ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศสธ. พื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศสธ. พื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561 ส่งผลกระทบการดำรงชีพ-สุขภาพ

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ กระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561 โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุม เหตุรำคาญ เพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญที่ส่งผลกระทบ ต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขจึงออกประกาศไว้ อาทิ ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในประกาศนี้ “เหตุรำคาญ” หมายความว่า เหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข “พื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ” หมายความว่า พื้นที่ที่ปรากฏเหตุรำคาญเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชนจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก และครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยต้องมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่มีสถานประกอบกิจการใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของเหตุรำคาญนั้น มากกว่า 1 แหล่งขึ้นไป “สภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน” หมายความว่า สภาพของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพ หรือเคมีที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของประชาชน และหมายความรวมถึงสภาวะที่ไม่ทำให้เกิดการรบกวนต่อความเป็นปกติสุขของประชาชน

ข้อ 4 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุรำคาญเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และ ข้อ 5 การประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ต้องมีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ ดังนี้ 1.มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น 2.แหล่งกำเนิดเหตุรำคาญตาม ทั้งที่เป็นสถานประกอบกิจการ หรือการกระทำใด ๆ ต้องมีจำนวน มากกว่า 1 แหล่งขึ้นไป 3. มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพหรือผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นจำนวนมาก โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวลงนามโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

-ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเปรียบเทียบของคณะกรรมการเปรียบเทียบและเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมอบหมาย พ.ศ. ๒๕๖๑

-ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรําคาญ พ.ศ. ๒๕๖๑