สปสช.รับลูกแก้ปัญหาตรวจสุขภาพแรงงาน

สปสช.รับลูกแก้ปัญหาตรวจสุขภาพแรงงาน

สปสช.หารือก.แรงงาน ช่วยแก้ปัญหาตรวจสุขภาพแรงงาน

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สำหรับงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้นจะครอบคลุมทุกสิทธิสุขภาพ ทั้งสิทธิบัตรทอง ข้าราชการ และผู้ประกันตน ซึ่งจะทำงานในรูปของคณะกรรมการบูรณาการกองทุนสุขภาพ ซึ่งเรื่องส่งเสริมสุขภาพเป็นหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับช่องว่างของคนทำงานในโรงงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพนั้น เป็นเรื่องที่มีการหารือกันอยู่ระหว่างสปสช. สำนักงานประกันสังคมและทางกระทรวงแรงงานว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร

“ที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมในการลงไปคัดกรองตรวจสุขภาพคนงาน ส่วนใหญ่จะไปย่านนิคมอุตสาหกรรมตะวันออก ทำงานเชิงรุกไปที่โรงงานเพื่อตรวจสุขภาพความเสี่ยงรายโรค ปัญหาคือ เมื่อไปถึงโรงงานก็อาจไปกระทบต่อกระบวนการผลิตงานของเขา ซึ่งตรงนี้หลายแห่งยังไม่มีความพร้อม ขณะนี้ก็ต้องมีการหารือร่วมกันทั้งส่วน สปส. กระทรวงแรงงาน รวมทั้งสถานประกอบการว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้คนงาน และผู้ประกันตนได้มีสิทธิในการตรวจสุขภาพและทราบความเสี่ยงด้านสุขภาพของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ด้าน นายภาคภูมิ สุกใส ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย เพื่อพัฒนานโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะและการมีหลักประกันทางสังคมสำหรับคนทำงาน (คสปค.) กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้สถานประกอบการจัดการตรวจสุขภาพให้แก่พนักงานหรือลุกจ้างเป็นประจำทุกปี แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อผลการตรวจสุขภาพออกมา โดยจะบันทึกมาในสมุดสุขภาพประจำตัวของแรงงานส่งกลับมาให้พนักงาน ซึ่งบางคนมีแนวโน้มสุขภาพที่จะผิดปกติ เช่น ไขมันเริ่มสูงเกินไป น้ำตาลสูง ก็ไม่มีการส่งต่อหรือดูแลต่อ เพื่อไม่ให้คนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ป่วยเป็นโรคในอนาคต คือไม่มีคนมาอธิบายว่า เมื่อผลการตรวจออกมาเช่นนี้แล้วแรงงานคนนั้นควรปรับพฤติกรรมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดโรคขึ้น

“คนงานเขาอ่านค่าไม่ออกหรอกว่าผลการตรวจนั้นเป็อย่างไร แค่อาจเห็นว่าผลตรวจออกมาเป็นอย่างนี้ มีแนวโน้มสูง แต่สุขภาพเขายังไม่เป็นอะไร เขาก็ยังไม่ไปโรงพยาบาลหรือไปพบแพทย์ เพราะเขาจะไปก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น แต่เขาไม่ตระหนักเลยว่าหากปล่อยให้สะสมไปเรื่อยๆ วันหน้าจะเกิดโรคขึ้นมา ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 63 (2) ที่มีเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ จึงมองว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องเข้ามาส่งเสริมปิดช่องว่างในเรื่องนี้” นายภาคภูมิ กล่าว

นายภาคภูมิ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องมีคนมาอธิบายให้แรงงานเกิดความเข้าใจและตระหนักว่าหรือกลัวว่า ถ้าปล่อยให้ยังดำเนินชีวิตเช่นนี้ไปต่อโดยไม่ปรับพฤติกรรมนั้น จากที่ไม่เป็นโรคก็สามารถเป็นได้ โดยอาจให้โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมอยู่แล้ว ส่งข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของคนงานมายังประกันสังคม เพื่อประเมินว่าโรงงานนั้นๆ มีอัตราเสี่ยงเกิดโรคมากน้อยแค่ไหน ประกันสังคมก็อาจส่งแพทย์เข้าไปให้คำแนะนำหรือส่งงบประมาณจัดรณรงค์ลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพราะโรคเหล่านี้มักมาจากการกินอยู่ การใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือ อยากให้ประกันสังคมลองเก็บสถิติดูว่าคนที่นอนป่วยติดเตียงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมาจากโรคอะไร มาจากเส้นเลือดอุดตันในสมองหรือไม่ ต้นเหตุมาจากการกินอยู่หรือไม่ และเมื่อมีโครงการลงไปส่งเสริมแล้วสถิติลดลงหรือไม่ ซึ่งถ้าลดลงเท่ากับการส่งเสริมสุขภาพเช่นนี้ได้ผลดี

“หรืออยากให้ดำเนินการร่วมกับโรงงานต้นแบบ ที่มีคนงานเป็นพันคน มีห้องพยาบาล มีแพทย์มาประจำ ก็เอาโครงการนี้เข้ามาสวมได้เลย โดยให้ให้คำแนะนำส่งเสริมป้องกันโรค กินอยู่อย่างไรไม่ให้เกิดโรค หรือโรคมะเร็งเกิดอย่างไร คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นจากอะไร อาหารประเภทไหน ซึ่งตรงนี้จะทำให้เข้าไปใกล้ชิดคนงานมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากดำเนินการเช่นนี้จะช่วยลดการเกิดโรคลงได้ เพราะปัจจุบันนี้คนงานเกิดโรคขึ้นเพราะไม่มีใครไปเตือนไปแนะนำเขา” นายภาคภูมิ กล่าว