รุกนอกบ้านเรือธง CMAN ขึ้นแท่น 'ท็อป10' โลก

รุกนอกบ้านเรือธง CMAN ขึ้นแท่น 'ท็อป10' โลก

'เคมีแมน' โชว์แผนธุรกิจพร้อมโลดแล่น ปีหน้ากำลังการผลิตแตะ 1ล้านตัน 'อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์' ผู้ก่อตั้ง เรียกเรตติ้งนักชอปหุ้น การันตีโรงงาน 2 แห่ง ในอินเดียแล้วเสร็จ ขึ้นแท่น TOP10 ของโลก 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ 21 มี.ค.นี้

'ปูนไลม์' ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอบตัว เนื่องจากถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตสินค้าที่มีความ 'โดดเด่น' ใน 5 อุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน นั่นคือ น้ำตาล ,เคมี ,เหล็ก ,กระดาษ และ ก่อสร้าง 

'อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เคมีแมน หรือ CMAN ผู้ผลิตและจำหน่ายปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่องรายใหญ่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นหุ้นน้องใหม่ไอพีโอที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ จำนวน 240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท ในราคาหุ้นละ 3.84 บาท บอกถึง 'จุดเด่นหุ้น' ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังเช่นนั้น....!!

'บมจ.เคมีแมน' ก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดย 'อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์' และเพื่อนอีก 5 คน ที่เรียนวิศวกรมาด้วยกัน และหนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญ คือ 'ชาย ศรีวิกรม์' เจ้าของศูนย์การค้าหรูเกสร ทว่าระหว่างทางธุรกิจต้องมีการลงทุนตลอดทำให้บริษัทมีการเพิ่มทุนเรื่อยๆ จนปัจจุบัน 'ชาย ศรีวิกรม์' ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 267,805,900 หุ้น คิดเป็น 27.90% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ) เพราะมีความพร้อมทางด้านการเงินมากสุด แต่ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงาน

เมื่อเป้าหมายต้องการเป็น 'ผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่อง 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก' แผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงเกิดขึ้น 'อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์' ผู้ก่อตั้ง บอกเช่นนั้น แม้ว่าปัจจุบัน บมจ.เคมีแมน เป็นผู้ประกอบการปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่องเบอร์ 1 ของเมืองไทย สะท้อนผ่านกำลังการผลิต 900,000 ตันต่อปี

โดย 'จุดเด่น' ของเคมีแมน เป็นผู้ประกอบธุรกิจปูนไลม์เพียงรายเดียวในประเทศไทย ที่มีทั้งโรงงานผลิตและได้รับประทานบัตรเหมืองอายุ 25 ปี (สิ้นสุด 23 มิ.ย. 2583) จากกระทรวงอุตสาหกรรม บนพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งแร่หินปูนเคมีที่มีปริมาณแคลเซียมสูงเป็นพิเศษ (Ultra-high Calcium Limestone) มีปริมาณแร่หินปูนเคมีสำรองกว่า 115 ล้านตัน (จากข้อมูลสำรวจ ณ เดือน ต.ค. 59) จึงทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในเชิงคุณภาพและการบริหารต้นทุนของวัตถุดิบ

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ 3 ประเภทที่จำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า 'CHEMEMAN' ประกอบด้วย 'ปูนควิกไลม์' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 70% ซึ่งเกิดจากการนำแร่หินปูนเคมีที่ได้จากกระบวนการทำเหมืองมาผ่านความร้อนในกระบวนการเผาให้เกิดการแยกตัว ซึ่งปูนควิกไลม์ของบริษัทเป็นปูนควิกไลม์ที่มีคุณภาพสูง โดยมีปริมาณแคลเซียมออกไซต์สูง มีสารเจือปนต่ำ

มีลักษณะทางกายภาพเป็นของแข็ง มีสีขาว และมีขนาดที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่โลหะและอโลหะ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษ เป็นต้น

'ปูนไฮเดรตไลม์' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20% ซึ่งเกิดจากการนำปูนควิกไลม์มาผสมกับน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสมผ่านเครื่องไฮเดรเตอร์ (Hydrator) มีลักษณะทางกายภาพเป็นผงละเอียดสีขาวคล้ายแป้ง โดยบริษัทจำหน่ายปูนไฮเดรตไลม์ไปยังลูกค้าหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่โลหะและอโลหะ อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น

และ 'แร่หินปูนเคมีและแร่หินปูนเคมีบด' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ซึ่งเป็นแร่หินปูนเคมี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการทำเหมืองหาบ (Opencast Mining) ณ เหมืองทับกวาง ซึ่งเป็นแหล่งแร่หินปูนเคมีที่มีปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตสูง ทำให้เป็นที่ต้องการของหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตแก้ว ขวด กระจก อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ทว่า หาก 'เคมีแมน' ต้องการเติบโตระดับโลก แผนการเติบโต 'นอกประเทศ' จึงเป็นเรือธงของบริษัท...!!!

