สีบัวทอง : แหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์แห่งใหม่

สีบัวทอง : แหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์แห่งใหม่

ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว หลากหลายกิจกรรม 1 วันเต็ม พาครอบครัวเก็บผัก เก็บเห็ด กินข้าวกลางวัน ชมงานหัตถศิลป์ ซื้อต้นไม้ ทุกวันเสาร์ที่ 1 และวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน เริ่มเมษายน 2561 เป็นต้นไป

ขณะนี้ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง ได้รับการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและหัตถกรรม พร้อมให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้การเกษตร-งานหัตถกรรมตามแนวพระราชดำริใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

หลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้จักศูนย์ฯ แห่งนี้ แต่ที่นี่เป็นกองกำลังสำคัญหนึ่งในการสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์สำหรับการแสดง ‘โขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรช่วยเหลือชุมชนมานานนับสิบปี

:: ความเป็นมา :: 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งด้านหัตถกรรมและด้านเกษตรกรรม เพื่อเสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ราษฎรไทยเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ทุกภูมิภาค ที่จังหวัด อ่างทอง ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นกัน

ปีพ.ศ.2549 อ่างทอง เกิดน้ำท่วมใหญ่เกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน ราษฎรไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพในที่ดินตนเอง

20180225001449166 การปลูกพืชภายในโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงก่อตั้ง ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง ขึ้นที่ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยถูกน้ำท่วม เพื่อให้ราษฎรดังกล่าวกลับมายืนหยัดได้ด้วยตนเองอีกครั้ง ผ่านภารกิจ 4 ด้าน 

1. เป็นแหล่งสร้างงานให้ชาวบ้าน โดยเปิดกว้างให้ราษฎรพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามารับจ้างทำงานรายวันด้านการเกษตรและหัตถกรรม เช่น ปลูกผัก เก็บผัก เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ฯลฯ โดยมีค่าตอบแทนให้วันละ 150 บาท ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากชาวบ้านมีรายได้พอประมาณ ก็ยังได้เรียนรู้งานอาชีพไปใช้ในที่ดินตนเองได้ต่อไป 

2. ผลิตอาหารปลอดภัย เนื่องจากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ภายในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เน้นหลักการเกษตรอินทรีย์ 

3. แหล่งเรียนรู้ ภายในศูนย์ฯ มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพร้อมเป็นวิทยากรให้กับผู้สนใจอยากเรียนรู้วิธีทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และงานหัตถกรรม 

4. แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นำการทำงานภายในศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ จัดเป็นกลุ่มกิจกรรมให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเที่ยวชม สนุกกับการลงมือปฏิบัติจริง พร้อมได้รับความรู้คราวเดียวกัน ในลักษณะกิจกรรม 1 วัน

:: อิ่มท้องเชิงเกษตรครึ่งวันเช้า ::

กิจกรรมท่องเที่ยวภายในศูนย์ฯ เป็นกิจกรรม 1 วัน แบ่งเป็นกิจกรรมครึ่งวันเช้าและกิจกรรมครึ่งวันบ่าย

ในช่วงเช้า เริ่มจาก สุวิชัย ใช้ธูปทอง เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชม และบอกเล่าพระราชกรณียกิจ ประวัติความเป็นมาและกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ฯ ณ ห้องประชุมใหญ่ จากนั้นนำชมฟาร์มตัวอย่างฯ และทำกิจกรรม ณ จุดต่างๆ โดยมี รถราง ขนาด 40 ที่นั่ง นำไปส่ง

20180225001447962 รถรางนำชมศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง

ระหว่างที่นั่งรถรางไปตามจุดทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่งานในพระองค์บรรยายให้รู้จักพืชพันธุ์สองข้างทางที่รถรางแล่นผ่าน ซึ่งมีทั้ง นาข้าวไรซ์เบอร์รี่ ไผ่ตงลืมแล้ง มะม่วงเบา (ที่กำลังออกลูกสะพรั่ง) ชะอม ชมพู่มะเหมี่ยว แปลงหญ้าอาหารสัตว์ บ่อเลี้ยงปลากินพืช สวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงมหาชนก แปลงปลูกฟ้กทอง ฯลฯ

