ของเล่น...ไม่ใช่เล่นๆ

ของเล่น...ไม่ใช่เล่นๆ

เมื่อการเล่นคือการเรียนรู้ แต่เครื่องมือสำหรับเล่นกลับค่อยๆ ถูกลดทอนบทบาทลง สถานการณ์ของ ‘ของเล่น’ เครื่องมือการเรียนรู้ที่สมวัยที่สุดจะเป็นอย่างไรต่อไป

            เด็กน้อยจับจดอยู่กับหน้าจอแทบเล็ต, พ่อแม่ที่กำลังง่วนอยู่กับการจิ้มๆ รูดๆ สมาร์ทโฟนโดยไม่ปฏิสัมพันธ์กับลูกหลานที่นั่งอยู่ข้างๆ

            ...เหล่านี้กลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา หลายคนมองเป็นเรื่องธรรมดา จนหลงลืมไปว่าในมือของเด็กเหล่านั้นควรจะเป็นของเล่นสักชิ้นที่เสริมสร้างพัฒนาการ และพ่อแม่ก็ควรจะเล่นด้วยหรืออย่างน้อยก็พูดคุยกับลูก

 

  • เล่น Gen ใหม่

            ถึงแม้จะมีสิ่งที่ ‘ควรจะเป็น’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย อย่างกรณีร้านขายของเล่นระดับบิ๊กเนมของโลก ‘Toy R Us’ ประกาศปิดกิจการในสหรัฐอเมริกา จากหลายเหตุปัจจัย ทว่ารากฐานของทุกเหตุผลล้วนเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล เช่น คนนิยมชอปปิงออนไลน์เป็นหลัก (หน้าร้านจึงหมดความสำคัญ), พฤติกรรมผู้บริโภคหันไปให้ความสนใจ Gadget ทันสมัยมากกว่าของเล่น Low-Technology และอีกต่างๆ นานา แม้กระทั่งเรื่องที่บางคนมองข้ามไป คือ จำนวนการเกิดลดลง จำนวนประชากรลดลง

            การเกิดลดลงกลายเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามหลายประเทศทั่วโลก เพราะส่งผลให้หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่จะขาดแคลนบุคลากรรุ่นใหม่ๆ อย่างในประเทศไทยเองจากสถิติการเกิด โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก็มีตัวเลขที่บ่งชี้ว่าจำนวนประชากรและจำนวนการเกิดลดลงต่อเนื่อง จากปี พ.ศ.2550 มีการเกิดทั้งชายและหญิง 811,384 คน พอถึงปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมากลับเหลือเพียง 702,755 คน การเกิดน้อยลงหมายความว่าเด็กน้อยลง เมื่อเด็กน้อยลงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็กจึงต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ส่วนใครปรับไม่ได้ก็มีอันต้องโบกมือลา

            ส่วนเด็กยุคนี้จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูกเลี้ยงดูแบบเอาง่ายเข้าว่า คือพ่อแม่มักจะหยิบยื่นอะไรก็ได้ที่ทำให้ลูกอยู่นิ่งได้นานๆ โดยไม่สนใจว่านั่นอาจกระทบกระเทือนต่อพัฒนาการของเด็ก

            “มีข้อมูลระบุว่าเด็กบ้านเรามีพัฒนาการช้ากว่าที่ควร 10-20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่พ่อแม่ปล่อยลูกให้อยู่กับเทคโนโลยีเยอะ รวมถึงพ่อแม่อาจจะไม่ค่อยมีเวลากระตุ้นพัฒนาการ มีเด็กพูดช้า มีเด็กที่ทักษะทางสังคมช้ากว่าวัย นับว่าเป็นปัญหานะคะ” พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี หรือ ‘หมอโอ๋ แอดมินเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน’ จั่วหัวด้วยความห่วงใย เพราะปัญหาที่เด็กกำลังเผชิญไม่ใช่เพราะตัวพวกเขาเองอย่างเดียว แต่ต้นตอคือพ่อแม่ด้วย

