ชิ้นส่วนฯรุกธุรกิจใหม่ บริหารเสี่ยงศก.ผันผวน 

ชิ้นส่วนฯรุกธุรกิจใหม่ บริหารเสี่ยงศก.ผันผวน 

เมื่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ยากที่จะโตด้วยตัวเลข“สองหลัก” จาก“ฐานสูง-เศรษฐกิจผันผวน" เหล่าผู้ประกอบการจำต้อง แตกไลน์“ธุรกิจใหม่”เสริมทัพ หนึ่งในดาวเด่น ยกให้ “พลังงานทางเลือก & เครื่องสำอาง”

ด้วยธรรมชาติของ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์” มีวัฏจักรธุรกิจ (cycle) ขึ้น-ลง ตามทิศทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศและโลกที่ผันผวน ทำให้ธุรกจิต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากกำลังซื้อที่สวิงมาโดยตลอด..!!!

สะท้อนเห็นภาพชัดเจน ว่า ช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก ราว10%ขึ้นไป” ตรงกันข้ามหากเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวอุตสาหกรรมนี่จะเติบโตด้วยตัวเลขหลักเดียว ราว 5-8%”

เมื่อธุรกิจผลิตรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีปัจจัย“บวกและลบ” ขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลก ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการต้อง ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ กระจายความเสี่ยงเพื่อให้บริษัทมีการเติบโตต่อเนื่องไม่ขึ้นลงหวือหวา

อภิชาติ การุณกรสกุล กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น หรือ APCS เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเป็นตัวเลขสองหลักหากลองย้อนดูกราฟการเติบโตจะเห็นเส้นกราฟมีลักษณะวิ่งขึ้นต่อเนื่อง

ทว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไม่ได้มีการโต ระดับสูง” เหมือนในช่วงที่ผ่านมาเพราะขณะนี้ตลาดเมืองไทยมีฐานการผลิตใหญ่แล้ว สะท้อนผ่านจำนวนการผลิตรถยนต์ในเมืองไทย ที่เคยมียอดการผลิตรถยนต์ขึ้นไปแตะ“2ล้านคันต่อปี” ก่อนจะปรับตัวลดลดงในปีถัดมา โดยในปี 2560 ยอดผลิตรถยนต์เมืองไทยพาดเป้าไม่ถึง 2 ล้านคัน และในปีนี้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์กำลังเต็มที่ก็จะไต่ระดับกลับไปที่ยอด 2 ล้านคัน ไม่มากไปกว่านี้ 

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำตอบที่ว่า ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จำต้องปรับพอร์ตรายได้” (Diversify) ให้น้อยที่สุด อย่างกรณีของบมจ.เอเชีย พรีซิชั่นที่เข้ามาดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business) นอกเหนือจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อให้บริษัทมีการเติบโตมากกว่านี้ 

อภิชาต บอกต่อว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ในช่วงขาลง แต่กลับมาอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตแบบ โดดเด่น” นั่นคือ ธุรกิจพลังงานทางเลือก” ตอนนั้นนักลงทุนสนใจในธุรกิจดังกล่าวจำนวนมากทำให้มีการลงทุนพลังงานทางเลือกจำนวนมาก

ขณะที่เอเชีย พรีซิชั่นไม่ได้ต้องการเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก แต่บริษัทต้องการเป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือก หลังจากบริษัทเห็นความต้องการ (Demand) จำนวนมหาศาล และนั่นคือ การ Diversify เข้ามาเป็นผู้ประกอบการ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือก

เราลงทุน Diversify เข้ามาในธุรกิจที่กำลังอยู่ในเทรนด์ของเมืองไทยและทั่วโลก ที่ทุกประเทศกำลังสนับสนุนให้มาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น” 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจพลังงานทางเลือกมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ผ่านรายได้ที่บริษัทรับรู้ในปี 2560 ที่มีรายได้ 300 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของรายได้รวม และคาดว่าในปี 2561 บริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือกราว 1,500 ล้านบาท จากมูลค่างานในมือ (backlog) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท

โดย ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์คิดเป็นสัดส่วน 75% และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือกและธุรกิจสาธารณูปโภคคิดเป็นสัดส่วน 25%ของรายได้รวม 

เราเริ่มมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังปี 2559 และปี 2560 มีรายได้ 300 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 1,500 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตเกือบ 5 เท่าตัว และคาดว่าจะขึ้นมาเป็นธุรกิจหลักของบริษัทในปีนี้ด้วย

เขาด้วยบอกว่า ในอนาคตศักยภาพของการเติบโต 2 ธุรกิจไม่เท่ากัน โดยธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีโอกาสเติบโตในตัวเลขหลักเดียวนอกจากกรณีที่ไป ซื้อกิจการ หรือมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่ม

แม้ว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังฟื้นตัว แต่ในแง่ของการลงทุนของบริษัทคงไม่มีการลงทุนใหม่ๆ อาจจะเป็นเพียงการลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้เงินลงทุนต่อปีราว 50-100 ล้านบาทเท่านั้น

ปีก่อน บริษัทมียอดขายธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ที่ 980 ล้านบาท ปีนี้คาดว่ายอดขายทะลุ 1,000 ล้านบาท ซึ่งอนาคตธุรกิจก็จะเติบโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ การเติบโตจะอยู่ในเลขหลักตัวเดียว

ขณะที่ ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือก จะมีศักยภาพในการเติบโตมากกว่า เห็นได้จาก คำสั่งซื้อ” (Order) ที่ลงนามสัญญากับลูกค้าเรียบร้อยแล้ว เฉพาะในกลุ่มพลังงานทางเลือกสาธารณูปโภค โดยมีมูลค่างานในมือกว่า 2,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะรับรู้รายได้ในปีนี้ 1,500 ล้านบาท ซึ่งหากดูปีก่อนยอดขาย 300 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เท่ากับยอดขายเติบโต “5เท่าตัว

ดังนั้นในปีนี้มีโอกาสเห็นสัดส่วนรายได้ก่อสร้างพลังงานทางเลือกราว 60% และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เหลือ 40%”

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังทำทั้ง 2 ธุรกิจ แต่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือกจะขึ้นมา โดดเด่นมาก" เพราะว่ามีอัตราการเติบโตที่สูงและเร็ว ฉะนั้น ในอนาคตสิ่งที่จะได้เห็นและขับเคลื่อนหลักของบริษัทเป็นหลักจะมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือก

ทั้งนี้ อนาคตธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพลังงานทางเลือกยังมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล ถ้าหากมองลักษณะโรงไฟฟ้าขยะซึ่งปีนี้บริษัทได้โครงการใหญ่ และยังมีโครงการใหญ่อีกมาก ซึ่งตามนโยบายรัฐที่สนับสนุนให้แต่ละจังหวัดแปลงขยะให้เป็นพลังงาน ซึ่งโปรเจคประเภทดังกล่าวก็จะทยอยออกมาในตลาดมากขึ้น ซึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปรับเหมาก่อสร้างงานดังกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมี ธุรกิจขายน้ำดิบ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายน้ำดิบได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2561 ให้กับบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW จำนวน 8-12ล้านคิวต่อปี สัญญา 30 ปีโดยจะเป็น รายได้ประจำ” (Recurring Income) เข้ามาอย่างสม่ำเสมอคาดว่าในปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้ราว 2% ของรายได้รวม

ปีนี้ธุรกิจยานยนต์เติบโตต่อเนื่อง แต่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคจะเป็นดาวเด่น มีงานในมือเป็นจำนวนมากทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ธุรกิจขายน้ำดิบเริ่มรับรู้รายได้ ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น

ด้าน วศิน ดำรงสกุลวงษ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บมจ.อินเตอร์ไฮด์ หรือ IHL ผู้ประกอบการธุรกิจเบาะหนังรถยนต์ บอกว่า ในแผนธุรกิจบริษัทหันมาเน้นต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น  ล่าสุดได้ตั้งบริษัทลูก นั่นคือ บริษัท อินเตอร์ กรีน จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตโปรตีนจากเศษหนัง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยและทดลองผลิตภัณฑ์ต่อยอดร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ประเภทคอลลาเจน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์จากถ่านไม้

ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้กำไรต่อหน่วยสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางที่ให้กำไรสูงถึง80-90% แม้ว่าจะยังมีความต้องการไม่มากก็ตาม โดยบริษัทคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการทดลองผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มดังกล่าวได้ในช่วงกลางปีนี้ และจะเริ่มลงทุนได้ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนที่จะนำบริษัท อินเตอร์ กรีน จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า เพราะเป็นบริษัทที่มีอนาคตที่ดี และเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นแนวโน้มในอนาคต ที่จะมีความต้องการใช้สูง และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้มาร์จิ้นสูง และเพื่อให้บริษัท อินเตอร์ กรีน จำกัด สามารถมีการระดมทุนได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพา IHL มากเหมือนปัจจุบัน 

การผลักดันบริษัท อินเตอร์ กรีน จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นจะต้องมีรายได้อยู่ที่500-600ล้านบาท โดนในปีที่แล้ว บริษัท อินเตอร์ กรีน จำกัด ยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่ เพราะเพิ่งเริ่มจำหน่ายสินค้าเป็นปีแรก

เขา บอกต่อว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ไนช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2561-2563) เติบโตเฉลี่ย20-30% ต่อปี ซึ่งมาจากการร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าระดับโลกในการขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับปริมาณคำสั่งซื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของหนังเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บริษัทจะเน้นเป็นพิเศษในปีนี้ คือ การทำให้กำไรเติบโตขึ้น ด้วยการหันมาเน้นงานด้านการบริการมากขึ้น ซึ่งงานด้านบริการให้มาร์จิ้นที่สูงถึง 30% โดยงานในส่วนนี้มีสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันอยู่ที่ 50-60% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ที่มาจากงานของกลุ่มยานยนต์กว่า 30% โดยบริษัทตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิปี 2561 ไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อนที่ 13.36% และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่25-30% จากปีก่อนที่ 22.31%

ขณะที่ การขยายกำลังการผลิตของโรงงานฟอกหนัง บริษัทตั้งงบลงทุน 450 ล้านบาท ในช่วงปี 2561- 2562 เพื่อขยายกำลังการผลิตโรงงานฟอกหนังโรงที่ 10 จำนวน 4 เฟส ซึ่งเป็นการขยายกำลังการผลิตการฟอกหนังวัวเพิ่มอีก 3 ล้านตัว ทำให้ในสิ้นปีหน้า บริษัทจะมีกำลังการผลิตฟอกหนังวัวเพิ่มเป็นทั้งหมด 4 ล้านตัว

โดยในปีที่แล้ว บริษัทมีกำลังการผลิตฟอกหนังวัวอยู่ที่ 1 ล้านตัว และในช่วงหลังสงกรานต์ของปีนี้จะมีการเปิดการผลิตเชิงพาณิชย์ของโรงงานฟอกหนังโรงที่ 10 เฟส 1 และในช่วงปลายปีนี้ในเฟส 2 จะทำให้มีกำลังการผลิตฟอกหนังวัวเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตัว และปี 2562  จะมีกำลังการผลิตฟอกหนังวัวในโรงงานที่ 10 เพิ่มมาอีก 2เฟส จะทำให้มีกำลังผลิตฟอกหนังวัวเพิ่มเป็น 4 ล้านตัว ส่วนกำลังการผลิตฟอกหนังหมูจะยังคงอยู่ที่ 5.5 ล้านตัว โดยการเพิ่มกำลังการผลิตหนังหมูบริษัทอาจจะพิจารณาอีกครั้งในปี 2562

------------------------

ศก.ฟื้นดันฐานะชิ้นส่วนฯ

ในปี 2560 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่เริ่มฟื้นตัวขยับมาอยู่ที่ 3.9% และมูลค่าการส่งออกขยายตัว 9.9% ที่ทุบสถิติในรอบ 6 ปี ทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจ คาดว่าในปี 2561 GDP จะขยายตัวได้“ไม่ต่ำกว่า4%”ขณะที่ภาคส่งออก กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์การขยายตัวไว้ที่ 8%

ขณะที่ ตัวเลขการส่งออกรถยนต์ และยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในเดือนก.พ.ก.พ.2561 พบว่า จำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศมีทั้งสิ้น 178,237 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.2560 อยู่ที่ 15.37% ขณะที่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกและเพื่อจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกประเภท และเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.2561 อยู่ที่ 7.25%

ผลักดันให้ฐานะการเงินและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของเหล่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีผลประกอบการฟื้นตัว

โดยผลประกอบการย้อนหลัง 2 ปี (2559-2560) บมจ. เอเชีย พรีซิชั่น หรือ APCS มีรายได้ 990.79 ล้านบาท และ 1,287.09 ล้านบาท , บมจ.อาปิโก ไฮเทค หรือ AH มีรายได้ 4,877.20 ล้านบาท และ 1,7130 ล้านบาท ,บมจ.อินเตอร์ไฮด์ หรือ IHL มีรายได้ 1,957 ล้านบาท และ 2,166 ล้านบาทบมจ.พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง หรือ PCSGH มีรายได้ 3,742 ล้านบาท และ 3,984 ล้านบาท ,บมจ.สมบูรณ์แอดวานซ์ หรือ SAT มีรายได้ 8,470 ล้านบาท และ 8,894 ล้านบาท , บมจ.ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม หรือ TKT มีรายได้ 1,110.77ล้านบาท และ1,080.64 ล้านบาทและ บมจ.ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ หรือ TRU มีรายได้ 1,868.29 ล้านบาท และ 2,100.89 ล้านบาทเป็นต้น

-----------------------------

โบรกฯ ให้น้ำหนัก “เท่าตลาด

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ประเมินยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ประมาณ 2.05 ล้านคัน เติบโต 3% เทียบกับปีก่อน ซึ่งตัวเลข 2 เดือนแรกโตสูงจากฐานที่ต่ำในปี 2560 โดยหากนำตัวตัวเลข 2 เดือนแรกปรับเป็นรายปีจะมียอดผลิตรถยนต์เท่ากับ 2.06 ล้านคัน เติบโต 4% เทียบกับปีก่อน ดังนั้น คงน้ำหนักการลงทุน เท่าตลาด

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาดว่ากำไรปกติของกลุ่มยานยนต์ในงวดไตรมาส1 ปี 2561 จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนได้ต่อเนื่อง ตามภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ที่จะเติบโต สำหรับกำไรปกติรวมทั้งปี2561 ประเมินว่าจะเติบโตเฉลี่ย 16.2 เทียบกับปีก่อนจากภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.05-2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3-6%เทียบกับปีก่อน

ดังนั้น ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มยานยนต์เป็น “เท่าตลาดจากแนวโน้มยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ จะทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้น และคาดว่ากำไรปกติของกลุ่มยานยนต์ จะปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ระบุ มี 3 เหตุผล ในการคงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มยานยนต์ “เท่าตลาด” แม้ว่า 1.ยอดผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรก เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนเป็นเดือนที่ 8 อีก ส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่มยานยนต์ในไตรมาส1/2561 มีทิศทางเป็นบวกเช่นกัน 2.คงยอดผลิตรถยนต์ปีนี้เติบโต 3% และกำไรปกติของกลุ่มเพิ่มขึ้น 12% เทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจมี Upside Risk ขณะที่ 3.ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ซื้อขายที่ PER61 เฉลี่ย 11 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของกลุ่ม ที่ 12 เท่า สะท้อนมุมมองของตลาดต่อผลการดำเนินงานในปีนี้เป็นบวกไปแล้วบางส่วน

แม้ว่าภาพรวมปีนี้ยังคงคาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ไว้ที่ 2.05 ล้านคัน เติบโต 3%เทียบกับปีก่อนใกล้เคียงกับที่สภาอุตสาหกรรมคาดการณ์ แต่มองว่ามี Upside Risk อยู่มาก หากเทียบกับยอดผลิตและยอดขายใน 2 เดือนแรกปี 2561 ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์ในประเทศเป็นตัวแปรสำคัญ ด้วยกำลังซื้อในประเทศที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง และการออกรถยนต์นั่งและรถกระบะรุ่นใหม่ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของกลุ่มยานยนต์ในปีนี้จะดีต่อเนื่องอีกปี ตามภาพรวมอุตสาหกรรม แต่ราคาหุ้นขึ้นมาสะท้อนภาพเชิงบวกไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากราคาหุ้นของกลุ่มฯ ซื้อขายที่ P/E เฉลี่ย 11 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของกลุ่มฯที่ 12 เท่า