เลื่อนตรวจหลักฐาน 'กปปส.'กบฏ 2 สำนวน นัดอีก 25 มิ.ย.นี้

เลื่อนตรวจหลักฐาน 'กปปส.'กบฏ 2 สำนวน นัดอีก 25 มิ.ย.นี้

"กปปส." ฮึดสู้ทุกช่อง เตรียมยื่นคำร้องขอศาลอาญาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สิทธิอัยการฟ้องคดีอาญา ตาม วิอาญา ม.39 ฟ้องเหมารวมคลุมทุกข้อหาไม่แยกแยะจำเลยตามพฤติการณ์

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.61 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุม กปปส.ร่วมกันกบฏ พร้อมกันรวม 2 สำนวน ประกอบด้วย คดีหมายเลขดำ อ.247/2561 ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 69 ปี ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ( มปท.) และอดีตเลขาธิการ กปปส. กับ แกนนำ กปปส.เวทีจุดต่างๆรวม 9 คน และคดีหมายเลขดำ อ.832/2561 ที่ยื่นฟ้อง นางอัญชะลี ไพรีรัก อายุ 52 ปี อดีตพิธีกรเวทีชุมนุม กปปส. , พระพุทธะอิสระ อายุ 58 ปี เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และอดีตแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ กับแนวร่วม กปปส. รวม 14 คน ในความผิดฐานร่วมกันกบฏ , สนับสนุนกบฏ , ร่วมกันก่อการร้าย (ฟ้องเฉพาะนายสุเทพ กับ นายชุมพล จุลใส 48 ปี แกนนำ กปปส.เวทีแยกราชประสงค์) , ขัดขวางการเลือกตั้งฯ และข้อหาอื่นรวม 8-9 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ,116,117,135/1,209,210,215,216,362,364,365, พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76 , 152 ประกอบมาตรา 83 , 86 , 91 จากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย.56 1 พ.ค.57 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี

โดยวันนี้ จำเลย แกนนำ-แนวร่วม กปปส. มาครบทั้ง 23 ราย แต่อย่างไรก็ดีในช่วงเช้านี้ องค์คณะพิพากษา ได้เริ่มการตรวจหลักฐาน ในสำนวนของ นายสุเทพ - แกนนำ กปปส. รวม 9 รายก่อน ซึ่งอัยการโจทก์ ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดตรวจหลักฐานในวันนี้ออกไปก่อน อ้างเหตุคดีนี้มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารจำนวนมาก และพยานหลักฐานบางส่วนยังอยู่ในสำนวนคดีที่มีความเกี่ยวพันกันกับคดีนี้

ขณะที่ทนายความจำเลย ก็ยื่นคำคัดค้านการขอเลื่อนดังกล่าว ซึ่ง นายสุเทพ และแกนนำ กปปส. จำเลยร่วม ต่างก็ร่วมกันแถลงด้วยวาจาคัดค้านคำร้องของอัยการด้วยว่า อัยการโจทก์มีพยานหลักฐานในสำนวนอยู่แล้ว ย่อมสามารถนำมาได้อยู่แล้ว ซึ่งการขอเลื่อนนั้นเป็นการประวิงเวลาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย

โดยทนายความจำเลย ก็ได้แถลงขอศาลใช้อำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพราะคดีนี้ถูกฟ้องในข้อหาที่ครอบคลุมทั้งที่พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะแตกต่างกัน อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องการชุมนุมของกลุ่มจำเลยว่าชอบด้วยกฎหมายไว้หลายครั้งแล้ว จึงขอศาลให้ความเป็นธรรมด้วยการพิจารณาแยกเนื้อหาการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละราย ซึ่งมีจำเลยบางคนที่ไม่ได้ไปปักหลักชุมนุมเป็นประจำหรือไปบุกรุกสถานที่ราชการแต่กลับถูกฟ้องด้วยข้อหาที่ครอบคลุม ดังนั้นจำเลยจึงขอให้ศาลสั่งฝ่ายโจทก์ลงรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำผิดและส่งรายละเอียดข้อหาเหล่านั้นให้จำเลยทราบ เพื่อไม่ให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบในคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายสุเทพ และทนายความแถลงต่อศาลแล้ว จำเลยร่วม อาทิ พระพุทธอิสระ , นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ , นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนายสาธิต เซกัลป์ นักธุรกิจเชื้อสายอินเดีย ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลย้ำถึงการฟ้องครอบคลุมทุกข้อหาทุกคนของอัยการด้วย

ทั้งนี้ ศาล พิเคราะห์คำร้องขอเลื่อนนัดของอัยการโจทก์แล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเป็นจำนวนมาก และเป็นพยานหลักฐานสำคัญ กรณีมีเหตุที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ออกไปก่อน โดยศาลให้นัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ขณะที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลได้นัดตรวจหลักฐานคดีกลุ่ม 14 แกนนำ-แนวร่วม กปปส. พระพุทธอิสระ จำเลยที่ 7 ยังได้แถลงขอให้ศาล ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อการกระทำใดมีคำวินิจฉัยของศาลเป็นเด็ดขาดแล้ว สิทธิดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำนั้นย่อมระงับสิ้นไป แต่กฎหมายนั้นก็ไม่ได้บัญญัติให้หมายรวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเด็ดขาดแล้วไว้ด้วยว่าให้สิทธิดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเด็ดขาดแล้วเป็นอันระงับไป โดยการที่ไม่บัญญัติไว้เช่นนั้นจึงน่าจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 5 ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช้ได้กับคดีทั้งปวง คู่ความจึงมีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ เพราะการฟ้องดำเนินคดีของอัยการได้กล่าวหาร่วมกันกบฏ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการชุมนุมของ กปปส. เป็นไปโดยชอบและสงบปราศจากอาวุธแล้ว ขณะเดียวกันจำเลยที่ 7 ยังยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญา แยกสำนวนการพิจารณาคดี 2 ชุดนี้ และขอให้อัยการโจทก์ บรรยายพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนให้ตรงกับข้อกล่าวหานั้น

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากจำเลยที่ 7 มีความต้องการให้ศาลดำเนินการทั้ง 2 ประเด็นที่แถลงมา ก็ชอบที่จะทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเข้ามา โดยจำเลยต้องให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า การฟ้องของอัยการดังกล่าว มีส่วนไหนที่ขัดกับรัฐธรรมนูญฯ ในมาตราไหนบ้าง เพื่อให้ศาลพิจารณาคำร้องต่อไป

ส่วนที่จำเลย 2, 3, 4, 7 ,9 ,10 ,12 ,14 แถลงทำนองเดียวกันว่า อัยการโจทก์ ทำคำฟ้องไม่แยกวัน-เวลา และบรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดว่าเข้าองค์ประกอบอย่างไรนั้น ในส่วนนี้ข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้ในชั้นสืบพยานซึ่งยังไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐานนี้

แต่อย่างไรก็ดี ศาลกำชับให้ อัยการโจทก์นำประเด็นและพยานเข้าสืบในส่วนที่เกี่ยวข้องตามพฤติการณ์กับจำเลยแต่ละคนอย่างใด โดยให้อัยการโจทก์ ชี้ช่องพยานหลักฐานและขยายเนื้อความให้ศาลทราบว่าจำเลยแต่ละรายทำผิดอย่างไร วันไหน เหตุการณ์และจะใช้พยานหลักฐานอะไรบ้างสรุปให้ชัดเจนส่งให้ศาลวันที่ 31 พ.ค.นี้

โดยให้นัดพร้อมและตรวจหลักฐาน จำเลย กปปส. 14 รายอีกครั้งวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งตรงกับวันนัดคดีของนายสุเทพ-แกนนำ กปปส. รวม 9 ราย

ภายหลัง นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ จำเลย เปิดเผยว่า ศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐานคดีของกลุ่มนายสุเทพ 9 คน ออกไปเนื่องจากอัยการไม่ได้ยื่นบัญชีพยานหลักฐานและเอกสารให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ได้แถลงคัดค้านแต่อัยการโจทก์แจ้งว่า พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในอีกสำนวนที่ฟ้อง 4 กปปส.ไปแล้วก่อนหน้านี้ จริงๆ แล้วเราเห็นว่าแม้จะอยู่ในอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งอัยการก็สามารถจะนำมายื่นต่อศาลเพื่อตรวจหลักฐานในวันนี้ได้แต่ไม่ได้ดำเนินการ ขณะที่ศาลให้เลื่อนนัดไปโดยให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทำบัญชีระบุพยาน แถลงเข้ามาว่าจะนำสืบกี่ปาก กลุ่มใดบ้าง แต่ส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไรให้ชัดเจน และครบถ้วน

ด้าน แหล่งข่าวอัยการ ยังกล่าวถึงการนัดให้ผู้ต้องหา กปปส.ที่เหลืออีก 27 รายเข้ารายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องเหมือน 2 ชุดแรกว่าในส่วนของผู้ต้องหาที่ได้แจ้งเหตุเลื่อนและมีหลักฐานมาแสดงครบถ้วน อัยการก็อนุญาตให้เลื่อนนัดรายงานตัวจากวันที่ 14 มีนาคม เป็น 19 เม.ย.นี้ เวลา 09.30 น.แต่ทั้งนี้ก็ยังมีผู้ต้องหาบางส่วนที่แจ้งขอเลื่อนโดยไม่มีหลักฐานแสดงชัดเจน อัยการก็กำลังพิจารณาว่าจะให้เลื่อนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ได้เลื่อนมาถึง 2 ครั้งแล้ว โดยขณะนี้คณะทำงานของอัยการชุดที่มีนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าชุดนั้น ก็กำลังหารือถึงแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรกับผู้ต้องหาชุดนี้ ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีคำสั่งที่จะให้ต้องออกหมายจับผู้ต้องหารายใดที่ยังไม่มา แล้วแจ้งขอเลื่อนแต่อย่างใด โดยขณะนี้มีแนวทางว่าหากจะให้เลื่อนก็ต้องกำชับว่าให้มาตามนัดในครั้งที่ 3 เพราะอัยการให้เลื่อนมาแล้วถึง 2 ครั้ง

ด้าน "นายสุเทพ" กล่าวภายหลังศาลเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดีทั้ง 2 สำนวนในวันนี้ว่า ในส่วนของจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำร้องที่เคยระบุว่าจะขอให้อัยการถอนฟ้องคดีกลุ่ม 14 แกนนำ กปปส. เพื่อให้ทำการสอบสวนใหม่ โดยวันนี้อัยการได้ขอเลื่อน แต่ก็ได้แสดงบัญชีพยานไว้คร่าวๆกว่า 800 ปาก ซึ่งในส่วนของจำเลยชุดของตนคิดว่าในการต่อสู้คดี เราจะยื่นบัญชีพยานไม่มากเท่าขนาดของอัยการแต่เรายื่นเฉพาะพยานที่จำเป็น โดยความชัดเจนเกี่ยวกับบัญชีพยานของทั้งสองฝ่ายจะทราบอีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย. นี้

ขณะที่พระพุทธอิสระ จำเลยในชุด 14 กปปส. ได้กล่าวว่า วันนี้ตนก็ได้แถลงต่อศาลเพื่อจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับการฟ้องคดีของอัยการ ซึ่งศาลยังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็ถือว่าศาลได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว โดยทุกประเด็นที่ได้ต่อสู้รวมทั้งความชัดเจนที่จะให้อัยการแจกแจงการกระทำผิดของจำเลยแต่ละรายนั้น จะได้รับทราบกันในวันที่ 25 มิ.ย.