ครม.ไฟเขียวเช่าเครื่องติดตามผู้ต้องหา 4,000 ตัว

ครม.ไฟเขียวเช่าเครื่องติดตามผู้ต้องหา 4,000 ตัว

ครม.ไฟเขียวเช่าเครื่องติดตามผู้ต้องหา 4,000 ตัว ใช้งบผูกพันข้ามปี เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา-จำเลย

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 61 พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอมา โดยในหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว นั้นได้ปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่น และกำหนดมาตรการดำเนินการให้มีความรัดกุมมากขึ้น ซึ่งมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยชั่วคราว

ทั้งนี้มีอยู่ 3 ประเด็นคือ 1.การขยายเพดานอัตราโทษจากเดิม 5 ปีขึ้นไป โดยอัตราโทษสูงเป็น 10 ปีขึ้นไป 2.บุคคลที่ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแต่หลบหนี ก็จะกำหนดให้ศาลมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานศาล ดำเนินการแจ้งให้พนักงานตำรวจเพื่อจับผู้ต้องหาได้ หรือถ้ามีเหตุจำเป็น ก็ให้เจ้าพนักงานศาลมีอำนาจจับผู้ต้องหาได้เอง และ3.การพิพากษาในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ให้ศาลสามารถมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ก่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องได้ หากเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งเอาผิดจำเลย ซึ่งกรณีนี้เมื่อก่อนศาลจะต้องนัดมาไต่สวนคดี ทำให้จำเลย และโจทก์เสียเวลามาก

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้เช่า เครื่องมืออิเล็กโทรนิคติดตามตัวผู้กระทำผิด จำนวน 4,000 เครื่อง พร้อมระบบควบคุมการทำงาน ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอมา ซึ่งเป็นในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันธ์ข้ามปีงบประมาณ เป็นระยะเวลา 30 เดือน ซึ่งข้อดีของการเช่าคือ ทำให้รัฐบาลมีอุปกรณ์ ที่ใหม่และพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องเสมอไม่ขาดตอน และไม่ต้องตั้งงบประมาณในการซ่อมด้วย ทั้งนี้การใช้เครื่งมือติดตามเหล่านี้ รัฐจะประหยัดงบได้เยอะ เมื่อพิจารณาค่าอาหาร กับจำวนวผู้คุม เพื่อดูแลผู้ต้องหา