‘สวนบ้านแม่’สถาปนิกทำเอง

‘สวนบ้านแม่’สถาปนิกทำเอง

สถาปนิกคนนี้ ผันตัวจากเมืองหลวง สู่บ้านเกิด ทำสวน ออกแบบสวน และทำการตลาดเอง

..................

“เมื่อคิดคำนวณอายุของแม่กับอายุผม ถ้าผมยังทำงานที่กรุงเทพฯต่อ กว่าผมจะมีฐานะ ชีวิตของผมกับแม่ คงไม่มาบรรจบกัน ผมก็เลยกลับบ้านมาทำสวน และคิดว่าจะทำงานออกแบบไปด้วย “ปอ-ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์ สถาปนิก อดีตนักออกแบบมือรางวัลจากYothaka International เล่าถึงการกลับบ้านเกิด จ.พังงา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

แม้ครอบครัวจะมีสวนผลไม้อยู่แล้ว 27 ไร่ แต่เป็นสวนทั่วไปที่ใช้สารเคมี ปอจึงอยากปรับปรุงให้เป็นสวนออร์แกนิก

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่า จะทำสวนจริงจัง ทำไม่เป็น แค่คิดว่ากลับบ้านก่อนดีกว่า เป็นห่วงครอบครัว ถ้าทำงานออกแบบต่อไป ยิ่งทำยิ่งติดภาระกิจ ไม่กล้ากลับมาทำงานที่บ้านเกิด”

-1-

 ชีวิตเกษตรไม่ได้สวยหรูอย่างที่เขาคิด ตอนที่ปอกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เขาค้นพบว่า การเกษตรไม่ใช่สูตรสำเร็จ เหมือนคอร์สอบรมที่สอนคล้ายๆ กัน

“เวลาไปอบรมที่ไหน ก็จะเป็นสูตรสำเร็จทางเกษตร เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เผาถ่าน คล้ายๆ กัน ปลูกผักกว่าจะมีรายได้ มันช้ามาก ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ถ้าจะทำแบบนั้น ต้องมีทุนสำรอง ต้องอดทนทำสิ่งนั้น ซึ่งการปลูกผัก เลี้ยงไก่ไม่ง่ายครับ"

ไม่ใช่ว่าท้อแท้ และอดทนไม่พอ แต่เป็นเรื่องไลฟสไตล์ที่อยากเลือกทำสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง

“ปลูกผัก มันไม่ใช่ตัวเรา ผมไม่ชอบการประคบประหงมพืชเล็กๆ ซึ่งทำแล้ว ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ผมทดลองเป็นปี เคยเข้าโครงการคนกล้าคืนถิ่นมีปราชญ์ชาวบ้านมาสอนองค์ความรู้การเกษตร เขาเอาเกษตรกรที่ลงมือทำ จนประสบสำเร็จมาให้ดู แต่ต้นทางกว่าจะถึงวันนี้ สำหรับคนที่ไม่รู้การเกษตรเลย ผมว่าวิธีการแบบที่เขาสอนมันเร็วเกินไป ผมก็ไปให้ความเห็นบอกว่า หากบางคนไม่ได้เตรียมต้นทุนเอาไว้ ถ้าลาออกจากงาน มันเสี่ยงมากเลย จะกลับมาทำงานแบบเดิม ก็ไม่ได้แล้ว"

สูตรสำเร็จทางการเกษตรแบบนั้น เขาคิดว่า ไม่เหมาะกับชีวิตเขา 

"ผมไปดูสวนแถวบ้านผม ทำไมคนอายุมากกว่าผม ทำเกษตรไม่เหนื่อยแบบผม เพราะเขาตื่นแต่เช้า พอแดดมา ก็หลบไปทำอย่างอื่น แบ่งงานให้ย่อยขึ้น เมื่อผมไม่ชอบปลูกผัก ผมก็หัดปลูกผลไม้ อะไรที่ใครบอกว่าปลูกแล้วไม่ตาย ผมก็ปลูก กล้วย สับปะรด มะพร้าว มังคุดที่ทิ้งร้างไว้ ก็มาฟื้นฟูดิน”

จากที่เมื่อก่อนทำสวนทั้งวัน พอไปดูคุณลุง สวนข้างๆ เขาบอกว่า แดดร้อนๆ จะไปทำสวนทำไม

“ถ้าทำไม่ถูกวิธี งานก็เยอะ ถ้าเรารู้วิธี งานการเกษตรก็จะน้อยลง ”

-2-

เขาเลือกที่จะปลูกผลไม้ที่คนบอกว่า ตายยาก เพราะคิดว่า ดีกว่าปลูกผักที่ต้องดูแลเยอะ

“อย่างบางคนชอบชีวิตในเมือง ชอบความรุ่งเรืองในเมือง ถ้าเขาอยู่ได้ ทำไมต้องกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ไม่ผิดหรอกครับ ถ้าเราไม่ทอดทิ้งครอบครัว ใช้ชีวิตแบบนั้น มีความสุขเข้ากับเรา ก็เพียงพอแล้ว”

เขายอมว่า ตอนที่เริ่มทำการเกษตร ทั้งๆ ที่หาความรู้หลายแห่ง กว่าจะลงตัว ก็ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูก

“ผมเคยส่งมังคุดไปขาย ตอนแรกก็บอกราคาหนึ่ง พอเอาไปขาย ก็บอกอีกราคา ทั้งๆ ที่ ผมเหนื่อยในการดูแลมังคุดออร์แกนิก แต่พอจะขายต้องเสียประโยชน์ ผมก็เริ่มส่งขายเองผ่านทางเพจ โดยเริ่มจากกลุ่มเพื่อนๆ "

