กทม.ถก 6 จังหวัดรอยต่อ รับมือพิษสุนัขบ้า

กทม.ถก 6 จังหวัดรอยต่อ รับมือพิษสุนัขบ้า

กทม.ถก 6 จังหวัดรอยต่อ รับมือพิษสุนัขบ้า "อัศวิน" ใจดีให้ยืมวัคซีนฉีดหมา-แมว ยันวัคซีนมีคุณภาพ อ้างอย.ดูแลอยู่ วอนปชช.กทม.นำสุนัขขึ้นทะเบียน-ฝังไมโครชิป

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มีนาคม 2561 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมเพื่อหารือแนวทางในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยมี ปศุสัตว์จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา สำนักอนามัยกทม. สำนักงานเขตที่มีพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดใกล้เคียง 21 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ก่อนตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ต่อมาเวลา 11.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน แถลงว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า นำไปสู่การระบาดในสุนัข แมว หมู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชน กทม.ได้จัดหน่วยเคลื่อนบริการเคลื่อนที่เพื่อฉีดวัคซีน ทำหมันและฝังไมโครชิป (บัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยงอิเล็คทรอนิคส์) แก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนแก่ 50 เขต พร้อมจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 250,000-300,000 โดส โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ไปแล้วกว่า 100,000 โดส ขณะเดียวกัน กทม.ได้เรียนเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัดใกล้เคียง กรมปศุสัตว์จังหวัด ฯลฯ ร่วมหารือถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังมีความห่วงใยต่อปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของพสกนิกรชาวไทย โดยทรงรับเป็นองค์ประธานในการขับเคลื่อนการดำเนินการ โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระราชปณิธาน ตลอดจนทรงอุทิศพระราชวรกายในการช่วยเหลือสุนัขจำนวนมาก เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ อย่างเป็นรูปธรรม กทม.ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวในทุกด้าน จังหวัดใกล้เคียงและหน่วยงานด้านสาธารณสุขรู้สึกภูมิใจที่ได้สนองงานตามพระราชดำริ ด้วยการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า สำหรับการเสียชีวิตในคนจากโรคพิษสุนัขบ้า ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงจนเป็นศูนย์ มีเสียชีวิตที่เขตบางนา เมื่อปี 2559 จำนวน 1 รายเท่านั้นจากนั้นไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต ในส่วนจังหวัดอื่นที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมาและประจวบคิรีขันธ์ สำหรับผลการหารือมีผลน่าพอใจ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเปิดรับอาสาสมัครเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประสานความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมฉีดวัคซีนและทำหมันสัตว์ ฯลฯ อีกทั้ง มีแนวทางความร่วมมือกับจังหวัดใกล้เคียง อาทิ การควบคุมสุนัขในพื้นที่รอยต่อ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือประสานการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ ช่วยกันเฝ้าระวังในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ฯลฯ เพื่อป้องกันปัญหาสุนัขติดเชื้อรุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยจังหวัดใกล้เคียงที่น่ากังวลมาก คือ สมุทรปราการ เนื่องจากสังคมเมืองมีประชากรตามทะเบียนราษฏร์ 900,000-1,000,000 คน แต่มีประชากรมากกว่า 200,000 คน และยังมีพื้นที่รอยต่อติดกับกทม.ประมาณ 6-7 พื้นที่เขต จึงร่วมหารือแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกัน กทม.ได้ดำเนินการฝังไมโครชิบ หรือบัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยงอิเล็คทรอนิคส์ โดยจะสามารถทราบได้ว่าสัตว์ตัวใดที่ฉีดวัคซีนแล้ว ด้วยการตรวจสอบจากเครื่องสแกน อย่างไรก็ตาม ขอแจ้งว่าสำหรับการฉีดวัคซีน ทำหมันและฝังไมโครชิป กทม.ได้ให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยประชาชนสามารถนำสัตว์เลี้ยงมาร่วมรับบริการได้ตามหน่วยเคลื่อนที่ของกทม. ปัจจุบันมีสัตว์ที่ได้รับการฝังไมโครชิปแล้วกว่า 100,0000 ตัว และยังคงมีไมโครชิปเพียงพอต่อการฝังชิบในสัตว์อีกจำนวนมาก พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันได้มีกระแสเซ็ตซีโร่สัตว์เลี้ยง ประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มวางยาเบื่อสุนัข เพื่อกำจัดและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว ส่วนนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชนให้แจ้งมายังกทม. เพื่อเข้าไปดำเนินการจับสัตว์เลี้ยงไปทำหมันยังศูนย์ควบคุมสุนัขเขตประเวศ ก่อนส่งไปเลี้ยงไว้ที่ศูนย์พักพิงสุนัข อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี โดยมีความเห็นไม่ควรกระทำเช่นนั้น ปล่อยให้สุนัขหมดอายุขัยไปเองดีกว่า เพราะสัตว์ก็คือชีวิตหนึ่ง

ส่วนการของบริหารจัดการวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนสัตว์ในพื้นที่นั้น สำหรับปัญหาปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดซื้อ บางครั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นตามระเบียบการบริหารจัดการฉบับใหม่นั้น มีขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้าและใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้สามารถยืมวัคซีนร่วมกันได้ โดยจังหวัดใกล้เคียงสามารถมายืมกทม.หรือกรมปศุสัตว์ได้ โดยกทม.ได้จัดเตรียมวัคซีนไว้จำนวนมาก เชื่อว่ามีจำนวนเพียงพอในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ หากจังหวัดสามารถจัดซื้อได้แล้วก็สามารถนำมาใช้คืนกทม. จึงชี้แจงประชาชนว่าไม่ต้องกังวัลเรื่องวัคซีนจะขาดแคลนในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

เมื่อถามอีกว่ามีกระแสเรื่องวัคซีนปลอมแพร่ระบาดกทม.มีวิธีการตรวจสอบอย่างไร พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ โดยบริษัทที่เป็นคู่สัญญาได้ผ่านการรับรองคุณภาพจากสำนักงานอาหารและยา (อย.)

คนเราก็เหลือเกิน แม้วัคซีนยังปลอมกันได้ ควรเอาฉีดหมาตัวเองบ้างแล้วละ ผมยืนยันว่าของกทม.ไม่มีปัญหาดังกล่าว ยกเว้นกระบวนการในการเก็บรักษาวัคซีน ต้องมีรักษาความเย็นของอุณหภูมิอยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
เมื่อถามว่าการฝังไมโครชิปจะสามารถนำมาเป็นแนวทางในการควบคุมไม่ให้มีสุนัขจรจัด ได้หรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ดี ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถมาขอให้กทม.ฝั่งไมโครชิพให้สัตว์เลี้ยงได้ แต่หน้าที่ตามระเบียบกทม.จะดูเฉพาะสุนัขจรจัดเท่านั้น ไม่มีสิทธิดูแลสุนัขในบ้านประชาชน ทั้งนี้ เมื่อคนรักสัตว์ เลี้ยงสัตว์แล้ว ก็ควรทำสิ่งที่ดี ๆ ให้เขา ไม่ใช่รักแล้วทิ้ง

ด้านพญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกทม. กล่าวว่า สำหรับการลงทะเบียนสุนัข นอกจากหน่วยบริการกทม.จะรับลงทะเบียนแล้ว ประชาชนสามารถมาจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงตามคลินิกเอกชนได้ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. ต้องสุนัขต้องมีตัวตนลักษณะชัดเจน 2. มีเจ้าของชัด และ 3. มีที่อยู่ของสุนัขชัดเจน โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกฝั่งไมโคชิพที่สัตว์เลี้ยงจนสิ้นอายุขัย จึงขอเชิญชวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เพื่อสะดวกในการควบคุม

ขณะที่ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีเด็กในพื้นที่ถูกสุนัขจรจัดกัดแล้ว 3 รายนั้น ทางจังหวัดได้ดำเนินการจัดส่งปศุสัตว์อำเภอเข้าพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีมาตรการให้เน้นจัดการสัตว์จรจัดนำมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้ พร้อมทำปอกคอ เพื่อระบุว่าสัตว์ตัวนั้นได้ฉีดวัคซีนแล้ว ปัจจุบันทางจังหวัดอยู่ระหว่างดำเนินการระดมหน่วยตราในทุกพื้นที่