'ประมวล' สวน สศก. เลิกอ้างข้อมูล ควรลงพื้นที่ดูของจริง

'ประมวล' สวน สศก. เลิกอ้างข้อมูล ควรลงพื้นที่ดูของจริง

“ประมวล” สวน สศก. เลิกอ้างตัวเลข ศก. ลั่นควรลงจากหอคอยงาช้างมาดูของจริง

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 61 นายประมวล เอมเปีย อดีตส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า หลังใช้ระบบการตลาดนำการผลิต ทำให้จีดีพีภาคเกษตรไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วทุกสาขาการผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์และประมง ว่า ข้อมูลของ สศก. นั้น สวนทางกับข้อเท็จจริงของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ตนอยากให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯโดยเฉพาะ สศก. ลงจากหอคอยงาช้างไปสำรวจตลาดของจริงกับเกษตรกรตัวจริง อย่าอ้างแต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สวยหรู ว่าจีดีพีไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น เพราะตัวเลขเดิมเปรียบแล้วยังอยู่ในนรก แม้ปัจจุบันก็ยังถือว่าไม่พ้นนรก อยากให้รมว.เกษตรฯผ่าตัดสำนักงาน สศก. ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกของกระทรวงเพราะเปรียบเหมือนฝ่ายเสนาธิการที่เป็นเข็มทิศหลักนำทาง แต่กลับให้ข้อมูลนำพาเกษตรกรไทยหลงทาง จากข้อมูลที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง ตนขอท้าให้รมว.เกษตรฯ ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี และผอ.ศสก.ลงพื้นที่มาดูของจริงว่าเกษตรตัวจริงต้องแบกรับต้นทุนการผลิตภาคเกษตรทั้งสิ้น

นายประมวล กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างปศุสัตว์ หมูเลี้ยงขนาดตัวน้ำหนัก 100 กก. เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนค่าอาหาร ค่ายาขาดทุนตัวละ 2,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ปลานิล ขนาดเฉลี่ยน้ำหนักตัวละ 1กก. ราคาขายหน้าบ่อถูกกดขายที่ กก.ละ36 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่กก.ละ47-48 บาท ขาดทุนต่อกก.เฉลี่ย10-12 บาท หรือแม้แต่กุ้งขาวเลี้ยง ขนาด100ตัวต่อ กก. จับขายหน้าบ่อราคา100-110 บาท/กก. แต่เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่าไฟฟ้าปั้มอ็อกซิเจน รบมถึงค่าแรงงานคนจับ เฉลี่ยที่กก.ละ140-150 บาท ขาดทุน40บาทต่อกก.เป็นอย่างต่ำ

นายประมวลกล่าวอีกว่า ในส่วนยางพารา ต้นทุนผลิตที่กก.ละ60 บาท ขายได้ที่ 40-42 บาท ต่อ กก. ขาดทุนกก.ละ18 บาท เศษยางก้อนราคาเหลือ16-20 บาทต่อกก. จากที่เคยมีราคา20-25 บาท ปาล์มน้ำมันราคากำลังตกเตี้ยเรี่ยดินจากเดิม กก.ละ4 บาท เวลานี้เหลือ2.50-3 บาท/กก. แล้วแต่เกรดที่วัดค่าปริมาณน้ำมัน ซึ่งน่าสังเกตว่าเข้าสู่ฤดูแล้ง ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่แทนที่จะมีราคาสูง แต่กลับมีราคาซื้อต่ำกว่าต้นทุนการบำรุงดูแลรักษา ถือว่าผิดปกติ ที่ยกตัวอย่างมายังไม่รวมพืชเศรษฐกิจหลักอย่าง ข้าว มันสำปะหลังและผักสดตามฤดูกาลที่ถูกกดราคาซื้อ จนเกษตรกรตัวจริงขาดทุนมีแต่หนี้สินเดือดร้อนทั่วหน้า จึงขอให้สศก.เลิกมั่วรายงานข้อมูลรายงานผู้ใหญ่ตีปี๊บสร้างภาพได้แล้ว