มังคุดที่เขาดูแลอย่างดีไม่ใช้สารเคมี เมื่อราคาไม่เป็นอย่างที่คิด เขาก็เลยหันมาทำแบรนด์ของตัวเอง โดยใช้ชื่อเพจว่า สวนบ้านแม่

“ผมก็คิดง่ายๆ มีสวน มีบ้าน และแม่ ผมเริ่มเรียนรู้วิธีการส่งผลไม้ จนรู้ว่าจะส่งมังคุดสีประมาณไหนให้สุกพอดีกินเมื่อถึงมือคนกิน และมาคิดว่าทำไมผลไม้เกรดเอ ต้องส่งไปขายต่างประเทศ ถ้าจะรอกินผลไม้ดีๆ ต้องรอให้คนบอกว่า นี่เกรดส่งออกหรือ” 

-3-

เมื่อมั่นใจเต็มร้อยว่า ผลไม้ไทยดีที่สุด ถ้าบำรุงดินดีๆ มันดีตั้งแต่บนต้น ซึ่งคนซื้อไม่จำเป็นต้องถามว่า ผลไม้เกรดอะไร

“เพราะเราไม่มีเกรด แต่สิ่งที่อยู่บนต้นและการดูแลทุกวัน คือดีที่สุดสำหรับผม ง่ายๆ เลย ถึงผิวจะไม่สวย แต่ข้างในดี เพราะผมปลูกแบบอินทรีย์”

เมื่อถามว่า อะไรทำให้ผลผลิตของเขาดีวัน ดีคืน

“ตอนที่ผมไม่ทำงานออกแบบ ผมก็อยู่ในสวน จนผมรู้ว่า ผลไม้ต้นไหนต้องแต่งกิ่งให้แสงผ่าน ต้องคลุมดินยังไง ผมก็ทดลอง 5-6 ต้น ผ่านไปปีเดียว ก็เริ่มรู้ว่า ต้องทำยังไง ผลไม้ก็เริ่มมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ  แม้สองปี อากาศแล้งๆ ผลผลิตไม่ดี แต่ปีที่แล้ว ผมเอางานออกแบบมาเชื่อมโยงกับวิถีสมัยใหม่ ผมเอาภูมิปัญญามาปรับปรุงสวนผม ผลไม้จึงมีผลผลิตดี ”

หากถามว่า ทำอย่างไรให้ผลไม้มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ และเชื่อว่านี่คือผลไม้ที่ดีที่สุด

"ผลไม้ดี หีบห่อดี เป็นของฝากได้ และสังคมไทยมีวัฒนธรรมนำผลไม้ฝากผู้ใหญ่ สังคมคนปลูกและคนกินเชื่อมโยงกันได้แล้ว ทำให้เรารู้ว่า พวกเขาต้องการอะไร”

อีกเรื่องที่เขาคิดแตกต่างจากเกษตรทั่วไป ก็คือ ไม่ได้สนใจราคาตลาดว่า คนอื่นขายเท่าไหร่ ราคาผลไม้สวนบ้านแม่ ไม่จำเป็นต้องขึ้นลงตามราคาตลาด เขาคิดคำนวณจากต้นทุนในสวน

“ปีที่แล้วผมขายมังคุดได้สิบห้าตัน ก่อนหน้านี้ไม่ได้ขนาดนี้ เมื่อขายแล้วที่เหลือผมก็แถม โดยมีคนมาขอซื้อในสวน ถ้าเราดูแลต้นมังคุดมาตลอดทั้งปี แล้วถูกกดราคา เราก็อยู่ไม่ได้ เราก็ดัดแปลงเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้ผมมีเวลาว่าง กลับมาทำงานออกแบบได้”

หลังจากหาสูตรทำสวนจนลงตัว สวนบ้านแม่ ก็สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวเขา ปีหนึ่งล้านกว่าบาทในช่วงปีสองปีนี้ และพัฒนาไปอีกขึ้นโดยการแปรรูปผลไม้ ซึ่งมีผลผลิตทั้งปี อาทิ มะม่วงแช่อิ่ม มังคุดกวน

“ผมอยากให้มังคุดในจังหวัดพังงาเป็นที่รู้จัก ถ้าคนปลูกมีความซื่อสัตย์ต่อคนกิน สังคมคนปลูกกับคนกินจะเชื่อมโยงกันได้ คนกินก็ไม่จำเป็นต้องบีบลูกมังคุด เพื่อดูว่า ดีจริงไหม ผมเองก็ลำบากตอนแรก "

.......................

(((การเกษตรไม่สวยหรู)))

“ผมได้ศึกษาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 การงานทุกอย่างต้องมีความสุนทรีย์ในตัวเอง ถ้าโหมงานมากไป ก็ไม่ได้ ทำให้ผมเริ่มเข้าใจภูมิปัญญาที่พระองค์ท่านสอน อย่างการห่มดินด้วยหญ้าให้ดินชื้นอยู่ตลอด

การนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จะลำบากตอนแรก แต่เมื่อทุกอย่างลงตัว ทุกอย่างจะดีตาม และการใช้ทฤษฎีพอเพียง ไม่ใช่การเกษตรทั้งหมด ถ้าเราตั้งใจ มีความพอใจที่จะขาย อย่าเอาเปรียบคนอื่น เมื่อธุรกิจไปได้ ความสุนทรีย์ก็ตามมา ผมเริ่มอยู่ได้ในปีที่สาม นี่แค่เป็นจุดเริ่มต้นไม่ใช่ความสำเร็จ แต่ผมจะทำให้สุดๆ ไปเลย ผมจะนำเทคโนโลยีและภูมิปัญญามาใช้ ถ้าปรับสมดุลได้ อากาศไม่ดีก็มีผลผลิต"