รัฐใช้อีเพย์เม้นท์100%มิ.ย. แทนจ่ายเงินสด2แสนล้าน

รัฐใช้อีเพย์เม้นท์100%มิ.ย. แทนจ่ายเงินสด2แสนล้าน

กรมบัญชีกลางกดปุ่มใช้อีเพย์เม้นท์กับหน่วยงานรัฐ 7 พันแห่งทั่วประเทศ คาดทดแทนการจ่าย-รับผ่านเช็คและเงินสดได้ 100% ในมิ.ย.นี้

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภาครัฐได้เริ่มให้หน่วยงานราชการสั่งจ่ายเงิน และรับชำระเงินค่าบริการต่างๆผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเพย์เม้นท์แล้วตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยธนาคารกรุงไทยได้ทยอยติดตั้งเครื่องรับชำระบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรืออีดีซี (EDC)ให้กับหน่วยงานรัฐ 7 พันแห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะติดตั้งครบในเดือนพ.ค.นี้ทำให้สามารถใช้อีเพย์เม้นท์ทดแทนการจ่ายและรับด้วยเงินสดและเช็คในหน่วยงานภาครัฐได้ 100% ภายใน 3 เดือน หรือภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งปีนี้มีงบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.4 แสนล้านบาท

ในระยะแรกทุกหน่วยงานราชการต้องติดตั้งเครื่องอีดีซี เพื่อรับชำระเงินให้ครบทุกแห่ง และระยะต่อไป บางแห่งที่เป็นหน่วยงานใหญ่ๆ อาจจะมี 2-3 เครื่อง คาดว่าจากนี้ไปจำนวนติดตั้งเครื่องอีดีซีในหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 1 หมื่นเครื่อง และไม่เฉพาะการรับเงินหน้าบ้านเท่านั้น การรับจ่ายเงินหลังบ้านระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน เช่น การนำส่งภาษีของหน่วยงานต่างๆ ไปยังคลังจังหวัด หรือการรับเงินจากคลังจังหวัด ใช้วิธีการโอน จากเดิมส่งเป็นเช็ค

“เดิมทีหน่วยงานราชการใช้ระบบอีเพย์เม้นท์น้อยมาก แต่หลังจากมีการติดตั้งเครื่องอีดีซีซึ่งประชาชนสามารถชำระเงินได้หลายช่องทาง ทั้งบัตรเดบิต บัตรเดรดิต คิวอาร์โค้ด รวมถึงบัตรชำระเงินแบบอี-มันนี่ จะทำให้ยอดการใช้ค่อยๆเพิ่มขึ้น และหวังว่าในที่สุดจะสามารถทดแทนการจ่ายและรับเงินสดหรือเช็คได้100%”

นอกจากการใช้อีเพย์เม้นท์ในภาครัฐแล้ว ต่อไปการจ่ายเงินสวัสดิการต่างๆของภาครัฐให้กับประชาชนกว่า 10 ล้านคน ก็จะใช้ระบบอีเพย์เม้นท์เช่นเดียวกันผ่านบัตรสวัสดิการ และการโอนเงินพร้อมเพย์ ก่อนหน้านี้ได้เริ่มทดลองใช้ในการจ่ายเงินเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดจำนวน 3-4 แสนราย โดยในเดือนเม.ย.นี้จะเริ่มใช้กับการจ่ายเงินสวัสดิการให้กลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการผ่านระบบออนไลน์โดยเริ่มกับผู้สูงอายุและคนพิการในกทม.มีจำนวน 1 ล้านคนก่อน หลังจากนั้นขยายไปยังคนพิการและผู้สูงอายุทั่วประเทศ มีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน

“การจ่ายและรับเงินผ่านระบบอีเพย์เม้นท์ ช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เพราะถ้าไม่มีการจับเงินสด โอกาสทุจริตก็น้อยลง ช่วยแก้ปัญหาได้ อีกทั้งยังมีความปลอดภัย ไม่ต้องพกพาเงินสดจำนวนมากๆ นอกจากการใช้ในหน่วยงานภาครัฐแล้วยังจะมีการขยายไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย”