'ดีอี' หนุนกรมอุตุฯ จัดงานวันอุตุนิยมวิทยาโลก ใช้ Big Data

'ดีอี' หนุนกรมอุตุฯ จัดงานวันอุตุนิยมวิทยาโลก ใช้ Big Data

กระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุนกรมอุตุนิยมวิทยา จัดงาน “วันอุตุนิยมวิทยาโลก” ใช้ Big Data บริหารข้อมูลพยากรณ์อากาศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  23 มี.ค.61

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) พร้อมด้วยประเทศสมาชิก และชุมชนอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก จะร่วมกันเฉลิมฉลอง “วันอุตุนิยมวิทยาโลก” ซึ่งถือเป็นวันระลึกถึงการก่อตั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เมื่อปี พ.ศ.2493 โดยจะกำหนดหัวข้อเรื่องไว้ทุกปี และปี พ.ศ. 2561 นี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้กำหนดหัวข้อเรื่องว่า “Weather-Ready, Climate-Smart” (พร้อมเรื่องอากาศ ฉลาดเท่าทันภูมิอากาศ) ด้วยตระหนักถึงสภาวะอากาศรุนแรงผิดปกติ ที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า การคาดการณ์สภาวะอากาศรุนแรงที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ การออกการคาดการณ์พร้อมคำเตือนอย่างสม่ำเสมอและเชื่อถือได้เกี่ยวกับสภาพอากาศ จะลดความสูญเสียและผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

กรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เตรียมจัดการสัมมนาวิชาการวันอุตุนิยมวิทยาโลก 2561 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง “วันอุตุนิยมวิทยาโลก” และเป็นโอกาสที่ดีที่กรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวะอากาศรุนแรงผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดเห็น และสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับสังคมยุค 4.0 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข ผสมผสานกับข้อมูลการตรวจอากาศ ข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และเรดาร์ตรวจอากาศ เพื่อให้ได้ผลการพยากรณ์อากาศที่มีรายละเอียดสูงในระดับตำบลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งการมีเครื่องมือสื่อสารการพยากรณ์อากาศที่ชัดเจนในหลายช่องทาง ทั้งทางสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาได้อย่างรวดเร็ว ทันสมัยเข้ากับยุค “ไทยแลนด์ 4.0” นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังได้นำเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล เพื่อพัฒนาผลผลิตและตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนให้มีข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด อาทิ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และพลังงาน เป็นต้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความมั่นคง และความปลอดภัยในอนาคต

สำหรับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในปัจจุบัน ได้นำกรอบ SIGMA มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน โดย S : Safety & Security หมายถึง การคำนวณสภาวะอากาศ เพื่อความปลอดภัย และการบริหารจัดการล่วงหน้าสำหรับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ความปลอดภัยด้านการบิน การบริหารจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ และแผ่นดินไหว เป็นต้น I : Digital Infrastructure คือ การสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมทางอุตุนิยมวิทยา การสร้าง DATA Center ด้านอุตุนิยมวิทยา และการใช้ HPC (High Performance Computing) หรือ การประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงช่วยในการพยากรณ์อากาศ G : Digital Government การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้ในการตัดสินใจ M : Digital Manpower การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และ A : API & Application การสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อบริการข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ

ทั้งนี้ การจัดงานสัมมนาวิชาการวันอุตุนิยมวิทยาโลก ประจำปี 2561 ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งภายในงานจะมีการจัดสัมมนาวิชาการ และการเสวนาใน 2 เรื่อง คือ เรื่อง “Weather-Ready, Climate-Smart, Water-Wise ยุค 4.0” และเรื่อง “ฉลาดเท่าทันภูมิอากาศ : Climate-Smart” โดยวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้ ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลและผลผลิตด้านอุตุนิยมวิทยาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเข้าใจสภาวะอากาศมากขึ้น ลดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับสภาวะอากาศรุนแรงผิดปกติที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศ