สทนช.เผยปริมาณน้ำต้นทุนปี 61 สูงกว่า 70% เพียงพอรับมือภัยแล้ง

สทนช.เผยปริมาณน้ำต้นทุนปี 61 สูงกว่า 70% เพียงพอรับมือภัยแล้ง

“สทนช.” เผยปริมาณน้ำต้นทุนปี 61 สูงกว่า 70% เพียงพอรับมือภัยแล้ง ยันไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรยังพบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทำนาปรังใน 23 จังหวัด ยันไม่ออกประกาศห้ามทำนาปรัง

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวถึงการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2561 ว่าจากการรายงานสถานการณ์น้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่าในปีนี้น้ำต้นทุนเพียงพอที่จะรองรับช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูแล้งในปีนี้ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค รวมทั้งการทำการเกษตรซึ่งในปีนี้จะไม่มีการประกาศงดการทำนาปรังในบางพื้นที่เหมือนในปีที่ผ่านมา

ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งในปี 2561 พบว่าในปัจจุบันแหล่งน้ำต่างๆ มีน้ำอยู่ 73% ของความจุ ดังนั้นน้ำอุปโภคบริโภค จะมีเพียงพอตลอดฤดูแล้งในปีนี้ ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร จากการวิเคราะห์พื้นที่นาปรังซึ่งใช้น้ำมาก พบว่ามีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ใน 74 อำเภอ 23 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการสนับสนุนน้ำ โดยการทำฝนหลวงและสูบน้ำให้กับนาปรังที่ขาดน้ำ ส่วนในฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ ได้คาดการณ์สภาพอากาศในลักษณะต่างๆ และ เตรียมการพร่องน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ให้สามารถรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมาได้ ซึ่งจะต้องติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง

“จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการปลูกข้าวและพืชมากกว่าข้อตกลง แต่ไม่เป็นจำนวนพื้นที่ที่มากนักจึงให้หน่วยงานด้านการเกษตรลงพื้นที่ พูดคุยกับเกษตรกร และวางแผนร่วมกันในพื้นที่ให้การปลูกพืชสอดคล้องกับปริมาณน้ำเดยให้เกษตรกรในพื้นที่ตกลงร่วมกันในลักษณะกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ ควบคู่กับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชช่วงหน้าแล้ง” นายสำเริงกล่าว

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 อ่างทั่วประเทศระหว่างปีนี้กับปีที่ผ่านมาพบว่าในปี 2561 มีปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ 51,654 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 73% ของความสามารถในการกักเก็บน้ำทั้งหมด โดยเป็นน้ำใช้การ 28,110 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปี 2560 ที่ผ่านมามีปริมาณการกักเก็บน้ำในอ่างขนาดใหญ่ 44,500 หรือคิดเป็น 63% ของความสามารถในการกักเก็บน้ำทั้งหมด โดยเป็นน้ำใช้การ 20,895 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยในปี 2561 ยังมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณการกักเก็บน้ำในระดับที่สูงมากกว่า 81% ถึง 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 105% ของความจุ เขื่อนศรีนครินทร์มีปริมาณน้ำ 84% ของความจุ และเขื่อนบางล่าง จ.ยะลา มีปริมาณน้ำ 93% ของความจุ

ขณะที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งอื่นๆ ของประเทศส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้เกินกว่า 50% เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 64% ของความจุ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถิ์ มีปริมาณน้ำ 65% ของความจุ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 64% ของความจุ เป็นต้น ทั้งนี้ได้วางแผนพร่องน้ำออกจากเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาในปีนี้ด้วย เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าสภาพอากาศแปรปรวนไม่สามารถคาดการณ์พายุฝนได้แน่นอน การวางแผนระบายน้ำออกจากเขื่อนจะต้องมีความสอดคล้องกัน

“สถานการณ์น้ำโดยรวมในปีนี้ถือว่าไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องภัยแล้งมากนักโดยเฉพาะเขตพื้นที่ชลประทานที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่กักเก็บจำนวนมาก กว่าในปีที่ผ่านมา แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานบางส่วนอยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ อย่างภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ แต่ในพื้นที่เหล่านี้ก็คาดว่าจะไม่กระทบในเรื่องของน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค” นายสำเริงกล่าว