'ศรีวราห์' ติวเข้ารับมือจราจรเทศกาลสงกรานต์

'ศรีวราห์' ติวเข้ารับมือจราจรเทศกาลสงกรานต์

“ศรีวราห์” ประชุมรับมือจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ โยนเจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจกรณีนั่งท้ายกระบะกลับภูมิลำเนา

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ที่ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เรียกประชุมทางไกล (VDO Conference) เพื่อมอบนโยบายในการเตรียมความพร้อมด้านการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ให้แก่เจ้าหน้าที่งานจราจรและสายงานสอบสวน ในสังกัด บช.น., บช.ก. และ ภ.1 – 9 ตั้งแต่ระดับ บช. ถึงระดับ สน./สภ. ทั่วประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินการช่วงควบคุมเข้มข้น 7วัน ระหว่างวันที่ 11– 17 เม.ย.61 ในหัวข้อการรณรงค์ : “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร”

พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยก่อนการเข้าประชุมว่า การประชุมในวันนี้จะมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่รับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พิจารณาแผนและแนวทางการปฏิบัติด้านการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่นการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร หรือข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่องในถนนบางสาย (ช่องทางพิเศษ : Reversible Lane) โดยคาดว่าในปี 2561 นี้ปริมาณรถในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีมากกว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาโดยเฉพาะถนนสายมิตรภาพที่เดินทางไปอีสาน จะมีการตรวจสอบและเรียกประชุมความคืบหน้าในทุกอาทิตย์ เพื่อแก้ไขปัญหาจุดที่อาจทำให้การจราจรติดขัด ให้สามารถเร่งระบายการจราจรและแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ในช่วงการเดินทางเข้า-ออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงจัดกำลังพล และเครื่องมือให้มีความพร้อม

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวถึงมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยที่จะมีการเสริมเข้าไปในปี 2561 นี้ว่า จะออกข้อบังคับของเจ้าพนักงานจราจรห้ามเล่นน้ำบนถนนทั้งสายหลัก และสายรองทั่วประเทศ ขณะเดียวกันจะมีการร่วมมือกับฝ่ายปกครอง หรือผู้นำท้องถิ่นในการกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) ในพื้นที่ดังกล่าว และจะควบคุมการกระทำความผิดอย่างเข้มข้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2561 งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) และหากพบว่ามีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผิดกฎหมาย จะดำเนินการโดยเด็ดขาดทุกกรณี และให้ทุกพื้นที่ตรวจสอบกรณีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้สืบสวนขยายผลไปยังร้านค้าที่จำหน่ายด้วย

“ส่วนกรณีการนั่งท้ายกระบะ หากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ก็จะใช้การลงโทษด้วยการว่ากล่าวตักเตือน แต่หากเป็นพฤติกรรมที่มีความล่อเหลมที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ก็ให้บังคับใช้กฎหมาย เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงาน เช่นกรณีนั่งท้ายกระบะกลับภูมิลำเนา เป็นต้น โดยเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสม ยืนยันไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์อย่างแน่นอน” รองผบ.ตร. กล่าว

รองผบ.ตร. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดใน 10 ข้อหาหลัก ได้แก่ 1) ขับขี่รถโดยใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 2) ขับขี่รถย้อนศร 3) ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร 4) ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5) ไม่มีใบขับขี่ 6) แซงในที่คับขัน 7) ขับขี่รถในขณะเมาสุรา 8) ไม่สวมหมวกนิรภัย 9) มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 10)ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่รถ โดยเน้นหนักในการจับกุมข้อหาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด คือ ขับขี่รถโดยใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ขับขี่รถในขณะเมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่มีใบขับขี่ อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ยังเข้มงวดกวดขันกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยผู้ขับขี่ทั้ง ๒ ฝ่ายจะต้องถูกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทุกราย และพนักงานสอบสวนจะบันทึกผล การตรวจลงในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสถานีตำรวจ (ระบบ CRIMES) เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบการกระทำผิดซ้ำ เพื่อเป็นข้อมูลให้ศาลพิจารณาโทษที่สูงขึ้น