อาลัยนักฟิสิกส์ระดับโลก Stephen Hawking

อาลัยนักฟิสิกส์ระดับโลก  Stephen Hawking

ชีวิตเหนือโชคชะตาของนักวิทยาศาสตร์ผู้ไขปริศนาจักรวาล

เมื่อวันพุธที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา โลกไม่ได้เพียงแค่สูญเสียนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ ได้แก่ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) แต่ยังสูญเสียนักสู้ชีวิตขั้นเอกอุที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย เรามาย้อนเวลาไปรู้จักตัวตนและผลงานที่เขาฝากไว้กัน

 

วัยเยาว์

สตีเฟน ฮอว์กิ้ง เกิดที่เมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1942 วันนั้นเป็นวันพิเศษเนื่องจากครบรอบ 300 ปีที่กาลิเลโอเสียชีวิตพอดี ช่วงเวลานั้นก็ไม่ธรรมดา เพราะอังกฤษกำลังรบกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง (เริ่ม 1 กันยายน ค.ศ.1939 จบ 2 กันยายน ค.ศ.1945) แต่เยอรมนีกับอังกฤษได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันว่า เยอรมนีจะไม่ทิ้งระเบิดใส่ออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ แลกกับการที่อังกฤษจะไม่ทิ้งระเบิดใส่ไฮเดลเบิร์กและเกิททิงเงน

ฮอว์กิ้งวัยเด็กชอบเล่นสร้างแบบจำลอง เขาหลงใหลรถไฟจำลอง และ “ยังจำความรู้สึกตื่นเต้นขณะแกะกล่องได้” พอย่างเข้าวัยรุ่นก็ชวนเพื่อนช่วยกันสร้างเครื่องบินและเรือจำลอง แถมยังสร้างเกมที่ซับซ้อนเอาไว้หลายเกม เช่น เกมสงคราม ซึ่งสร้างอิงตามสงครามโลกครั้งที่สอง และ เกมเกี่ยวกับระบบการผลิต ซึ่งมีโรงงาน ถนนและทางรถไฟ แถมมีตลาดหุ้นด้วย ฮอว์กิ้งบอกว่าเกมเหล่านี้มาจากความต้องการที่อยากรู้ว่าระบบต่างๆ ทำงานอย่างไร และเราจะควบคุมระบบนั้นได้อย่างไร

เมื่อถึงตอนที่เรียนปริญญาเอก ความต้องการของเขาก็ได้รับการตอบสนองในงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยา ฮอว์กิ้งบอกว่าหากเราเข้าใจว่าเอกภพทำงานอย่างไร เราก็ควบคุมมันได้ในบางแง่มุม

 

เส้นทางสู่ฟิสิกส์

พ่อของเขาเป็นแพทย์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเขตร้อน มักจะพาเขาไปที่ห้องทดลอง และช่วยสอนคณิตศาสตร์ให้ อย่างไรก็ดี พ่ออยากให้เขาเรียนแพทย์ แต่ฮอว์กิ้งไม่สนใจชีววิทยา วิชาที่เขาชอบคือคณิตศาสตร์ แต่พ่อไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าจบคณิตศาสตร์แล้วเป็นได้แค่ครูอย่างเดียว ฮอว์กิ้งจึงประนีประนอมโดยเลือกเรียนฟิสิกส์แทน

เขาเล่าว่า “ฟิสิกส์เป็นวิชาที่น่าเบื่อที่สุดในโรงเรียนเสมอ เพราะสำหรับผม มันง่ายและเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว เคมีสนุกกว่าเพราะเป็นสิ่งที่ไม่คาคคิด เช่น อยู่ๆ ก็มีการระเบิดขึ้น และก็เกิดขึ้นบ่อยเสียด้วย อย่างไรก็ตาม ฟิสิกส์และดาราศาสตร์ให้ความหวังแก่เราในการที่จะเข้าใจว่ามนุษย์เรามาจากไหน เรามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไรและทำไม ผมอยากเข้าใจเอกภพอย่างลึกซึ้ง”

ฮอว์กิ้งเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แต่ทัศนคติของออกซฟอร์ดในขณะนั้นต่อต้านความขยันขันแข็งอย่างมาก คุณควรจะฉลาดปราดเปรื่องโดยไม่ต้องขยัน ใครขยันเรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับดีๆ จะถูกเรียกว่าเป็น “gray man” หรือ “มนุษย์สีเทา” หมายถึงพวกขาดสีสัน ไร้ชีวิตชีวา