รถรางหยุด ณ จุดทำกิจกรรมแรก ให้อาหารแพะ ด้วยหญ้าแพงโกล่า (Pangola) หญ้าที่มีโปรตีนสูง การปลูกหญ้าชนิดนี้แต่ละครั้ง ให้ผลผลิตต่อเนื่องได้ถึงสิบปี โดยศูนย์ฯ จัดเตรียมหญ้าแพงโกล่าสดไว้ให้ แค่เพียงรถรางเคลื่อนเข้าใกล้บริเวณกรงเลี้ยงแพะ เจ้าแพะตัวน้อยก็ส่งเสียงร้องทักทายมาเป็นระยะ 

แพะเหล่านี้เป็นแพะพันธุ์ซาเนน (Saanen) จากเมืองหนาว สีขาวทั้งตัว หน้าตรง หูเล็ก ใบหูตั้ง ลำตัวปราดเปรียว ตาเรียวเล็ก เหมือนยิ้มตลอดเวลา น่ารักน่าเอ็นดู

“เป็นแพะนมที่ให้น้ำนมสูงกว่าแพะสายพันธุ์อื่น โดยทางศูนย์ฯ แปรรูปเป็นนมแพะพาสเจอร์ไรซ์บรรจุขวดพร้อมดื่มและไอศกรีม” วิทย์ จันทร์สว่าง เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ กล่าวถึงสายพันธุ์แพะ และเล่าให้ฟังว่า ศูนย์ฯ เลี้ยงแพะสายพันธุ์นี้ตั้งแต่แรกเปิดโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าลูกหลานคนไทยหา ‘นมวัว’ ดื่มยาก รูปร่างจึงไม่ค่อยสูงใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้เลี้ยงแพะนม เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสเข้าถึงแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งผลการวิจัยพบว่า นมแพะมีคุณค่าใกล้เคียงกับนมมารดายิ่งกว่านมวัว และเหมาะสำหรับผู้ฟื้นไข้

CC แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen)                                                               วิทย์ จันทร์สว่าง

20180225001450470 สุวิชัย ใช้ธูปทอง สอนการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน

20180225001450835 กิจกรรมเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษในกระถาง

จุดทำกิจกรรมต่อมา ทำปุ๋ยมูลไส้เดือนและปลูกผักปลอดสารพิษในกระถาง เรียนรู้และมือทำ 'ปุ๋ยมูลไส้เดือน’ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยในการปลูกผักลงกระถางใบเล็ก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ทำแล้วนำกระถางปลูกผักกลับบ้านได้

เสร็จแล้วเชิญร่วม เก็บผักในแปลงดิน ซึ่งเป็นผักตามฤดูกาล เช่นผักสลัด(เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด) มะเขือเทศสีดา มีแม้กระทั่งดอกอัญชันให้เก็บ คิดราคาผักกิโลกรัมละ 10 บาท

20180225001452593

ใครถนัดงานศิลป์ ก็มีกิจกรรม ระบายสีจากวัสดุธรรมชาติ ให้แสดงฝีมือ และเรียนรู้การ ทำไอศกรีมจากน้ำสมุนไพร ให้ได้ลองทำและชิมฝีมือตนเองที่ฟาร์มฯ

ต่อด้วยกิจกรรมเรียนรู้ การเพาะเห็ดและเก็บเห็ด ที่นี่เพาะเลี้ยงเห็ด 9 สายพันธุ์ คือ เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดโคนญี่ปุ่น(ยานางิ) เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ เห็ดนางฟ้าภูฐาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดขอนขาว เห็ดนางรมทอง และเห็ดนางนวล

20180225001625129

ผู้เข้าเยี่ยมชมจะได้เรียนรู้ขั้นตอนเพาะเห็ดตั้งแต่การทำก้อนเชื้อ วิธีทำโรงเรือน วิธีการดูแล การรดน้ำ และท้ายที่สุดเปิดโอกาสให้เก็บเห็ดด้วยมือตัวเองเพื่อนำกลับไปประกอบอาหารที่บ้าน 

แต่การเกษตรก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การเก็บเห็ดต้องมีวิธีหมุนข้อมือและเบามือ หากเกิดแรงสั่นสะเทือนมากไป จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเห็ดในก้อนเชื้อรุ่นต่อไป ดังนั้นหากต้องการเก็บเห็ดเอง ทางศูนย์ฯ จึงต้องขออนุญาตคิดราคาเห็ดกิโลกรัมละ 100 บาท หากให้เจ้าหน้าที่เก็บให้ คิดราคากิโลกรัมละ 60 บาท

เห็ดที่เปิดโรงเรือนให้เก็บได้คือ เห็ดนางนวล กลีบบาง ไม่อมน้ำมัน จึงนิยมชุบแป้งทอด, เห็ดนางรมฮังการี  นิยมทำต้มยำ และ เห็ดนางฟ้าภูฐาน นิยมผัดหรือไม่ก็ย่าง

บริเวณนี้ยังนำ หมูจินหัว อายุ 24 วัน และ กบพันธุ์ลูกผสม มาจัดแสดงให้ชม

C4 ลูกหมูจินหัวที่ได้จากการผสมกับหมูสายพันธุ์อื่น

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทาน ‘หมูจินหัว’ จำนวน 2 คู่ ที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2542  ให้ ‘กรมปศุสัตว์’ รับดำเนินการเลี้ยงและศึกษาวิจัยที่ ‘สถาบันวิจัยและทดสอบพันธุ์สุกรนครราชสีมา’ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

“ชาวจีนนิยมนำหมูจินหัวทำเป็น ‘ขาหมูแฮม’ เนื่องจากไขมันมาก ให้กลิ่นหอม” สัญชัย น่วมไข่ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ กล่าวและเล่าให้ฟังว่า แต่สำหรับเมืองไทย อากาศร้อน ผู้คนไม่นิยมและไม่จำเป็นต้องบริโภคไขมันเป็นจำนวนมาก กรมปศุสัตว์จึงปรับปรุงสายพันธุ์หมูจินหัวให้มีไขมันลดลง โดยปรับปรุงร่วมกับหมูสายพันธุ์แลนด์เรซ(Landrace) ดูร็อค(Duroc) และ ลาร์จ ไวท์(Large White) ทำให้ได้หมูจินหัวสายพันธุ์แข็งแรง มีเนื้อเยอะขึ้น ไขมันน้อยลง แต่เมื่อนำไปทำแฮม ก็ยังคงได้ขาหมูแฮมเนื้อนุ่มและกลิ่นหอมแบบหมูจินหัว

แหล่งโปรตีนอีกชนิดที่ได้รับความนิยมมากจากชุมชนและทำเงินได้ดี คือ ‘กบพันธุ์ลูกผสม’ ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างจาก ‘กบจาน’ กบอีสานที่โตไว กับ ‘กบนา’ กบท้องถิ่นอ่างทองที่ทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงแค่เพียง 4 เดือนก็ตัวโต เนื้อเยอะ ขายได้กิโลกรัมละ 80 บาท ด้วยผลผลิตเดือนละ 100 กิโลกรัม ชาวบ้านนิยมนำไปทำผัดกะเพรา ผัดพริกแกง ต้มยำ ยำใส่หัวปลี ไม่ทำกินเองก็แปรรูปเป็น ‘แกงถุง’ ขายได้รับความนิยมทั่วไปในตลาดอ่างทอง

20180225001453635 สัญชัย น่วมไข่ กับพ่อ-แม่พันธุ์กบลูกผสม

20180225001625713 กิจกรรมทำนาโยน

เก็บผักเก็บเห็ดเสร็จแล้ว เพิ่มระดับการยืดเส้นยืดสายขึ้นอีกนิดด้วยกิจกรรม ทำนาโยน ในแปลงนาข้าวที่จัดเตรียมดินและน้ำไว้พร้อมแล้ว โดยทางศูนย์ฯ เตรียมต้นกล้าข้าวไว้ให้เรียบร้อย จับยอดกล้าข้าว ย่อเข่าเล็กน้อย และเหยียดตัวขึ้นพร้อมกับโยนต้นกล้าออกไปในนา นอกจากไม่ต้องก้มๆ เงยๆ ดำนาให้ปวดหลัง ยังประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องสูญเสียไปกับน้ำ เพราะต้องเพาะเมล็ดข้าวขึ้นเป็นต้นกล้าก่อน แล้วจึงโยนลงนา พร้อมกับช่วยปรับสภาพแปลงนาข้าวให้โปร่งโล่ง แสงแดดส่องถึงผิวดินและน้ำ ทำให้ระบบนิเวศในนาข้าวอุดมสมบูรณ์

