'บิ๊กอู๋' จับมือราชทัณฑ์ สร้างงานให้ผู้ต้องขัง 3.7 หมื่นคนมีอาชีพ

'บิ๊กอู๋' จับมือราชทัณฑ์ สร้างงานให้ผู้ต้องขัง 3.7 หมื่นคนมีอาชีพ

ก.แรงงาน จับมือกรมราชทัณฑ์ สถานประกอบการ คัดเลือกผู้ต้องขังชั้นดี ผู้ที่กำลังจะพ้นโทษ 3.7 หมื่นคนมีอาชีพ คืนคนดีสู่สังคม

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมโครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตามโครงการ "โรงงานในเรือนจำ" ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 346,470 คน จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 18 - 35 ปี กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้เข้าร่วมโครงการ "โรงงานในเรือนจำ" โดยในปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 37,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้พ้นโทษ 10,000 คน และนักโทษชั้นดี 27,000 คนซึ่งจะฝึกทักษะและฝึกอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ โดยจะสอบถามความต้องการของผู้ต้องขังถึงความต้องการที่จะทำงานในสถานประกอบการหรือการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อจะได้ดำเนินการตามความสมัครใจ

ทั้งนี้ โครงการ "โรงงานในเรือนจำ" เป็นความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐระหว่างกระทรวงแรงงาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการหารือในวันนี้มีสถานประกอบการตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 40 แห่ง โดยกระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ป.ป.ส. และกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการคัดกรองผู้ต้องขังชั้นดี เป็นผู้มีวินัย และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ความเชื่อมั่นและสอดคล้องตามความต้องการของผู้ประกอบการ สำหรับลักษณะงานที่จะให้ผู้ต้องขังทำนั้น อาทิ ช่างทำทอง เย็บรองเท้าขุดลอกท่อ ตัดหญ้า ทาสีอาคาร เป็นต้น

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน หารือในรายละเอียดกับกรมราชทัณฑ์ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจนให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมคนดีสู่สังคมอีกด้วย