เมื่อจบปริญญาตรี ฮอว์กิ้งได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่มีเกร็ดเล็กๆ คือ เขาได้คะแนนคาบเกี่ยวระหว่างเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและสอง ทำให้ต้องสอบสัมภาษณ์ เมื่อกรรมการถามเกี่ยวกับแผนการในอนาคต เขาตอบว่าต้องการทำงานวิจัย โดยที่ “หากผมได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ผมจะไปต่อที่เคมบริดจ์ แต่ถ้าได้อันดับสอง ผมจะอยู่ออกซฟอร์ดต่อ” อาจารย์ก็เลยให้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งแก่เขา! เจน ฮอว์กิ้ง ภรรยาคนแรก อธิบายว่า การที่คณะกรรมการตัดสินใจเช่นนั้นถือเป็นการส่งสายลับแบบม้าไม้เมืองทรอยเข้าไปในถิ่นของคู่อรินั่นเอง

 

โรคร้ายที่ไม่อาจรักษา

ช่วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ขณะอายุ 21 ปี ฮอว์กิ้งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (amyotrophic lateral sclerosis) โรคนี้ทำให้เขานั่งรถเข็นเกือบทั้งชีวิต ขยับนิ้วได้แค่บางนิ้ว ต่อมาการพูดก็ต้องใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงสำเนียงอเมริกัน

หมอประเมินว่าฮอว์กิ้งจะมีชีวิตอยู่ไม่เกินสองปีครึ่ง แต่ฮอว์กิ้งไม่เชื่อ เขาระแวงหมอมาโดยตลอดนับตั้งแต่ที่เริ่มเข้ารับการรักษา มิหนำซ้ำยังหวาดกลัวโรงพยาบาลอีกด้วย เจนเล่าว่าฮอว์กิ้งชอบทำตัวเป็นหมอเสียเอง ซ้ำยังอ้างว่ารู้เกี่ยวกับอาการของตนเองมากกว่าบรรดาผู้มีอาชีพทางการแพทย์ใดๆ

 

โด่งดังในแวดวงวิชาการ

ในการประชุมที่ราชสมาคมเมื่อปี ค.ศ. 1964 เฟรด ฮอล์ย (Fred Hoyle) นักดาราศาสตร์เรืองนาม ได้นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับเอกภพ พอถึงช่วงแสดงความคิดเห็น ฮอว์กิ้ง (ซึ่งขณะนั้นยังโนเนมในวงการฟิสิกส์) ได้บอกที่ประชุมว่าการคำนวณของฮอล์ยผิดพลาด ทุกคนต่างนิ่งอึ้ง ส่วนฮอล์ยขุ่นเคืองอย่างยิ่ง

ฮอล์ยถามว่าฮอว์กิ้งรู้ได้อย่างไร แต่ฮอว์กิ้งตอบเพียงแค่ “ผมได้ลองคำนวณดูแล้ว…” ก่อนจะเสริมว่า “….ในหัวของผม”

นับแต่นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างฮอว์กิ้ง กับเฟรด ฮอล์ย ก็ไม่เคยคืบหน้าอีกเลย

ต่อมาฮอว์กิ้งเล่าว่า “ทุกคนคิดว่าผมคำนวณในใจระหว่างการบรรยาย ทว่าที่จริงแล้ว ผมใช้ห้องทำงานร่วมกับนาร์ลิการ์ (ลูกศิษย์ของฮอล์ย) และได้เห็นร่างของบทความมาก่อนแล้ว ผมก็เลยได้คำนวณก่อนการประชุมจะมีขึ้น”

ผลงานหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังก็คือ ทฤษฎีที่ว่าหลุมดำสามารถแผ่รังสีและระเบิดได้ ฮอว์กิ้งนำเสนอทฤษฎีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 ในการประชุม The Second Quantum Gravity Conference สาระสำคัญคือ การค้นพบทางทฤษฎีที่ว่า หลุมดำไม่ได้ “ดำ” อย่างที่เข้าใจกัน แต่สามารถแผ่รังสีออกมาได้

เมื่อฮอว์กิ้งพูดจบ ทั้งห้องนิ่งเงียบงันอยู่ครู่หนึ่ง ทันใดนั้นประธานของการประชุมคือ ศาสตราจารย์จอห์น จี. เทย์เลอร์ (John G. Taylor) ได้ผุดจากที่นั่ง และพูดว่าสิ่งที่ฮอว์กิ้งเสนอเป็นเรื่องไร้สาระทั้งเพ ว่าแล้วก็ชวนเพื่อนที่นั่งข้างๆ ออกไปพร้อมกัน!

