แผนทะยานสู่อวกาศ ‘mu Space’

แผนทะยานสู่อวกาศ ‘mu Space’

mu Space เป็นสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอวกาศมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี

จากวิชั่นที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้าไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ วันนี้เส้นทางของ mu Space เดินจากจุดสู่อีกจุดอย่างไรบ้างและไกลแค่ไหน วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด หรือmuSpaceกล่าวถึงแผนการพัฒนาธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น

บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (mu Space) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 โดยกลุ่มผู้บริหารและพนักงานที่มีแนวทางการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันและมีประสบการณ์การทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เป้าหมายและวิสัยทัศน์คือการเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจการให้บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมในประเทศไทย และการเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานในระดับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปในประเทศให้สามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว

อีกทั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นธุรกิจโทรคมนาคมและดาวเทียมในประเทศไทยและขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ตลอดจนการร่วมรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรของประเทศให้เกิดการนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งจะต้องอาศัยการประสานงานและการได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งในประเทศและในต่างประเทศ

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานที่สำคัญของ mu Space คือ บริษัทได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แบบมีโครงข่ายเป็นของตนเอง (ดาวเทียม) จากสำนักงานจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นระยะเวลา 15 ปี นับเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศรายแรกของประเทศไทยที่มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสาร

โดย พฤศจิกายน 2560 มีการทำสัญญาการเช่าใช้สถานีดาวเทียมและการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะและบริการสังคม ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ตุลาคม 2560 ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แบบมีโครงข่ายเป็นของตนเอง เป็นระยะเวลา 15 ปี

และร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะและบริการสังคมร่วมกับบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

กันยายน 2560 ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพหุภาคีว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุน โครงการดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์ และสถาบันไอโอที ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามนโยบายของรัฐบาล

รวมทั้งการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งดาวเทียมสื่อสารกับบริษัท Blue Origin ด้วยจรวด The New Glenn ในปี 2563

ล่าสุด จับมือ SES และHughes บริษัทชั้นนำด้านดาวเทียมของโลก นำเทคโนโลยีดาวเทียมร่วมพัฒนาประเทศไทยให้ทุกพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม

“ความร่วมมือกับ SESบริษัทดาวเทียมที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั้งโลก และHughes บริษัทอุปกรณ์ดาวเทียมภาคพื้นดินชั้นนำของโลก จะช่วยให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยสามารถเข้าถึงอินตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้อย่างรวดเร็วและมีความต่อเนื่อง

การทำงานในลักษณะนี้จะมีส่วนช่วยให้คนชนบทมีสามารถเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเข้าถึงเทคโนโลยี

นับเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในเมืองและชนบทได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตไปทิศทางเดียวกัน”

วรายุทธ กล่าวถึงความตั้งใจที่จะทำให้ทุกพื้นที่ของประเทศสามารถติดต่อถึงกันได้ ซึ่งก็เป็นที่มาของการขยายความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อนำเทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัยมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

จากความร่วมมือระหว่างmu Space กับบริษัทSESและบริษัทHughesทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้ง โรงเรียน สถานพยาบาล และห้องสมุดประชาชน ในเขตพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

อีกทั้งการติดต่อสื่อสารของประชาชนที่จะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึง สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

นอกจากความร่วมมือกับสององค์กรแล้ว mu Spaceยังมีแผนที่จะส่งดาวเทียมของบริษัทในปี 2563 ด้วยจรวด New Glennรวมถึงการบริการท่องเที่ยวอวกาศแห่งแรกของเอเชีย โดยจะมีการทดสอบระบบแคปซูล TheNew Shepardของบริษัท Blue Originในต้นเดือนพฤษภาคม 2561

ในส่วนของแผนธุรกิจ 5 ปีต่อจากนี้ ( 2561-2565) mu Space เตรียมส่งดาวเทียมสื่อสารของตนเองที่จะครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่เอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา เพื่อเป็นระบบสนับสนุนการวางเครือข่ายการสื่อสารในโครงการ ดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์

รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอวกาศสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการด้านการผลิตทั้งในและต่างประเทศ

วิศวกรสู่สตาร์ทอัพ

วรายุทธ หรือ เจมส์ เย็นบำรุง CEO mu Space วัย 33 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ด้านสาขา Aerospace, Aeronautical and Astronautical และ ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์สาขา Mechanical Engineering จาก University of California, Los Angeles (UCLA) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมา ร่วมงานกับ บริษัท Northrop Grumman Corporation ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศและการป้องกันประเทศ อันดับต้นๆของโลก ในตำแหน่งวิศวกรและผู้จัดการโครงการ Satellite, Unmanned Aviation System

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศถึง 14 ปี จึงกลับมาเมืองไทย เพื่อนำความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศมาพัฒนาประเทศ โดยก่อตั้ง mu Space ในเดือนกลางปี 2560