            “เทคโนโลยีไม่ได้มีบทบาทแค่เฉพาะกับเด็ก แต่มีบทบาทกับพ่อแม่ด้วย คือตอนนี้พ่อแม่ก็ก้มหน้าอยู่กับหน้าจอเยอะ ทำให้เวลาที่อยู่กับลูก การปฏิสัมพันธ์กับลูกก็ลดลง มีงานวิจัยต่างประเทศพบว่าพ่อแม่ที่ก้มหน้าอยู่กับสื่อเทคโนโลยีเยอะจะส่งผลกับเรื่องพฤติกรรมในเด็ก เด็กจะก้าวร้าวเยอะขึ้น ดื้อมากกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ใช้เวลากับสื่อเทคโนโลยีเยอะ”

            นอกจากนี้ยังมีปัญหาตามมาอีกมากมาย อาทิ ขาดการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ขาดทักษะภาษา เด็กสมาธิสั้น ซึ่งจริงๆ แล้วการหยิบยื่นสื่อเทคโนโลยีให้เด็กก็ควรมีพ่อแม่คอยแนะนำ แต่หมอโอ๋บอกว่าปัญหาของเด็กไทยคือพ่อแม่ก็อยู่หน้าจอ จึงหยิบยื่นสื่อเทคโนโลยีให้เด็กโดยไม่ควบคุม จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กหลายคนติดงอมแงม

            “เคยมีเคสเด็กมาด้วยอาการเหมือนออทิสติก คือ พูดช้า ไม่มองหน้าสบตา เวลาพูดเหมือนมาจากไดอะล็อกบนสื่อเทคโนโลยี พ่อแม่ก็บอกว่าลูกร้อง A B C ได้หมดเลย แต่จริงๆ เด็กไม่ได้เข้าใจความหมาย พ่อแม่ก็บอกว่าเขาปล่อยไว้กับสื่อเทคโนโลยีทั้งวัน เพราะเห็นว่าลูกดูแล้วร้อง A B C ได้ แต่จริงๆ พ่อแม่ไม่เข้าใจว่านั่นไม่มีความหมาย มันคือการท่องจำแบบที่สมองไม่ได้เรียนรู้เรื่องความเข้าใจทางภาษาจริงๆ”

            แต่ Gadget ยุคใหม่ ก็ไม่ใช่ผู้ร้ายไปเสียหมด เพราะอีกมุมหมอโอ๋ก็มองว่าของเหล่านี้เป็นของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กชนิดหนึ่งได้ เพียงแต่พ่อแม่ต้องรู้ว่าเมื่อเล่นก็ควรจะใช้เพื่อมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ไม่ใช่จดจ่ออยู่กับหน้าจอตัวเอง มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ระยะเวลาที่เด็กใช้กับหน้าจอ สัมพันธ์กับระยะเวลาเล่นของเล่นหรือเล่นกับพ่อแม่ที่น้อยลง ในทางกลับกันระยะเวลาที่พ่อแม่อยู่หน้าจอก็สัมพันธ์กับระยะเวลาเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกลดลงชัดเจน

            เมื่อสัมพันธ์กันแบบนี้จึงน่าคิดว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ควรจะเลือกแบบไหนดี...

 

  • ของเล่นนั้นสำคัญไฉน?

            ในมุมมองคนรักของเล่นอย่าง โอม - ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวงค็อกเทล แม้เขาจะเน้นหนักไปในสายพลาโม (Plastic Model) และวอร์แฮมเมอร์ (Warhammer) ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ต้องใช้ทักษะศิลปะและการเล่นค่อนข้างซับซ้อน แต่ของเล่นทุกรูปแบบล้วนเป็นสิ่งที่เขาสนใจ ความสำคัญของของเล่นจึงไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

            “เด็กต้องมีพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อมัดต่างๆ กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อในการเดิน หัดจับ หัดคิด หัดต่อ หัดประกอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ของเล่นมีผลต่อพัฒนาการของเด็กอยู่แล้ว ช่วยต่อเติมจินตนาการที่จับต้องได้”

            สิ่งที่นักร้องหนุ่มกล่าวไปในทางเดียวกันกับที่หมอโอ๋อธิบายเพิ่มว่าไม่ใช่แค่ ‘ของเล่น’ ที่สำคัญ แต่เป็น ‘การเล่น’ ทั้งหมด

            “ไม่ใช่แค่ของเล่น แต่เป็นการเล่นที่เป็นหัวใจสำคัญของพัฒนาการเด็ก เพราะเด็กจะเรียนรู้ มีพัฒนาการด้านสมอง พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก ภาษา และทักษะทางสังคม ก็จะผ่านการเล่น ส่วนของเล่นเป็นเหมือนตัวเสริมที่จะทำให้การเล่นสนุกขึ้น”

            คุณค่าของของเล่นในกลุ่มเด็กปกติอาจช่วยสร้างความบันเทิงและเสริมพัฒนาการ แต่ในกลุ่มเด็กพิเศษ ของเล่นคือเครื่องมือเยียวยาพวกเขา

            ฤชาญุภักดิ์ เวชกามา นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย (นักแก้ไขการพูด) แผนกหู คอ จมูก รพ.ขอนแก่น เล่าว่ามีเด็กจำนวนมากกว่า 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ เข้ามารับการรักษาอาการพูดล่าช้า ด้วยสาเหตุหลักคือพ่อแม่ให้เล่นโทรศัพท์หรือแทบเล็ตมากเกินไป อีกที่เหลือเกือบทั้งหมดคือจากภาวะออทิสติก, ดาวน์ซินโดรม และปัญหาระบบประสาทเกี่ยวกับการพูด เช่น สมองพิการ ซึ่งการจะทำให้เด็กพูดก็ต้องกระตุ้นผ่านการเล่น

            “ถ้าให้เด็กมานั่งแล้วพูดตาม เด็กจะไม่ชอบ จึงต้องเล่น โดยให้เด็กเล่นร่วมกับเรา ให้เด็กสนใจคนเล่น ของเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเราจะเลือกของเล่นให้ตรงกับช่วงวัย เช่น แรกเกิดถึง 9 เดือน จะเป็นของเล่นที่เน้นมีเสียง เช่น ตุ๊กตาบีบมีเสียงเพื่อกระตุ้นการฟัง ลูกบอลผ้ากระตุ้นการมอง หรือโตขึ้นมาประมาณ 1 – 1.6 ปี เด็กเริ่มเข้าใจความหมายคำว่าข้างในแล้ว ก็จะชอบเล่นของเล่นที่เทออกได้ จับใส่เข้าไปได้ เป็นต้น”

            ของเล่นทั้งหมดที่นำมาใช้รักษาทั้งหมดเป็นของเล่นแบบ Low Technology เพราะของเล่นที่ดีไม่ได้แปลว่าเป็นของเล่นราคาแพง ทั้งหมอโอ๋และนักแก้ไขการพูดบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงที่สุดแล้วพ่อแม่คือ ‘จุดเปลี่ยน’

            แต่ทั้งคู่ก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนทัศนคติพ่อแม่เป็นโจทย์สุดหิน พ่อแม่หลายคนรับรู้ปัญหา แต่หลายบ้านประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ต้องกลับบ้านดึก ต้องทำโอที เสาร์-อาทิตย์ทำงาน เด็กถูกเลี้ยงโดยปู่ย่าตายาย พอเด็กซนก็หยิบยื่นเทคโนโลยีเพราะรู้สึกว่าทำให้เลี้ยงง่ายขึ้น

            “หน้าที่สำคัญของเด็กจริงๆ ไม่ใช่การเรียนนะคะ แต่เป็นการเล่น และการเล่นช่วยพัฒนาสมองของเด็กได้ดีกว่าการเรียนแบบนั่งคัด ท่องจำ อย่างมาก และของเล่นที่ดีที่สุดของเด็กคือพ่อแม่ ไม่ต้องมีเงินเยอะ เอาตัวเองไปเล่นกับลูกเยอะๆ ช่วยได้มาก อ่านนิทาน เล่นอะไรง่ายๆ เล่นดินเล่นทรายเล่นก้อนหิน” หมอโอ๋บอก

 

  • ของเล่นชิ้นสุดท้าย?