ปิดท้ายกิจกรรมครึ่งวันเช้าด้วยการ พักรับประทานอาหารกลางวัน ปรุงจากผลผลิตภายในฟาร์มตัวอย่างฯ โดยเฉพาะผักสดอินทรีย์แนมกับลาบไก่ คอหมูย่างจิ้มแจ่ว ข้าวเหนียว โดยมีผลไม้เป็นกล้วยไข่เชื่อมสีเหลืองทองสวยราดกะทิ ทั้งหมดนี้จัดเตรียมไว้ในปิ่นโต (สองคน/ปิ่นโต) นั่งรับประทานบนฟางข้าวที่มัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหุ้มด้วยผ้าทอลายตารางสีสันสดใส

AA มะม่วงเบา หน้าอาคารห้องประชุมใหญ่                                              ปิ่นโตมื้อกลางวัน

AAA1-1

AAA1

AAA2

C5 เครื่องดื่มที่ผลิตโดยโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ

เสริมทัพด้วยของกินเล่นมื้อนี้ด้วย เห็ดย่างเสียบไม้ ปอเปี๊ยะผักสด-น้ำจิ้มพริกขี้หนูเขียวตำ เห็ด-ดอกอัญชันชุบแป้งทอด 

ของหวานคลายร้อน ไอศกรีมข้าวโพด ไอศกรีมหม่อน และข้าวโพดหวานนึ่งเนื้อนุ่ม เครื่องดื่มมีทั้งน้ำหม่อน(รสเปรี้ยวสดชื่น) น้ำใบเตย น้ำมะนาว  นมแพะพาสเจอร์ไรซ์ และน้ำเปล่า

ไอศกรีมของศูนย์ฯ ผลิตตามวัตถุดิบที่มีทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ เช่น หม่อน ข้าวโพด ข้าวไรซ์เบอร์รี นมแพะ โดยไม่มีสารกันบูดและปราศจากสารปรุงแต่งให้เนื้อไอศกรีมเนียนนุ่ม นอกจากวางจำหน่ายที่อ่างทองแล้ว ยังส่งไปจำหน่ายที่ร้านโครงการพระราชดำริ ตลาด อ.ต.ก.(กรุงเทพฯ) เมื่อซื้อไปแล้วจึงควรบริโภคให้หมดภายในสองสัปดาห์ 

:: อิ่มใจงานหัตถศิลป์ครึ่งวันบ่าย ::

เริ่มย่อยอาหารกลางวันด้วยการชมความสวยงามของกล้วยไม้ ณ เรือนกล้วยไม้ มีกล้วยไม้สกุลหวายและแวนด้าดอกงามๆ หลายสายพันธุ์ เช่น บางกอกซันเซต ลูกผสมทับทิม วาเลนไทน์ วิบูลย์เวลเวต หลวงพระบาง พัชรดีไลท์ ตัดดอกส่งขายที่ตลาด อ.ต.ก. เช่นเดียวกัน

20180225001626084 เรือนกล้วยไม้

จากนั้นขึ้นรถรางไปชมงานฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองตามแผนกงานต่างๆ โดยมีวิทยากรอธิบายคือ โรงผลิตกระดาษข่อยและหัวโขน โดยสาธิตกระบวนการผลิตกระดาษข่อยตั้งแต่การดึงเยื่อไม้จากเปลือกท่อนข่อย ฉีกให้เป็นเส้น ตากให้แห้ง(กันเชื้อรา) หมักกับปูนขาวและแมกนีเซียม ล้าง ต้ม ทุบ กรุลงแม่พิมพ์เพื่อทำให้เป็นแผ่น รีดน้ำ ตาก กรวดกระดาษ(ใช้ก้อนกรวดถูไปบนแผ่นข่อยที่มีลักษณะเป็นกระดาษ เพื่ออัดให้กระดาษข่อยมีความแน่นและเรียบ) กรรมวิธีโบราณที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมามิให้สูญหาย

20180225001626490 ทุบเส้นใยข่อยที่ผ่านการหมักแล้วให้เป็นแผ่น

20180225001627309 กรุเส้นใยข่อยที่ทุบเป็นแผ่นแล้วลงในแม่พิมพ์

กระดาษข่อยใช้ในการขึ้นรูปหัวโขน รวมทั้งการถวายงานครั้งสำคัญ คือดำเนินการจัดสร้าง ‘สมุดข่อยปาฏิโมกข์’ หนึ่งในชุดประกอบเครื่องสังเค็ดสำหรับถวายแด่พระภิกษุที่ร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็จัดทำขึ้นโดยช่างฝีมือศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง

จากนั้น ชมโรงทอผ้ายก สาธิตการทอ ‘ผ้ายกราชสำนักไทยโบราณ’ ที่มี 13 ขั้นตอนหลัก ใช้เส้นไหม 4,086 เส้น ต้องใช้ช่างทอผ้า 4-5 คน ทำงานพร้อมกัน กว่าจะได้ผ้าทอลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ความกว้าง 1 เมตร ยาว 3.50 เมตร ใช้เวลาสองเดือนครึ่งถึงสามเดือน

AAA รถรางพาไปร่วมกิจกรรมตามจุดต่างๆ                                               ช่างทอและกี่ทอผ้ายกราชสำนักไทยโบราณ

20180225001729472 แผนกปักผ้าทำเครื่องแต่งกายโขนพระราชทานฯ
20180225001729640
ความละเอียดของลวดลายบนชุดโขน

ถัดไป ชมแผนกปักผ้า ส่วนใหญ่คือการทำเครื่องแต่งกายเพื่อการแสดงโขนพระราชทานฯ ซึ่งมีความละเอียดประณีตในทุกส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชุดโขนแต่ละตัว รวมทั้งเครื่องแต่งกายตัวพระ-ตัวนาง และเป็นลวดลายโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ เช่น ลายกนกใบเทศน์ ลายมะลิเลื้อย ลายราชวัตร ลายขนทักษิณาวัตร ลายย่อมุมไม้สิบหก

ต่อด้วยการ ชมโรงเซรามิกและทำกิจกรรมเพนท์เซรามิก ตรงนี้ใครสนใจจะทดลองขึ้นดินเป็นถ้วยแบบง่ายๆ หรือลองเพนท์เซรามิกด้วยตัวเองก็ได้ ค่าใช้จ่ายคิดตามเซรามิกชิ้นที่เลือกเพนท์ เช่น พวงกุญแจ ที่ทับกระดาษรูปกระต่าย ที่ใส่ดินสอรุูปช้าง ถ้วยเอสเปรซโซ แก้วกาแฟ

20180225001730783 เยี่ยมชมการทำงานภายในโรงเซรามิก

20180225001731207 Dinner Set ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 25 กรกฎาคม 2554

ปิดท้ายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง ด้วยการเลือกซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มเติมตามอัธยาศัย เช่น กล้ามะม่วง สูง 80 เซนติเมตร-1 เมตร ต้นละ 60 บาท หรือขนาดโตเป็นพุ่มแล้ว ต้นละ 500 บาท(ปีเดียวได้กินลูก) มีให้เลือก เช่น เขียวเสวย น้ำดอกไม้เบอร์สี่ แก้วลืมรัง มะม่วงเบา หรือจะซื้อพืชผักสวนครัว เช่น มะเขือเปราะ พริก ก็มีไว้ให้คนชอบทำครัว ราคาต้นละ 20-30 บาท

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์งานฝีมือหัตถกรรมในโครงการพระราชดำริอีกหลายประเภทให้เลือกซื้อ เช่น ผ้าทอผืน กระเป๋าผ้าทอ สมุดบันทึกหุ้มปกผ้าทอ ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ดอกไม้ประดิษฐ์ จำหน่ายในอาคารสินค้าที่ระลึก

:: เริ่มเดือนเมษายนนี้ ::

ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง กำหนดจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรและนำชมงานหัตถกรรมใน 1 วัน ระหว่างเวลา 09.30-15.30 น. ทุกวันเสาร์ที่ 1  และวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน เริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน 2561 เป็นต้นไป

จำกัดจำนวนวันละ 30 คน ผู้ใหญ่ราคา 799 บาท เด็กอายุ 3-12 ปี ราคา 599 บาท และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี 

ผู้สนใจสามารถเลือกได้ว่าจะเดินทางไปเอง หรือเดินทางโดยรถตู้ ซึ่งมีค่าบริการรถตู้ 250 บาท/คน นัดหมายตามแนวรถไฟฟ้า 07.30 น. กลับถึงกรุงเทพฯ 17.30 น. ติดตามรายละเอียดและแผนที่การเดินทางได้ที่ FB/sibuathongth หรือสอบถามโทร.0 2225 9420

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง หมู่ 3 ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง 

พิกัด 14.771182, 100.223758 

www.facebook.com/sibuathongth

------------------------------

ภาพ : ธนาชัย ประมาณพาณิชย์