ก.พลังงาน ลุยไฟฟ้าชีวมวลใต้คาดได้ข้อสรุปไตรมาส3

ก.พลังงาน ลุยไฟฟ้าชีวมวลใต้คาดได้ข้อสรุปไตรมาส3

รมว.พลังงาน คาดสรุปรูปแบบโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไตรมาส 3 ปีนี้ ดึงโมเดล “โรงไฟฟ้าประชารัฐ” ร่วมขับเคลื่อนโครงการ

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ​300 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเริ่มดำเนินโครงการโดยเร็ว เพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

โดยเบื้องต้น ได้รับรายงานข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ว่า มีเศษไม้และวัสดุจากธรรมชาติเพียงพอ เช่น ไม้ยางพารา ซึ่งรูปแบบโครงการจะเน้นแนวทางโรงไฟฟ้าประชารัฐ ที่มีกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น เอกชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อกระจายกำลังการผลิตไฟฟ้าไปในพื้นที่ 3 จังหวัด และต้องพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ(smart grid) ​รวมถึงต้องพัฒนาและเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้าด้วย

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ จะเป็นการต่อยอดจากกำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากภาคใต้ ที่ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่แล้วประมาณ 50 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีกราว 50 เมกะวัตต์ ทำให้มีกำลังผลิตรวมราว 100 เมกะวัตต์ ใช้เป็นฐานต่อยอดการผลิตเพิ่มขึ้นอีกราว 200 เมกะวัตต์ ก็จะบรรลุเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ ได้ไม่ยาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2558 มีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ยกเว้น โซลาร์เซลล์) แบบ FiT Bidding โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั้งจากก๊าซชีวภาพ และชีวมวล โดยระยะที่ 1 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ในจ.สงขลา รับซื้อไม่เกิน 46 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นก๊าซชีวภาพไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และชีวมวลไม่เกิน 36 เมกะวัตต์

แต่เมื่อปิดรับการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า พบว่า มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้ารวม 89 โครงการ ปริมาณไฟฟ้า 547 เมกะวัตต์ แต่ผ่านคุณสมบัติเพียง 28 โครงการ รวมปริมาณเสนอขาย 224 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก