อินไซต์ ‘กลยุทธ์ดิจิทัล’ ผ่านเลนส์ 3 มาร์เก็ตติ้งกูรู

อินไซต์ ‘กลยุทธ์ดิจิทัล’  ผ่านเลนส์ 3 มาร์เก็ตติ้งกูรู

โจทย์หินของนักการตลาดทุกยุคทุกสมัย หนีไม่พ้นการเฟ้นหากลยุทธ์ที่สามารถสร้างความโดดเด่น เกิดความตระหนักรู้ในแบรนด์ ตัวสินค้า การบริการ กระทั่งเข้าตาผู้บริโภคพร้อมเปลี่ยนเป็นยอดขาย เกิดความภักดี และท้ายที่สุดสมัครใจอยู่กับแบรนด์ไปในระยะยาว

ในงาน “IBM CMO EXCHANGE 2018” จัดโดย “ไอบีเอ็ม” กูรูสายมาร์เก็ตติ้งจากประเทศไทย-ต่างประเทศ ร่วมเปิดมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์ พร้อมเปิดเคล็ดลับที่จะนำไปสู่การเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคยุคดิจิทัลได้ดีมากขึ้น

เกรซ โฮ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร และหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ไอบีเอ็ม อาเซียน เปิดมุมมองว่า ได้เห็นปรากฎการณ์ “แฮชแท็ก(#) ดิสรัปชั่น” โดยขณะนี้ดิจิทัลดิสรัปชั่นได้เกิดขึ้นแน่นอนแล้ว ไม่ในฐานะ “ผู้ดิสรัป” ก็เป็น "ผู้ที่ถูกดิสรัป”

เมื่อปี 2543 กว่าครึ่งของบริษัทที่อยู่ในฟอร์จูน 500 ได้หายไป เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาดิสรัปภูมิทัศน์ธุรกิจ ในสหรัฐผู้คนใช้เวลาบนโมบายดีไวซ์วันละ 3 ชั่วโมง ส่วนไทยคาดว่ามากกว่านี้เป็น 2 เท่า ทั้งเห็นได้ชัดเจนถึงการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2562 มูลค่าตลาดทั่วโลกจะเกิดขึ้นมากกว่า 4.19 แสนล้านดอลลาร์ ค็อกนิทิฟมูลค่ากว่า 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ปี 2563 อุปกรณ์ไอโอทีมีกว่า 2.08 หมื่นล้านชิ้น

ดังนั้นนักการตลาดยุคใหม่จำต้องมีการผสานความคิดสร้างสรรค์ ข้อมูล และเทคโนโลยี เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า สำคัญสามารถเข้าถึงทุกๆ ข้อมูลของผู้บริโภค

ส่วนความท้าทาย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังแบบเฉพาะบุคคล การต้องเข้าถึงให้ได้แบบออมนิแชนแนล การพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ที่สอดรับ ความสามารถในการค้นหาค้นพบอินไซต์จากข้อมูลลูกค้าที่เก็บมาได้ ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาปรับปรุงแง่ผลตอบแทนจากการลงทุน(อาร์โอไอ) อย่างต่อเนื่อง

“เส้นทางสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางการตลาดจะเริ่มจากการทำความเข้าใจลูกค้า จากนั้นรวบรวมข้อมูลที่ได้มาพัฒนาวิธีการเพื่อการเข้าถึง รู้ว่าลูกค้าต้องการซื้ออะไรไม่ใช่บริษัทต้องการขายอะไร ทั้งต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ทุกวันนี้นักการตลาดต้องเดินไปข้างหน้าด้วยรองเท้าของลูกค้า”

ไอบีเอ็มระบุว่า 10 เทคโนโลยีและเครื่องมือ ที่นักการตลาดยุคดิจิทัลต้องรู้จักประกอบด้วย ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ), อนาไลติกส์ ,แชทบอท-ผู้ช่วยเสมือน, เรียลไทม์ เพอร์ซันนอลไลเซชั่น (Real-time Personalization), แคมเปญ มาร์เก็ตติ้ง, การคิดสร้างสรรค์เชิงออกแบบ(Design Thinking), อไจล์ (Agile), การตลาดเชิงพฤติกรรมลูกค้า (Behavioral-based Marketing), การพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าแบบ 360 องศา, และออมนิ-แชนแนล มาร์เก็ตติ้ง

จากการสำรวจ ซีเอ็มโอ 67% กำลังมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รองรับการมาของเทคโนโลยีและเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ ปีที่ผ่านมาตลาดโซลูชั่นด้านมาร์เทคเติบโตสูงถึง 80% ทว่ามีเพียง 27% เท่านั้นที่มั่นใจในความสามารถในการรับมือการเติบโตของข้อมูลลูกค้า

