'ฆ่าเสือดำโฆษณาเสือแดง' ยื่นสธ.เอาผิดโฆษณาน้ำเมาบนตึกอิตาเลียนไทย

'ฆ่าเสือดำโฆษณาเสือแดง' ยื่นสธ.เอาผิดโฆษณาน้ำเมาบนตึกอิตาเลียนไทย

ยื่นสธ.เช็คบิล! หลังพบโฆษณาน้ำเมาเสือแดงบนตึกอิตาเลียนไทย วอนโซเชียลฯหยุดแชร์ภาพต่อ ระบุจะเข้าข่ายช่วยธุรกิจโฆษณาซ้ำ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 61 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วยนายวันชัย พูลช่วย เลขานุการเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และกลุ่มเยาวชน กว่า 20 คน นำหลักฐานการกระทำผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยื่นถึง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ผ่านทาง นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารมว.สธ. โดยนำหลักฐานเป็นภาพถ่ายป้ายโฆษณา ทั้งในรูปแบบของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง ตามสถานที่ต่างๆในกทม. เช่น กรณีป้านเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งบนตึกอิตัลไทย นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายที่เป็นการกากบาททับป้ายที่ผิดกฎหมาย และข้อความเสียดสีต่างๆ อาทิ ฆ่าเสือดำโฆษณาเสือแดง,หลบเลี่ยงกฎหมายโฆษณาหาผลประโยชน์ บนตึกเปรมชัยผิดกฎหมายต้องจัดการ เป็นต้น

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายฯเยาวชนได้เข้าร้องเรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีป้ายโฆษณาบนตึกสูงที่ผิดกฎหมายและป้ายโฆษณาบนตึกอิตัลไทย รวมไปถึงป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆจาก กทม. และป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ยังติดเกลื่อนเมือง จึงนำหลักฐานต่างๆมามอบให้สธ.เพื่อให้เอาผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32

“จากที่เครือข่ายเยาวชนฯลงสำรวจป้ายโฆษณาช่วงเดือนสิงหาคม 2560 และล่าสุด4 กุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีป้ายผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก และถ้าหากใครลองขับรถออกจากบ้านต้องพบเห็นป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ลักษณะนี้อย่างแน่นอน แปลกใจมาก ว่าเรามีกฎหมายควบคุม แต่เหตุใดไม่จัดการ ปล่อยให้โฆษณากระตุ้นยอดขาย สร้างการมอมเมา อย่างเช่น บนตึกอิตาเลียนไทย ที่ติดป้ายขนาดใหญ่ มีรูปเสือ ตราสัญลักษณ์เบียร์ลีโอ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไร้ซึ่งจรรยาบรรณ และไม่มีความรับผิดชอบ ทั้งนี้หากดำเนินคดีถึงที่สุดแล้วเราขอให้สธ. นำเงินสินบนนำจับที่ได้จากค่าปรับ ซึ่งคิด 30 % จากจำนวนค่าปรับทั้งหมด มอบเข้ากองทุนที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำเมา” นายธีรภัทร์ กล่าว

นายวันชัย กล่าวว่า ขอให้สธ.ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายฉบับนี้โดยตรง ดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ดำเนินการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในทุกพื้นที่ ซึ่งขัดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 และกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง ตลอดจนป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. ขอให้หาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิเช่น น้ำดื่ม น้ำโซดา อย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน ตลอดจนปัญหาการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีความผิดชัดเจนและกำลังระบาดอย่างรุนแรง และ 3. ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 ขอเรียกร้องผ่านไปยังผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เคารพกฎหมายและหยุดหาช่องเพื่อโฆษณาหลบเลี่ยงกฎหมาย ทำการตลาดที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า จะนำเรื่องเสนอต่อรมว.สธ.เพื่อพิจารณา เนื่องจากหากยังมีความคาบเกี่ยวและทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะมีการขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องดื่มก็ตาม ซึ่งตรงนี้หากจะมีการดำเนินการให้ชัดเจนจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สามารถควบคุมครอบคลุมถึงกรณีการใช้ตราสัญลักษณ์อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“ตอนนี้ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพตาสัญลักษณ์เครื่องดื่มดังกล่าวบนตึกอิตัลไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะเป็นการแชร์ในเชิงที่ระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิด ก็ขอให้ประชาชนหยุดแชร์ เพราะการแชร์ต่อๆกันไปไม่ว่าจะมีเจตนาอย่างไร ก็เป็นเหมือนการช่วยธุรกิจโฆษณาต่อๆไปเรื่อยๆ”นพ.กิตติศักดิ์กล่าว

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้อนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่มีศ.เกียรติคุณ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เป็นประธาน ได้รับเรื่องและพิจารณาเบื้องต้นพบว่า กรณีนี้มีมูลเข้าข่ายความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แต่ยังไม่ได้ชี้ขาดว่าผิด เพราะต้องมีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานก่อน ทั้งนี้ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ตราสัญลักษณ์ ข้อความหรือภาพนั้น หากเป็นความผิดตรงๆ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกปรับอีกวันละ 50,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

“ส่วนที่จะมีการสั่งให้มีการปลดป้ายดังกล่าวออกจากตึกได้เลยหรือไม่นั้น สธ.ไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ ต้องให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรุงเทพมหานครเพราะในเรื่องอนุญาตให้มีการติดป้ายเป็นอำนาจโดยตรงของท้องถิ่น อีกทั้ง มีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครที่จะพิจารณาเรื่องนี้ควบคู่กันได้” นพ.นิพนธ์กล่าว