            เด็กก็คือเด็ก...ประโยคนี้อาจจะช่วยอธิบายได้ว่าทำไมของที่อยู่ในมือเด็กยุคนี้จึงเป็นสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตมากกว่าจะเป็นของเล่นทั่วไป เพราะอะไรก็ตามที่เด็กเล่นแล้วสนุก เด็กย่อมเลือกสิ่งนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน ยิ่งสื่อเทคโนโลยีมีแต่แรงกระตุ้นทั้งภาพ เสียง มีการเคลื่อนไหว เด็กย่อมชอบเป็นธรรมดา แต่หมอโอ๋ก็มั่นใจว่าของเล่นปกติจะไม่สูญพันธุ์ไป เพราะในความไม่ตระหนักของพ่อแม่บางกลุ่ม ยังมีอีกบางกลุ่มที่ตระหนักถึงความสำคัญของของเล่น

            “จริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้มันทดแทนกันไม่ได้ การเล่นโดยการหยิบจับ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ร้อยเชือก ปีนต้นไม้ มันทดแทนไม่ได้ด้วยการกดปุ่มหรือเลื่อนหน้าจอ”

            ด้าน โอม ค็อกเทล มองว่าแม้เทคโนโลยีจะเกี่ยวพันกับการเรียนรู้ของเด็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทดแทนกันได้ เขายกตัวอย่างผ่านการล่มสลายของ Toy R Us ก็เพราะปรับตัวตามเทรนด์ออนไลน์มาร์เก็ตไม่ทัน เพราะฉะนั้นสื่อเทคโนโลยีจึงไม่ทำร้ายของเล่นเท่ากับการรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยีของคน

            “กับคำถามที่ว่าเมื่อมีสื่อดิจิทัลเข้ามาของเล่นจะหมดไปไหม ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะผมรู้สึกว่ามันแทนกันไม่ได้ และผมไม่รู้สึกว่าตลาดของเล่นเด็กกระทบกระเทือนอะไร อย่างผมมีลูก ก็เห็นมีกลุ่มแม่ๆ รวมตัวกันซื้อของเล่น จึงไม่เห็นว่าตลาดของของเล่นจะลดลงตรงไหน เพราะอย่างที่บอกว่าเราต้องการให้เด็กหัดเดิน แทบเล็ตช่วยให้เด็กหัดเดินได้หรือเปล่า? แต่ถ้าให้เด็กแบ่งแยกสี นับเลข ก็อาจจะใช่ แต่กับการจับ การบีบ การดึง การสัมผัสที่ต้องใช้แรง ก็ไม่ได้จากแทบเล็ตเหมือนกัน เช่น มีวัยหนึ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยของให้รู้ว่าของมันตก คงไม่มีใครอยากเอาแทบเล็ตราคาสามสี่หมื่นใส่มือลูกแล้วบอกให้ลูกลองปล่อยลงพื้นดูนะ

            มันอาจจะแบ่งส่วนแบ่งการตลาดไปบางส่วน แต่ไม่มากพอจะเป็นสาระ เพราะของบางอย่างถ้าจะกระทบต้องแทนที่กันในฟังก์ชันเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันแทนกันไม่ได้”

            ด้านหมอโอ๋ฝากว่าพ่อแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเอง อย่าคิดว่าสื่อเทคโนโลยีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพราะในประโยชน์ย่อมมีโทษ แล้วจงคิดเสมอว่า ตัวพ่อแม่เองคือของเล่นที่ดีที่สุดชนิดที่เทคโนโลยีทดแทนไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่เล่นกับลูกจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ สร้างตัวตนให้แก่เด็ก และสุดท้ายหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีกติกาในการเล่นสื่อเทคโนโลยีเพื่อไม่ให้ใช้เวลานานเกินไป ซึ่งรวมถึงการเล่นของเล่นปกติด้วย

            “อะไรก็ตามต้องมีกติกา จะเล่นทั้งวัน ไม่นอนก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าการเล่นมีพิษภัยน้อยจึงไม่น่ากลัว จริงๆ การเล่นเยอะๆ นี่ดี แค่ต้องระวังไม่ให้การเล่นเบียดบังเวลาพักผ่อนหรือเวลากิน ซึ่งไม่เหมือนการเล่นกับเทคโนโลยีที่ยิ่งเล่นก็ยิ่งมีโอกาสติดมาก มีโอกาสรับพิษภัยเยอะขึ้น”

          เทคโนโลยีอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงและดึงความสนใจได้ระดับที่หวือหวา น่าตื่นเต้น แต่อย่างไรก็ตามของเล่นยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของพัฒนาการเด็ก เพียงแต่พ่อแม่ต้องไม่ใช่แค่โยนของเล่นให้ลูก