โมบาย-ดิจิทัลพลิกโฉม

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส(ซีเอ็มโอ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีบี กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติทางดิจิทัลมากที่สุดในอีก 12 เดือนข้างหน้าประกอบด้วย มีเดีย รองลงมาคือโทรคมนาคม การเงิน ค้าปลีก เทคโนโลยี ประกันภัย ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค องค์กรไม่แสวงกำไร บริการสำหรับธุรกิจ การศึกษา เฮลธ์แคร์ บริหารจัดการความมั่งคั่งสินทรัพย์ และอุตสาหกรรม ตามลำดับ

ทุกวันนี้ ทั้งการใช้ชีวิตและธุรกิจต่างที่ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีโมบาย ทุกอย่างต้องเดี๋ยวนี้ ด้วยผู้บริโภคมีความอดทนน้อยลง อีกด้านเกิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ สตาร์ทอัพ และแพลตฟอร์ม ซึ่งมาพร้อมกับบริการที่ดีกว่า เร็วกว่า ราคาถูกกว่า

ตัวอย่างที่ชัดเจน บริการด้านการเงินที่กำลังถูกพลิกโฉมในหลายๆ ด้าน เช่นบริการสินเชื่อยุคใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพิงหลักประกันเพียงอย่างเดียว (information based lending) ซึ่งธุรกิจธนาคารดั้งเดิมไม่มีความสามารถด้านนี้ และกำลังได้รับผลกระทบจากผู้ให้บริการเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆ

อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ตัดสินแพ้ชนะ คือ การนำข้อมูลมาใช้ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำมาสร้างแพลตฟอร์มและต่อสู่กับนอนแบงก์ใหม่ๆ

แนะวางจุดยืนชัดเจน

ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็น “New Way of Marketing in Media and Entertainment Industry” ว่า ตลาดเปลี่ยนเร็ว และเปลี่ยนไปต่างจากที่คิดไว้ จากเดิมคาดว่าออฟไลน์จะอยู่ไม่ได้แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับทีวีที่ไม่มีวันตายหากคอนเทนท์ถูกต้อง

เบื้องต้นก่อนการประมูลทีวีดิจิทัลได้คาดการณ์ไว้ว่า จะส่งผลให้คู่แข่งเพิ่มขึ้น ต้องทำงานหนักขึ้น หลังประมูลพบว่าจำนวนผู้ชมไม่มากดังคาด ทั้งได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติทางดิจิทัล การมาของโมบาย อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) การใช้บิ๊กดาต้า

นอกจากนี้ อนาคตยังมีการมาของ 5 จี ซึ่งต่อไปเป็นไปได้ที่รูปแบบออฟไลน์จะลดบทบาทลง ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันไปเสพความบันเทิงผ่านช่องทางออนไลน์ กระทั่งกลายเป็นสัดส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่าออนไลน์กำลังเติบโต และทีวีอยู่ในช่วงลง แต่ทั้งนี้การชมทีวีจะยังคงมีอยู่ ด้วยเป็นกิจกรรมของครอบครัว คอนเทนท์บนทีวียังคงอยู่ ทั้งรายการทีวีต่างๆ ยังต้องมีการรับชมผ่านทีวีเหมือนเดิม ทุกอย่างเป็นอีโคซิสเต็มส์ที่ต้องไปด้วยกัน

เขากล่าวว่า สิ่งที่ธุรกิจมีเดียต้องโฟกัสคือ การวางจุดยืนของตนเองให้ชัดเจน ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และพยายามพัฒนาคอนเทนท์ให้ออกมาดีที่สุด พร้อมให้ความสำคัญกับฐานผู้ชมของตนเอง

อย่างไรก็ดี “Content is the king” ผู้คนไม่ได้เปลี่ยน แต่พฤติกรรมการรับชมเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือออฟไลน์คอนเทนท์สำคัญที่สุด ที่น่าสนใจพฤติกรรมคนยุคใหม่ชอบที่จะดูทีวีไปพร้อมกับการแชท จากสถิติที่มีพบว่าผู้ชมกว่าครึ่งมีพฤติกรรมดังกล่าว 

“ในฐานะสื่อคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดคือ คอนเทนท์ ขณะเดียวกันต้องดังในแนวดีบนโลกโซเชียล พร้อมๆ ไปกับการยึดผู้ชมเป็นศูนย์กลาง” ชาคริต กล่าว