'ชาญศิลป์' เต็งซีอีโอปตท. สรรหาล็อกเข้าบอร์ดวันนี้

'ชาญศิลป์' เต็งซีอีโอปตท. สรรหาล็อกเข้าบอร์ดวันนี้

"ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" ผงาดซีอีโอ ปตท.คนที่ 9 ชงบอร์ดอนุมัติวันนี้ เผยคณะกรรมการสรรหาปูทางตั้งแต่แรก เหตุร่นเวลารับสมัครเร็วขึ้นเพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติเรื่องอายุในวันสมัคร ทำสถิติซีอีโอวาระแค่ 1 ปี 8 เดือน ปูดมีมลทิน ถูกปตท.กล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ว่าส่อทุจริต

หลังบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) (PTT)เปิดรับสมัครประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. เพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ที่จะเกษียณอายุวันที่ 31 ส.ค.นี้ ล่าสุดคณะกรรมการสรรหาได้รายชื่อผู้ชนะแล้วคือนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. โดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการในวันนี้ (16มี.ค.)
แหล่งข่าว ปตท.เปิดเผยว่า กระบวนการสรรหาค่อนข้างมีปัญหาหลังจากการเปิดรับสมัครรับบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอ โดยการเปิดรับสมัครเร็วกว่าธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งจะเปิดรับสมัครช่วงไตรมาสที่ 2ของปี แต่ครั้งนี้เปิดรับสมัครช่วงไตรมาสที่ 1 หรือตั้งแต่วันที่ 5-26 ก.พ. จึงถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้นายชาญศิลป์ ซึ่งจะมีอายุครบ 58 ปีในวันที่ 13พ.ค. 2561 สามารถยื่นใบสมัครได้ ทั้งนี้ ตามประกาศการรับสมัคร เงื่อนไขสำคัญเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกิน 58 ปี บริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัคร

"คณะกรรมการสรรหาให้ผู้สมัคร 4 คนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เข้าแสดงวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนองค์กร ไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา และจะนำเข้าบอร์ดใหญ่ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธาน เห็นชอบในวันนี้”

หลังจากบอร์ด ปตท.เห็นชอบ ขั้นตอนต่อไป จะต้องเจรจาอัตราเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร และเป็นไปตามที่ตกลงกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ก่อนเสนอรายชื่อ ซีอีโอ ปตท.คนใหม่ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งต่อไป
คณะกรรมการสรรหาที่มีพลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธาน ให้เหตุผลที่เลือกนายชาญศิลป์ว่าเคยผ่านการทำงานในบริษัทลูกของ ปตท. ได้แก่ ไออาร์พีซี และกรีนเอ็นเนอร์ยี่ สามารถประสานงานกับบริษัทในเครือ อย่าง ปตท.สผ.และพีทีทีจีซี ได้เป็นอย่างดี รวมถึงถูกมอบหมายให้ดูแลเทคโนโลยีและวิศวกรรมใหม่ๆ เพื่อนำองค์กรให้ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
ส่วนกรรมการสรรหาที่เหลือประกอบด้วย นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน,นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง,นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และพล.อ.ท.บุญสืบ ประสิทธิ์ สำหรับผู้สมัครแล้วผ่านคุณสมบัติที่ไม่ได้รับเลือกที่เหลืออีก 3ราย ประกอบด้วย 1.นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. 2.นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายและ3.นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและดิจิตอล ปตท.

แหล่งข่าวใน ปตท.ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้มีหนังสือที่ 80000001/91 ลงวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2556 กล่าวหานายชาญศิลป์ ตรีนุชกรต่อคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่องขอส่งเรื่องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีมีพฤติกรรมอันน่าเชื่อได้ว่ากระทำการโดยทุจริตต่อหน้าที่ หรือมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ ปตท. และ บริษัทพีทีทีกรีนเอ็นเนอร์ยี่ ในคดีทุจริตปาล์มอินโดนีเซีย สืบเนื่องจาก สมัยที่นายชาญศิลป์ดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการในพีทีทีกรีนเอ็นเนอร์ยี่ ไม่ได้ดำเนินการบริหารการลงทุนให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการปตท.ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายต่อพีทีทีกรีนเอ็นเนอร์ยี่ และ ปตท.ทั้งในด้านเงินลงทุนและภาพลักษณ์องค์กร มีพฤติกรรมอันน่าเชื่อได้ว่ากระทำการโดยทุจริตต่อหน้าที่

ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นคดีหมายเลขดำที่ 02-3-322 ถึง 326/2557 มีคณะป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นคณะกรรมการไต่สวน การที่นายชาญศิลป์ถูก ป.ป.ช. สอบสวนนั้น น่าจะขาดคุณสมบัติเนื่องจากมีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนถือหุ้นตามที่คณะกรรมการก.ล.ต.ประกาศกำหนด ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/3 , 89/6 และขัดต่อประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ 3/2560 เรื่องการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารบริษัท ในข้อ ข้อ 4. (2)(ก)(ข)(ค) และ(6) กล่าวคือเป็นบุคคลที่ขาดความน่าไว้วางใจไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการได้เนื่องจาก มีการทุจริตต่อหน้าที่ การบริหารงานฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแล หรือบริหารงานหรือจัดการงานที่ไม่เหมาะสม เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมซึ่งมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตเป็นเหตุให้สำนักงานมีหนังสือกล่าวหาบุคคลนั้นต่อพนักงานสอบสวน และอยู่ในกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

“ในเมื่อ ปตท. เป็นผู้กล่าวหานายชาญศิลป์ ต่อป.ป.ช. เองว่ามีพฤติกรรมอันน่าเชื่อได้ว่ากระทำการโดยทุจริตต่อหน้าที่ หรือมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ ปตท. และ บริษัทพีทีทีกรีนเอ็นเนอร์ยี่ ในเมื่อคดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนและชี้มูลความผิด ถ้านายชาญศิลป์ได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอของ ปตท.ก็จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและอาจจะใช้อำนาจของ ซีอีโอมาช่วยเหลือให้ตนเองพ้นความผิดก็เป็นได้ และตามหลักธรรมาภิบาล นายชาญศิลป์ ไม่เหมาะสมและไม่สมควรที่จะได้รับสิทธิจาก ปตท.แม้แต่การลงสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่"