ส่งออกไทยก.พ.โตต่อที่10.3% แนะจับตาบาทแข็ง-นโยบายกีดกันการค้าสหรัฐ

ส่งออกไทยก.พ.โตต่อที่10.3% แนะจับตาบาทแข็ง-นโยบายกีดกันการค้าสหรัฐ

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ส่งออกไทยเดือน ก.พ. โตต่อที่ 10.3% แนะจับตาบาทแข็ง-นโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐ

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ก.พ. ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 10.3% โดยเติบโตดีในเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญและหมวดสินค้า นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 47% และ 20% ตามลำดับ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 21% และ 18% ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ราคาส่งออกข้าวและมันสำปะหลังที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวเติบโตที่ 20% และ 14% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ราคาส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการที่หดตัว เช่น ยางพาราและน้ำตาล ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวหดตัวที่ 29% และ 24% ตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 16.0% จากการนำเข้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตกว่า 21% ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวกว่า 28% ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่สินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัว 1.3% สะท้อนการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่งออกไทยก.พ.โตต่อที่10.3% แนะจับตาบาทแข็ง-นโยบายกีดกันการค้าสหรัฐ

อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 5.0% ตามแนวโน้มการเติบโตของภาคการผลิตโลก ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรบางรายการที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ สะท้อนจากดัชนี Real Effective Exchange Rate (REER) ที่เพิ่มขึ้นราว 5% ตั้งแต่ต้นปี 2017 อาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ถูกทดแทนได้ง่ายอย่างสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล และยางพารา นอกจากนี้ เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าอาจกระทบโดยตรงต่อกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่กล่าวข้างต้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าน้อย จึงไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่ามากนัก อีกทั้งยังมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (gross profit margin) ที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหากไม่ทำการปิดความเสี่ยงด้านค่าเงิน (hedging)

สินค้าส่งออกไทยบางรายการอาจเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ (retaliation) จากประเทศต่างๆ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้อนุมัติมาตรการ safeguard เก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ ไปเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้ลงนามอย่างเป็นทางการเพื่ออนุมัติให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากทุกประเทศ (safeguard) ในอัตรา 25% เพิ่มเติมจากมาตรการภาษีทั้งหมดที่มีการเรียกเก็บอยู่ก่อนแล้วในปัจจุบัน ซึ่งอีไอซีประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณส่งออกเหล็กของไทยไปยังสหรัฐฯ ลดลง 2 แสนตัน (9% ของปริมาณเหล็กส่งออกทั้งหมดของไทย) หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด

อีไอซีคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 9.2% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น