่างที่หยามหมิ่นคนกรุงศรีอยุธยา ทูลพระนารายณ์ให้สึกพระออกมาช่วยสร้างป้อมปราการ และพระองค์ทรงอนุญาติให้นำทหารต่างชาติเข้ามา ซึ่งพระเพทราชาก็ทูลว่า พระองค์ไม่กลัวหรือที่อนุญาตให้ทหารต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา”

โดยเฉพาะฉากวิวาทะระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับพระเพทราชา เป็นฉากที่ดีมาก คนเขียนบทบอกว่า มีประมาณ 4-6 ฉาก เขียนขึ้นจากบริบทของเหตุการณ์ เพื่อให้คนดูเห็นว่า ฟอลคอน มีบทบาทต่อกรุงศรีอยุธยามาก 

“พระเพทราชาเกลียดฝรั่งและฟอลคอนมาก สมเด็จพระนารายณ์สนับสนุนพวกฝรั่งเศส ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องปะทะกัน เป็นฉากที่สนุก เพราะเราเห็นแล้วว่า ทั้งสองคนสวมบทบาทได้ดีมาก”

 ส่วนฉากประหารชีวิตฟอลคอน ฉากพระนารายณ์เสด็จสวรรคต และฉากที่พระเพทราชาเข้าวังเพื่อว่าราชการแทน ศัลยา บอกว่า ในละครจะแค่กล่าวถึง จะไม่ได้เห็นฉากเหล่านั้น  

"ถ้าเรื่องใดที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ใช่หรือไม่ใช่ เราจะไม่นำเสนอ และต้องบอกก่อนว่า สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้เข้ารีต(การเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาเดิมไปนับถือศาสนาอื่น) เพราะพระองค์เคยรับสั่งว่า “ถ้าพวกเอ็งที่นับถือศาสนาคริสต์เปลี่ยนมานับถือศาสนาของข้า จะถือว่าเป็นคนโกง คบไม่ได้ทีเดียว”