ต่อมาฮอว์กิ้งตีพิมพ์บทความชื่อ Black hole explosions? ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1974 บทความนี้ทำให้นักฟิสิกส์ทฤษฎีทั่วโลกหันมาสนใจการแผ่รังสีฮอว์กิ้ง (Hawking radiation) แต่ต้องใช้เวลานานนับปีกว่านักฟิสิกส์กลุ่มต่างๆ ทั่วโลกจะเห็นด้วยกับแนวคิดใหม่นี้

 

นิสัยและชีวิตส่วนตัว

ฮอว์กิ้งชอบคิดเป็นภาพ เขาค้นพบกฎที่สำคัญของหลุมดำข้อหนึ่งด้วยวิธีนี้ กล่าวคือ เมื่อหลุมดำ 2 หลุมมารวมกัน ขนาดพื้นที่ของหลุมดำที่ได้จะมากกว่าผลบวกของพื้นที่ของหลุมดำทั้งสองก่อนรวมเสมอ เขา “ปิ๊ง” ไอเดียนี้ขณะที่เริ่มคิดถึงหลุมดำก่อนเข้านอน เขาเห็นเส้นทางที่แสงเคลื่อนที่เข้าไปแนวขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ 2 หลุม โดยไม่ต้องใช้กระดาษและปากกา ภาพในสมองช่างแจ่มชัด

ชีวิตส่วนตัวของเขาก็น่าทึ่งไม่น้อย แม้จะพิการติดรถเข็น แต่ฮอว์กิ้งได้แต่งงานถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ.1965 แต่งกับเจน ไวลด์ (Jane Wilde) นักศึกษาที่เขาพบที่เคมบริดจ์ ครั้งที่สองในปี ค.ศ.1995 แต่งกับ อีเลน เมสัน (Elane Mason) ผู้ที่คอยดูแลเขา แต่ชีวิตคู่ทั้งสองครั้งก็จบลงด้วยการหย่าร้าง อย่างไรก็ดี ฮอว์กิ้งมีลูก 3 คน และบอกว่าลูกทั้งสามได้ทำให้เขามีความสุขล้นเหลือ

เมื่อถูกถามว่า “งานวิจัยของคุณบอกอะไรคุณเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของพระเจ้า?” หรือ “ในจักรวาลที่คุณกำลังอธิบาย มีที่ว่างให้พระเจ้าไหม?” หรือ “คุณเชื่อในพระเจ้าไหม?” คำตอบก็มักจะเป็นอย่างเดิม คือ “ไม่” แต่มีแง่มุมย้อนแย้งเล็กๆ บางอย่าง เช่น ฮอว์กิ้งเคยให้ความช่วยเหลือคนที่ศรัทธาในพระเจ้า เขาเคยไปที่มอสโกครั้งหนึ่งในฐานะนักศึกษาโดยเดินทางไปพร้อมกับกลุ่มแบปทิสต์ เขาได้ช่วยลักลอบนำพระคัมภีร์เข้าไปในรัสเซีย โดยซ่อนไว้ในรองเท้าของตนเอง

 

สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์

ชื่อของฮอว์กิ้งโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อหนังสือ “A Brief History of Time” ขายดิบขายดี แปลเป็นภาษาต่างๆ ราว 40 ภาษา รวมกว่า 10 ล้านเล่ม (แปลเป็นไทยในชื่อ “ประวัติย่อของกาลเวลา”) หนังสือเล่มนี้อธิบายให้คนทั่วไปทราบว่านักฟิสิกส์รู้เรื่องเกี่ยวกับเอกภพแค่ไหนแล้ว ณ ขณะนั้น

ฮอว์กิ้งยังปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์หลายรายการ เช่น การ์ตูนชุด The Simpsons ซึ่งเขาเรียกว่า ‘สิ่งที่ดีที่สุดบนจอทีวีอเมริกัน’ และ Star Trek: The Next Generation โดยเขาได้พบกันนิวตัน ไอน์สไตน์ และหุ่นแอนดรอย์ชื่อ เดต้า

ที่สำคัญคือ ในปี ค.ศ.2014 ยังมีภาพยนตร์ชีวประวัติของเขาชื่อ The Theory of Everything ซึ่งสร้างอิงข้อมูลในหนังสือ Travelling to Infinity: My Life with Stephens เขียนโดย เจน ฮอว์กิ้ง อีกด้วย

เช่นเดียวกับคนดังทั้งหลาย ฮอว์กิ้งมักมีคำพูดคมๆ ซึ่งบ่อยครั้งแฝงอารมณ์ขันเล็กๆ ไว้ด้วย เช่น เกี่ยวกับโชคชะตาฟ้าลิขิตกับเจตจำนงอิสระ - “ผมสังเกตว่าแม้แต่คนที่กล่าวอ้างว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดมาแล้ว และเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ พวกเขาก็ยังมองก่อนข้ามถนน” หรือเกี่ยวกับความสุขเปี่ยมล้นขณะค้นพบในทางวิทยาศาสตร์ – “ผมคงจะไม่เปรียบเทียบมันกับเซ็กส์ แต่มันคงอยู่ยาวนานกว่า”

สตีเฟน ฮอว์กิ้ง เป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้แม้จะมีข้อจำกัดมากมายทางในทางกายภาพ แม้ร่างกายเขาจะจากไปแล้ว แต่ความคิดและผลงานต่างๆ ของเขานับเป็นมรดกทางปัญญาที่ช่วยให้อารยธรรมของมนุษย์ขยับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