‘บ้านขอ’ ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา

‘บ้านขอ’ ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา

หมู่บ้านบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ในอดีตเคยประสบปัญหาเรื่องหมอกควันและไฟป่า เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นราบเชิงเขา และอยู่ในเขตติดต่ออุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน  

ปัจจุบัน บ้านขอ กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เนื่องจากพวกเขาใช้งานวิจัยท้องถิ่นสร้างการมีส่วนร่วมของชุนชน แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า เพื่อป้องกันและรักษาป่าต้นน้ำ และได้ผลเกินคาด 

จำนง จำรัสศรี  กำนัน ตำบลบ้านขอ กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควัน จะมีความรุนแรงมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนในทุกปี  

“การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จุดประเด็นให้ชาวบ้านรับรู้ว่า หากเรายังต้องการหากินกับป่า เราก็ต้องช่วยกันดูแลป่า ซึ่งการแก้ปัญหาตอนนั้นได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่หลังได้รู้จักหนานชาญ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง สกว.ในพื้นที่ ใช้งานวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมไฟป่า เพื่อลดปัญหาหมอกควันเข้ามาขับเคลื่อนชุมชนใน ต.นายาง อ.สบปราม ประสบผลสำเร็จในระดับตำบล จึงเกิดความสนใจ อยากนำงานวิจัยเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานที่บ้านขอด้วย” 

อภัย  สอนดี  อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.4  ในฐานะประธานป่าชุมชนในขณะนั้น เล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรงมาก จึงเป็นสาเหตุให้ชุมชนตัดสินใจใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยใช้กระบวนการวิจัยเข้ามาขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่มีเป้าหมายก็เพื่อการอนุรักษ์ป่า” 

ชาญ อุทิยะ  หรือหนานชาญ ในฐานะพี่เลี้ยงจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสกว. กล่าวว่า  "ตนเองติดตามและทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันไฟป่ามานานกว่า 7 ปี เริ่มจากหมู่บ้านสามขาที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ได้สำเร็จกลายเป็นต้นแบบการจัดการไฟป่าระดับประเทศ จากนั้นได้ขยับมาทำเรื่องของการจัดการไฟป่าและสิ่งแวดล้อมภาค 2 ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พะเยา แพร่ และลำปาง 

กระทั่งมีโอกาสนำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าไปขับเคลื่อนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ตำบลนายาง อำเภอสบปราม จังหวัดลำปางเมื่อปี 2558 จากจุดเริ่มต้นเพียง 4 หมู่บ้าน พอระยะปีที่สองซึ่งเป็นโครงการส่วนขยายชุมชนเริ่มเห็นผล จึงมีหมู่บ้านเข้าร่วมเพิ่มเป็น 11 หมู่บ้าน ถือเป็นผลความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าระดับตำบล จึงได้นำชุดประสบการณ์กระบวนการทำวิจัยชุมชนบ้านนายางเข้ามาทำที่ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน แต่พยายามปรับแก้ไขจุดอ่อนที่พบจากการทำงานที่ตำบลนายาง ที่ถึงแม้การทำวิจัยจะประสบความสำเร็จเพราะท้องที่เข้ามามีส่วนร่วม แต่หากไม่มีส่วนร่วมของท้องถิ่น ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณส่งผลกับงานที่จะขยับต่อไปข้างหน้าทำได้ลำบาก จึงนำมาเป็นบทเรียนปรับใช้กับการทำวิจัยที่บ้านขอ”      สมบูรณ์ เอกกาญจนา  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 และในฐานะประธานโครงการฯ บอกว่า เราต้องทำให้เห็นว่า การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่านั้น เราทำจริง และทำอย่างต่อเนื่อง เวลาลงพื้นที่แต่ละหมู่บ้านก็จะไปพร้อมกันเป็นทีมเดียวกัน 

"เมื่อชาวบ้านเห็นว่ากลุ่มผู้นำเอาจริง ก็จะหันมาให้ความร่วมมือเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของปัญหาหมอกควันไฟป่าในตำบลบ้านขอลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยอมรับว่า สิ่งที่ทำอยู่ แม้จะเหนื่อยแต่ผลสำเร็จที่ได้กลับมาคือความภาคภูมิใจของคนทำงาน”

กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่มักเกิดปัญหาหมอกควัน ก็จะมีการจัดกิจกรรมแห่รถรณรงค์ไปทั่วตำบล พร้อมกับการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายทุกหมู่บ้าน เพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้รับรู้ว่ากำลังเข้าสู่ช่วง 100 วันอันตรายให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลระมัดระวัง ห้ามจุด ห้ามเผา ตามประกาศกฎห้ามเผา เป็นการช่วยกระตุ้นเตือนชาวบ้านได้ และที่สำคัญการทำงานเป็นทีมแบบลงพื้นที่ 13 หมู่บ้าน เข้าไปให้ความรู้ เพื่อบอกเขาให้รู้ถึงคุณค่าของป่า ชี้แนะให้เขาได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของป่าด้วยตัวเอง แทนการติดป้ายเตือนอย่างเดียว ช่วยให้ชาวบ้านได้รับรู้และตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบที่จะเกิดกับเขาได้มากขึ้น 

จากเดิมที่ชาวบ้านไม่ให้ความสนใจลำห้วยถูกปล่อยปะละเลย  แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ชาวบ้านเห็นความสำคัญหันกลับมาดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำ ร่วมกันนำกระสอบทรายมาทำเป็นฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง และยังอนุรักษ์พันธุ์ปลาปรุงซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ให้กลับมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยชุมชนมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันกำหนดเป็นกฎกติกาห้ามจับปลาในเขตอนุรักษ์ ภายในระยะ 1,500 เมตรรอบพื้นที่เขตอนุรักษ์ฯ ผู้ฝ่าฝืนถูกปรับตัวละ 5,000 บาท ส่วนผู้ช่วยและผู้ใหญ่บ้านจะต้องถูกปรับเป็น 2 เท่า ทำให้นอกจากการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแล้วยังได้ระบบนิเวศกลับคืนมา 

ปัจจุบันสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนไฟป่าที่เคยเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง ลดลงเหลือ 19 ครั้งในปีที่ผ่านมา และนำมาสู่การจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา”ขึ้น ณ บ้านขอใต้ หมู่ 4 ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เพื่อเปิดให้หน่วยงานหรือตำบลอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งภายในศูนย์ฯ มีการจัดทำเป็นนิทรรศการ แผนผัง รูปแบบการทำงาน และแนวทางการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้ได้เรียนรู้ไปจนถึงข้อมูลสถิติที่ผ่านมา

จำนง กำนัน ต.บ้านขอ กล่าวเพิ่มว่า เพราะเราอยู่กับป่า ต้องหากินกับป่า ป่าก็เสมือนแหล่งอาหารของชุมชน ต้องช่วยกันรักษา 

“นี่คือสิ่งที่เราได้ปลูกจิตสำนึกไว้ให้กับชาวบ้าน  และความสามัคคีระหว่างท้องที่ท้องถิ่นนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ”