สนช.จ่อยื่นศาลรธน. ตีความกฏหมายส.ว.

สนช.จ่อยื่นศาลรธน. ตีความกฏหมายส.ว.

"พรเพชร" หนุนยื่นศาลตีความ ร่างกม.เลือกตั้ง โวยหากถกได้ข้อสรุปตั้งแต่ขั้น กมธ. ผลคงไม่เป็นแบบนี้ วิปสนช.แบะท่ายื่นตีความ 2 กม.ลูก

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เตรียมส่งข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว คงต้องรอดูรายละเอียดก่อนว่าเห็นแย้งอย่างไร แต่เมื่อตอนที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภา ก็ได้ยินว่ากรรมาธิการ 3 ฝ่าย ทั้งกรธ. สนช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กกต.) มีความร่วมมือกันในการที่จะแก้ไขบทบัญญัติต่างๆให้หมดจากข้อกังวล ไม่มีกรรมาธิการคนไหนอภิปรายทำนองคัดค้านว่าขัดรัฐธรรมนูญเลย หากอภิปรายอย่างหนักแน่น ตนคิดว่าจำนวนสมาชิกที่จะไม่เห็นด้วยอาจจะมีมากกว่าที่ปรากฏ จะเห็นว่าเป็นไปอย่างประนีประนอม ทำให้สมาชิก รวมทั้งตน สบายใจและออกมาพูดว่าไม่มีปัญหาอะไร

"ผมก็ไม่อยากจะพูดว่าหากประเด็นเหล่านี้ได้พูดกันจบก่อนที่จะจบสามวาระรวด ก็อาจจะมีผลที่แตกต่างจากนี้ แต่เมื่อท่านส่งมาตอนนี้ทางแก้ไขก็มีทางเดียวคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องไปว่ากันเอง ผมไปชี้นำไม่ได้ ทุกคนจับจ้องว่าจะทำให้เลื่อนโรดแม็ปการเลือกตั้ง ยื้อการเลือกตั้ง ซึ่งการยื้อหรือเลื่อนโรดแม็ปทุกคนก็มองมาที่ตัวประธานสนช.เป็นหลัก แต่ประธานไม่มีสิทธิบอกหรือบังคับสมาชิกว่าให้ยื่นหรือไม่ยื่น" นายพรเพชร กล่าว

นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ตนตั้งใจว่าจะยื่นร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.) แต่บังเอิญตอนตรวจร่างเมื่อเช้าพบถ้อยคำไม่ตรงกันไม่สอดคล้องกันจึงต้องปรับร่าง ประกอบกับนายมีชัย ยื่นข้อสังเกตมาแบบนี้ก็ต้องให้สมาชิกดูก่อนว่าจะเอาอย่างไร ทั้งนี้ ตนห่วงใยว่าถ้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะกระทบโรดแม็ป ตนจึงต้องคิดมาก แต่ก็ไม่รู้แล้วแต่สมาชิกว่าจะเห็นอย่างไร แต่ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบ

ส่วนข้อกังวลว่าถ้ายื่นแล้วศาลให้แก้ใครจะเป็นคนแก้ นายพรเพชร กล่าวว่า ถ้าไม่มีใครแก้สนช.ก็ต้องแก้ แต่ตามขั้นตอนเราคิดว่ากรธ.ต้องแก้ เพราะกรธ.เป็นเจ้าของร่างแต่แรก แต่ถ้ากรธ.ไม่แก้เราก็ต้องแก้ คือต้องหาคนแก้จนได้ ถามต่อว่า หากกฎหมายประกาศใช้แล้วมีผู้ร้องภายหลังใครจะแก้ นายพรเพชร กล่าวว่า รัฐบาลที่รับผิดชอบอยู่ตอนนั้นต้องไปดูว่าจะแก้อย่างไร

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แถลงผลการประชุมวิปสนช.ว่า ในการประชุมวิปสนช.วันที่ 13 มี.ค.นี้ มีการพูดคุยกันเล็กน้อยเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. แสดงความเป็นห่วงมา คงต้องนำไปหารือในที่ประชุมสนช.วันที่ 15มี.ค.นี้ เพื่อสรุปว่า จะยื่นร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เท่าที่คุยกันร่างกฎหมายสองฉบับไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่หากส่งตีความก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะผู้ใหญ่ท้วงติงมาขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง ซึ่งการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่กระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนก.พ.2562 เนื่องจากได้กำหนดระยะเวลาเผื่อไว้ในเพดานสูงสุดไว้แล้ว

เมื่อถามว่า มีน้ำหนักมากขึ้นที่สนช.จะยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนายมีชัยท้วงติงอย่างต่อเนื่อง นพ.เจตน์ กล่าวว่า นายมีชัยเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมุมมองนักกฎหมายท้วงติงมา สนช.ต้องรับฟังนำมาหารือกัน ต้องเอาความเห็นของนายมีชัยมาคิดให้หนัก เมื่อผู้ใหญ่ชี้มาเช่นนี้ ต้องคิดให้รอบคอบ ดูแนวโน้มแล้วคงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะในการประชุมสนช.วันที่ 15 มี.ค.จะง่ายต่อการเข้าชื่อ หลักๆคนที่เข้าชื่อคงเป็นผู้ลงมติไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง รวมถึงคนที่ไม่ได้มาร่วมโหวตลงมติ แต่ไม่จำกัดสิทธิคนที่ลงมติเห็นด้วย จะมาร่วมลงชื่อก็ได้ เพราะคนลงมติเห็นชอบ อาจเห็นด้วยกับภาพรวมกฎหมาย แต่ไม่อาจไม่เห็นด้วยในบางมาตรา

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ วิปสนช. กล่าวว่า คาดว่าอย่างน้อยสนช.คงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะกรณีที่กฎหมายประกาศบังคับใช้แล้ว และมีการสรรหาส.ว.50 คน เสร็จแล้ว ปรากฏว่า มีผู้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ขั้นตอนการสรรหาส.ว.50 คนไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จะยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น เพราะถึงตอนนั้น เมื่อได้ส.ว.ครบถ้วนแล้ว แต่จะเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ เพราะถูกร้องเรื่องการสรรหาส.ว.50 คน การเปิดประชุมรัฐสภาอาจต้องชะงักไว้ก่อน การเลือกนายกฯก็จะชะงักไปด้วย ถึงตอนนั้นจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่หลายคนแสดงความเป็นห่วง จึงต้องการทำให้เกิดความชัดเจน