จากอวกาศถึงนินจา ฝันที่เป็นจริงของ‘กฤษณ์ คุนผลิน’

จากอวกาศถึงนินจา  ฝันที่เป็นจริงของ‘กฤษณ์ คุนผลิน’

ฝันแล้วต้องลงมือทำ และมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรค ....นี่คือสิ่งที่ผู้ชายคนนี้ทำ

..................

ถ้าฝันแล้ว ไม่ลงมือทำ เขาเรียกว่า ฝันลมๆ แล้งๆ  

ฝันจะเป็นจริงได้ ก็ขึ้นอยู่กับโอกาส ความใฝ่รู้ การลงมือทำ และความเพีียรพยายาม

หากถาม กฤษณ์ คุนผลิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ว่า ฝันที่เป็นจริงของคุณ มาจากโอกาสและเงินทอง ใช่หรือไม่ 

เขามีคำตอบชวนให้หลายคนคิดต่อ....

-1-

 “ถ้าไม่ละทิ้งความฝัน ต้องกล้าที่จะเดินเข้าไปหา กล้าถาม แม้จะถูกปฎิเสธ ก็ไม่เป็นไร ถ้าอยากเป็นนักมวยก็ต้องเดินเข้ายิมฯ อยากเป็นคนทำอาหารเก่งก็ต้องเดินเข้าครัว พระพุทธเจ้าอยากค้นพบความสุขที่แท้จริง ก็เดินออกจากวัง ค้นหาครูบาอาจารย์ ฝึกวิชา เพื่อให้พ้นทุกข์”

คำตอบที่ไม่สำเร็จรูปเช่นนี้ มาจากความคิดที่ว่า ฝันแล้ว ต้องลงมือทำ

ช่วงวัยเด็ก กฤษณ์ฝันว่า อยากมีโอกาสพบพลตรีจำลอง ศรีเมือง สักครั้งในชีวิต เพราะท่านตัดผมทรงนักเรียนเหมือนเขา และมีชีวิตที่น่าสนใจ 

ตอนที่เรียนมัธยม เขาจึงให้พ่อพาไปพบท่านที่บ้าน และหาโอกาสพูดคุย จนได้ทำงานด้วยในช่วงหนึ่ง

ช่วงที่กฤษณ์ฝันอยากปีนเอเวอเรสต์สักครั้งในชีวิต เขาก็ใช้ความเพียรพยายามฝึกปีนเขา ฝึกความอดทน และสะสมเงิน เพื่อเดินทาง 

ส่วนความชอบเรื่องอวกาศ ที่มีมาตั้งแต่เด็ก เขาก็หาความรู้อยู่เรื่อยๆ  และเพียรพยายามติดต่อกับองค์กรนาซ่า จนวันหนึ่งสามารถนำนิทรรศการยานอวกาศมาแสดงในเมืองไทยเป็นครั้งแรก และฝันต่อไปที่ยังเกิดคือ อยากให้มีศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ด้านอวกาศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเมืองไทย

“อยากไปเอเวอเรสต์ ก็ต้องเดินไปหา แต่ผมก็ต้องฝึกใจ เพราะไปแบบนั้น นอนไม่หลับ หนาวมาก เมื่อเดินขึ้นไปถึง ก็ต้องมุ่งมั่น เพราะชีวิตเรา มีแค่ครั้งเดียวที่ทำได้ แล้วช่วงวัยหนุ่มก็จะผ่านไป ” กฤษณ์ เล่า 

และนั่นทำให้เขาไปถึงเอเวอเรสต์ จนมีผลงานเขียนหนังสือ ฝันเสียดฟ้า ปี 2558 นำรายได้ไปช่วยเหลือฟื้นฟูเนปาลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปีนั้น

เพราะเขาเชื่อว่า "ชีวิตคนๆ หนึ่ง ถ้าโอกาสไม่หมดไป เราก็หมดไปจากโอกาส เพราะอาจจะหมดวัย และหมดชีวิต”

 

-2-

เพราะไม่ปล่อยให้ชีวิตล่วงเลยไปสู่วัยชรา โดยไม่ทำอะไรเลย 

10 ปีที่แล้วก่อนจะมาทำงานด้านการตลาด บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

กฤษณ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าวที่ Voice of America (VOA) วอชิงตัน อเมริกา สำนักงานอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน เขาจึงเดินเข้าออกบ่อยมาก เพื่อหาความรู้

 “เข้าไปก็ตื่นเต้น สนุกกับเรื่องราวยานอวกาศที่พามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ และค้นพบก๊าซฮีเลี่ยม ในอนาคตอาจใช้ก๊าซชนิดนี้เป็นพลังงานบนโลก การสำรวจอวกาศ จะทำให้มนุษย์พบแหล่งที่อยู่ใหม่ คนอเมริกันเชื่อแบบนี้ เพราะเป็นประเทศที่เกิดจากการค้นพบและค้นหา

เพราะผมชอบเรื่องอวกาศ ผมมองว่า นี่คือ อนาคตมนุษยชาติ นอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยว ยังเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัย การประดิษฐ์เตาไมโครเวฟ และGoogle Maps เกิดจากการศึกษาในอวกาศ ผมมองว่า เรื่องอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถ้าวันนี้ไทยไม่เข้าไปมีส่วนร่วม เราก็จะตกขบวน ถ้ามีการคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ คนที่คิด ประเทศที่คิด และผู้ลงทุนก็จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อ 4 ปีที่แล้ว นักการตลาดที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ จึงนำนิทรรศการยานอวกาศมาเปิดให้คนไทยได้ชม เพราะความเพียรพยายามติดต่อกับองค์กรนาซ่าหลายครั้ง และเขาก็ถูกเชิญไปดูงานที่ศูนย์ยานอวกาศ ที่อเมริกา พร้อมๆ กับการหาทุนให้เยาวชนไทยได้มาเรียนที่นั่น จนได้รับตำแหน่ง ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ

เขา มองว่า เรื่องวิทยาศาสตร์และอวกาศเป็นความหวังในการพัฒนาโลกในอนาคตอันใกล้ โดยยกตัวอย่าง อีลอน มัสก์ ที่บอกว่า อีกไม่นาน มนุษย์จะสามารถเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งภายในไม่กี่นาที โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคมขนส่ง โดยใช้ไฮเปอร์ลูป (ระบบขนส่งแบบใหม่ โดยใช้ท่อแรงดันต่ำ และแคปซูลโดยสาร ที่สามารถวิ่งได้ทั้งความเร็วสูงและความเร็วต่ำตลอดแนวท่อ ซึ่งแคปซูลโดยสารนี้จะเร่งความเร็วด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า) แม้จะลงทุนสูง แต่ประสิทธิภาพสูง ประหยัดเวลา อเมริกาและดูไบก็ลงทุนเรื่องนี้

“หลายประเทศทั่วโลก เริ่มลงทุนแล้ว ระบบขนส่งที่ใช้จรวดยิ่งจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง อีลอน มัสก์ กำลังพัฒนา สามารถเดินไปได้รอบโลก จากกรุงเทพฯไปออสเตรเลีย อาจใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ดูเหมือนจะลงทุนแพง แต่ระยะยาว ค่าใช้จ่ายจะถูกลง ใช้เวลาเดินทางน้อยมาก”

อย่างไรก็ตาม เขา บอกว่า ถ้าประเทศไทยพัฒนาเรื่องโลจิสติกส์ ช้ากว่าประเทศอื่น ต้นทุนจะสูงกว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ต้นทุนโลจิสติกส์สูงมาก 

“ผมเคยไปสัมมนากับหอการค้าเยอรมัน เขาบอกว่า ประเทศไทยรายได้น้อยกว่าประเทศเขา แต่เป็นประเทศที่จ่ายค่าขนส่งสูงกว่าคนเยอรมัน รถไฟฟ้าบ้านเราก็ไม่ถูก ในญี่ปุ่นตั๋วรถไฟฟ้าราคาถูกกว่า”

-3-

เมื่อถามถึงการเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ กฤษณ์ บอกว่า สุดท้ายศาสตร์ทุกอย่างต้องบูรณาการแบบองค์รวม ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรให้วิทยาศาสตร์เชื่อมต่อกับคนทั่วไป และเชื่อมต่อด้วยราคาที่เหมาะสม

“สักวันเราอาจปั่นกระแสไฟฟ้าโดยใช้ฮีเลียมจากอวกาศ มนุษย์จะนำก๊าซเหล่านั้นมาใช้บนโลกในราคาที่ถูกได้อย่างไร ซึ่งมีคนคิดไว้แล้ว ตอนนี้ต้นทุนยังสูงอยู่ อย่าง 5-6 ปีที่แล้ว ใครจะคิดว่า รถยนตร์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้น จนได้รับความนิยมสูงมากในอเมริกา ทำให้ค่ายรถใหญ่ๆ พัฒนารถยนตร์ไฟฟ้ามาขาย ถ้าเราคิดว่า เราคนไทยเป็นผู้รับเทคโนโลยีตลอดไป มันก็จะเป็นเช่นนั้นต่อไป ก่อนจะพัฒนาด้านการศึกษา ผมมองว่า ต้องทำให้คนไทยเชื่อมั่นก่อนว่า คนไทยทำได้ แต่เชื่อมั่นอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน เหมือนเมล็ดพืชที่ดี ถ้าได้ดินดี ก็งอก"

ถ้ามนุษย์คนอื่นทำได้ กฤษณ์ บอกว่า คนไทยก็ต้องทำได้ ถ้านวัตกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ได้ ทำไมจะเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้

“ทำไมต้องเชื่อว่า คนไทยทำไม่ได้ อย่างผมเคยเขียนโครงการส่งอาหารไทยไปอวกาศ ผมเขียนไปประกวดกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ที่สองของประเทศ จนได้ทุนเดินทางไปที่ศูนย์อวกาศของประเทศจีน เพื่อให้จรวดจีนนำอาหารไทยไปอวกาศให้นักบินอวกาศรับประทาน ”

ส่วนอีกเรื่องที่เขาฝันไว้คือ ศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ด้านอวกาศและเทคโนโลยีในเมืองไทย โดยร่วมมือกับนาซ่าและรัฐบาลไทย

“ถ้าสองเรื่องสำเร็จ ผมจะออกไปใช้ชีวิตเงียบๆ มีฟาร์มสเตย์ เพราะผมสนใจเรื่องกรีน ผมเป็นทุกข์ที่อากาศในกรุงเทพฯแย่มาก ซึ่งการเป็นนักการตลาดก็มีข้อดีคือ สามารถเชื่อมโยงการตลาดกับเทคโนโลยี นำมาค้าขายให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ อีกไม่นานก็จะมีหุ่นยนตร์ที่เชื่อมโยงกับระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อช่วยเหลือคนป่วยที่เดินไม่ได้ แค่คนๆ นั้นคิดว่าจะลุกขึ้น กลไกของหุ่นยนตร์ก็จะช่วยพยุงให้ลุกขึ้น ตอนนี้อยู่ในห้องวิจัย ต่อไปเรื่องหุ่นยนต์และ AI จะเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่องรถยนตร์ไร้คนขับ ถ้าในอนาคตอเมริกาใช้ ธุรกิจแท็กซี่จะนำมาใช้ เพราะปลอดภัยสูงมาก ผมคิดว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเวลาเรียกแท๊็กซี่ ไม่ต้องทะเลาะกับคนขับ”

ส่วนอีกความชอบ กฤษณ์ เล่าถึงเรื่องนินจาว่า เห็นในหนัง การ์ตูน หรือเกม ก็อยากนำเรื่อง เกมฝ่าค่ายกลนินจา สมัยเอโดะจากญี่ปุ่นมาเปิดให้คนไทยได้ลองวิชา โดยคนเล่นต้องคิดแก้ปัญหาค่ายกลด้วยตัวเอง

“ผมไปลองเล่นกับผู้บริหาร ก็สนุกและท้าทาย ได้ใช้สมอง ต้องไปลองเล่น ถ้าผมพูดทั้งหมด เดี๋ยวหมดสนุก คนเล่นต้องแก้ปัญหากลประตู เลือกทางออก ต้องปีนป่ายออกกำลัง เล่นเป็นทีมก็สนุก จะมุดออกช่องไหน ทางไหน เป็นทางออกที่แท้จริงก็ต้องคิด จะใช้เวลาเล่น 40 นาที –ชั่วโมงครึ่ง เรารวมกลหลายๆ แห่งมาไว้ในจุดเดียวมีทั้งแบบเด็กและผู้ใหญ่"

เกมฝ่าค่ายกลนินจา จัดวันที่ 17 มีนาคม- 31 พฤษภาคม ปี 2561 ที่ CentralPlaza West Gate