สะท้อนผ่านการขยายการลงทุนในปัจจุบันที่บริษัทอยู่ระหว่างขยายตลาดในประเทศอินเดียเนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ด้วยการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในสัดส่วน 50:50 ในการผลิตและจำหน่ายปูนไลม์ โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่เมือง Visakhapatnam และเมือง Tuticorin ซึ่งเป็นเมืองท่าและเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของอินเดีย โดยในส่วนของบริษัทจะใช้งบลงทุนแห่งละ 87.50 ล้านบาท และประมาณ 115 ล้านบาทตามลำดับ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2562

'ผู้ก่อตั้ง' บอกว่า โรงงานแห่งใหม่ในอินเดียแล้วเสร็จ กำลังการผลิตรวมของบริษัทแตะ '1 ล้านตันต่อปี' เมื่อนั้นบริษัทจะก้าวขึ้นมาเป็น '1 ใน 10 ของโลก' ได้แล้ว รวมทั้งยังมีแผนขยายตลาดในทวีปออสเตรเลียโดยการตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้า 2 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการที่สูง และกำลังศึกษาการลงทุนในประเทศเวียดนามอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าปูนไลม์ในตลาดโลกยังมีมหาศาล และกำลังศึกษาช่องทางขยายตลาดประเทศจีนตอนใต้เพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน “ส่งออก” ครอบคลุมมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ใน 3 ทวีป (เอเชีย , อาฟริกา และออสเตรเลีย) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 50% และในประเทศ 50%

'ถ้าเราต้องการก้าวขึ้นไปยืน 1 ใน 10 บนเวทีโลก เราต้องระดมทุน จะมัวแต่ขยายธุรกิจตามเงินกู้หรือเพิ่มทุนอย่างเดียวคงไม่ไหว ฉะนั้น เงินระดมทุนจะทำให้เราก้าวกระโดดได้ไกลมากขึ้น' เขาย้ำเป้าหมาย

สำหรับการขยาย 'ตลาดในประเทศ' เขา บอกว่า ปัจจุบันความต้องการผลิตภัณฑ์ปูนไลม์ของเมืองไทยอยู่ที่ '1ล้านตันต่อปี' มาจากใน 5 ภาคอุตสาหกรรม (น้ำตาล ,เคมี ,เหล็ก ,กระดาษ และ ก่อสร้าง) โดยมีสัดส่วนความต้องการใกล้เคียงประมาณ 17-20%

ทว่าในปัจจุบันจากนโยบายภาครัฐที่ต้องการสร้างให้ 'อุตสาหกรรมน้ำตาล' แข็งแรงขึ้น ประเด็นดังกล่าวจึงมีส่วนการส่งเสริม รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ปัจจัยบวกดังกล่าวจะส่งผลให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมภาคผู้ใช้มีทิศทางเติบโตตามนโยบายสนับสนุน

'ฉะนั้น ดีมานด์ก็จะเติบโตไปตามภาคผู้ใช้ในเมืองไทยที่ปัจจุบันมีความแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง 5 ภาคอุตสาหกรรม' 

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2561 บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตใหม่เข้าประมาณ 10% แล้ว แต่ว่าอีก 2 ปี (2562-2563) บริษัทกำลังทำแผนธุรกิจใหม่ในการขยายกำลังการผลิตใหม่เพิ่มอีก เนื่องจากมีดีมานด์สูงแต่ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าไหร่ยังไม่ได้สรุป คาดว่าจะได้ข้อสรุปหลังบริษัทมีเงินระดมทุน อย่างไรก็ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีดีมานด์เติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศออกไปในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก นั่นคือ 'ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก' ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเข้าไปช่วยย่อยสลายได้ตามกระบวกการผลิตจนกระทั้งกลายเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อมาผลิตเป็น ถุงพลาสติก ,ขวด , แก้วพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เป็นต้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นเคมีพื้นฐานที่เข้าไปช่วยได้มาก รวมทั้งกำลังขยายตลาดเข้าไปในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งปัจจุบันมีขายเข้าไปแล้วแต่ยังไม่มาก

'อนาคตตลาดในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังสร้างเมืองไทยให้เป็น Hub ของอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก'

ทั้งนี้ จากผลสำรวจภาวะอุตสาหกรรมปูนไลม์ในประเทศไทยโดย Frost & Sullivan บริษัทเป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดปูนควิกไลม์และปูนไฮเดรตไลม์สูงสุดทั้งการขายในประเทศและการส่งออก โดยปี 2559 มีส่วนแบ่งการขายปูนควิกไลม์และปูนไฮเดรตไลม์ในประเทศ 29% และ 21% และมีมูลค่าการส่งออก 81% และ 84% ของมูลค่าส่งออกปูนไลม์รวมของประเทศไทยตามลำดับ

ขณะที่ผลการดำเนินงานงานปี 2560 มีรายได้รวม 2,215 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 109.31 ล้านบาท ส่วนการเติบโตย้อนหลังที่ผ่านมาเฉลี่ยบริษัทเติบโตราว 10-15% แต่หากมีเงินทุนมากขึ้น แนวโน้มบริษัทมีโอกาสเติบโตมากกว่าที่ผ่านมา...!!

ขณะที่ ผลกระทบที่เป็น 'ปัจจัยเสี่ยง' ในการประกอบธุรกิจของบริษัทและเป็นภัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ภัยธรรมชาติ , ผลกระทบทางการเมือง , ปัญหาเศรษฐกิจ , ภัยการคุกคามจากเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งบริษัทจะสามารถผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้นั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดีและมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือแก้ไขกับปัญหาดังกล่าว

ท้ายสุด 'อดิศักดิ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า เราอยากเป็นอุตสาหกรรมปูนควิกไลม์เป็นเรือธงของเมืองไทยในต่างประเทศ ดังนั้น เราอยู่แต่ในบ้านคงไม่เติบโต เราจะต้องออกไปในเวทีโลก ซึ่งอีกประเด็นสำคัญการไปเป็นผู้ประกอบการนอกบ้านยังทำให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาในอุตสาหกรรมในเมืองไทยด้วย

กว่าจะเป็น'เคมีแมน'

'อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เคมีแมน หรือ CMAN บอกว่า สั่งสมประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิศวะ โดยเริ่มจากการเป็นวิศวกรในบริษัทเอกชน 3 ปีกว่า ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านการเงิน (ไฟแนนซ์) และกลับมาทำงานที่ 'ธนาคารซิตี้แบงก์' ทั้งเมืองไทยและฮ่องกงกว่า 4 ปี และมารับหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI นานกว่า 8 ปี

ตัดสินลาออกเพื่อมาสานฝันของตัวเองในการตั้งบริษัท เคมีแมน จำกัด ใช้เวลาภายใน 8 ปี เดินหน้าสร้างองค์กรจากบริษัทเล็กๆ ที่มียอดขายในปีแรกอยู่ที่ 200 ล้านบาทต่อปี และมีกำลังการผลิตอยู่ 3.5 แสนตันต่อปี

ทั้งนี้ จากความรู้และประสบการณ์ของหุ้นส่วนแต่ละคนจนกระทั้งโรงงานดังกล่าวเดินได้ และดีขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีการปรับปรุงนำเทคโนโลยีใหม่เข้าเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น ระหว่างทางก็เรียนรู้เทคโนโลยีดังกล่าว จนเป็นที่มาของโรงงานแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 50,000 ตันต่อปี และเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและทันสมัยที่สุดในเอเชียที่ไม่มีใครมีเหมือน ซึ่งโรงงานแห่งในประสิทธิภาพเคมีที่ผลิตออกมาอยู่ในระดับที่ดีมาก และยังมีต้นทุนต่ำมาก ส่งผลให้เราขยายกำลังการผลิตโรงงานใหม่จาก 50,000 ตันต่อปี ปัจจุบันเกือบ 5 แสนตันต่อปี

'ฉะนั้น การเร่งเดินหน้าพัฒนาคุณภาพ และสร้างระบบการจัดการอย่างมีแบบแผน ซึ่งในปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 2,000 ล้านต่อปี จนสามารถนำบริษัทไต่อันดับขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศได้และกำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น'