ดาวดังเพื่อนบ้าน แรงส่งลีกลูกหนังอาเซียนสู่เวทีโลก

ดาวดังเพื่อนบ้าน แรงส่งลีกลูกหนังอาเซียนสู่เวทีโลก

ไม่มีช่วงไหนที่วงการลูกหนังย่านอาเซียนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับเวลานี้อีกแล้ว โดยเฉพาะเรื่องตัวนักเตะที่ปัจจุบันไม่ได้จำกัดความสามารถอยู่แค่ลีกในประเทศของตัวเองอีกต่อไปแล้ว

นักฟุตบอลอาชีพในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังนิยมออกเดินทางไปค้าแข้งยังต่างประเทศกันมากขึ้น โดยกระจายกันไปเล่นในลีกชั้นนำของไทยและมาเลเซียถึง 24 รายในฤดูกาล 2018 ซึ่งตรงข้ามกับสามปีก่อนหน้านี้ที่แทบจะไม่มีแข้งรายใดออกมาเผชิญโชคยังต่างแดน

ผู้เล่นที่ดีที่สุดของ เมียนมาร์, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ได้เซ็นสัญญาค้าแข้งใน มาเลเซีย ซูเปอร์ลีก และ ไทยพรีเมียร์ลีก เมื่อเดือนที่ผ่านมา การโยกย้ายของนักเตะในอาเซียนด้วยกันทำให้ทัวร์นาเมนต์เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลประโยชน์มหาศาลทั้งในและนอกสนามจากการดึงดูดแฟนบอลกลุ่มใหม่ๆ

โควตาอาเซียน

ผู้เล่นต่างชาติของลีกไทยกับมาเลเซียเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะตลอดช่วง 3 ซีซันที่ผ่านมา สโมสรชั้นนำได้รับการอนุญาตให้ส่งผู้เล่นโควตาต่างชาติลงสนามได้ 4 คน และแน่นอนว่า นักเตะบราซิล ยังเป็นแข้งที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาโควตาผู้เล่นต่างชาติ

แต่ในฤดูกาล 2018 เริ่มมีการเพิ่มโควตานักเตะต่างชาติอีกหนึ่งโควตาซึ่งต้องเป็นนักเตะจากอาเซียนเท่านั้น ภายใต้กฏ 3+1+1 อธิบายให้เห็นภาพก็คือ โควตานักเตะต่างชาติ 3 คน บวกกับนักเตะเอเชีย 1 คน และนักเตะอาเซียนโดยเฉพาะอีก 1 ราย เท่ากับว่าแต่ละทีมสามารถส่งผู้เล่นต่างชาติ, ผู้เล่นเอเชีย และผู้เล่นอาเซียน ลงสนามได้พร้อมกันทั้งหมด 5 คน และการเพิ่มโควตาอาเซียนเข้ามาทำให้เป็นการง่ายกว่าสำหรับบรรดาเฮดโค้ชในการเฟ้นหานักเตะจากประเทศเพื่อนบ้านและไม่ต้องไปกังวลว่าจะไปเปลืองโควตาผู้เล่นต่างชาติอย่างที่เคยมีมา

“เรากำลังมองไปถึงการพัฒนาระยะยาว” เบนจามิน ตัน รองผู้จัดการบริษัทไทยพรีเมีรย์ลีก อธิบายถึงเป้าหมายของกฏใหม่ที่ถูกนำมาใช้ “ผมดีใจที่เราสามารถโน้มน้าวให้สโมสรต่างๆยอมรับฟังและดำเนินการตามนโยบายที่วางไว้ ตอนแรกหลายคนไม่มั่นใจกับแนวทางดังกล่าว แต่เวลานี้ก็ได้เห็นกันแล้วว่ามันมีประโยชน์แค่ไหนโดยเฉพาะเรื่องตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้น”

นายตัน มองว่าการเพิ่มโควตาอาเซียนเข้ามาจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อไทยซึ่งเป็นชาติที่มีทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังต้องการพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ขึ้นไปเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และ อิหร่าน โดยเวลานี้ ไทย เป็นชาติเดียวในย่านนี้ที่ได้โควตาผ่านเข้าไปเล่นรอบแบ่งกลุ่มเอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก หรือ ศึกชิงแชมป์ฟุตบอลถ้วยใหญ่สุดของเอเชียโดยอัตโนมัติ

“เราต้องการยกระดับของนักเตะในภูมิภาคอาเซียน พวกเขาสามารถมาเล่นที่ไทยได้เพราะที่นี่มีสภาพแวดล้อมและการแข่งขันที่สูงซึ่งจะเป็นผลดีในการพัฒนาทักษะตลอดจนศักยภาพที่มีให้ก้าวขึ้นไปในอีกระดับ และในที่สุดเมื่อนักเตะเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นก็จะส่งผลให้ศักยภาพของ ไทย แกร่งขึ้นตามไปด้วย”

แหล่งรวมดาวดัง

ไทยลีก ฤดูกาล 2018 ดึงตัวดาวเตะระดับแม่เหล็กของแต่ละชาติมารวมกันอยู่ในลีกมากมาย อาทิ อ่อง ธู ศูนย์หน้าซูเปอร์สตาร์ซึ่งโด่งดังที่สุดของชาวเมียนมาประเดิมประตูแรกของตัวเองในไทยลีกให้กับ โปลิศ เทโร ในเกมที่ต้นสังกัดบุกไปพ่าย พีที ประจวบ เอฟซี 2-3 เมื่อ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา, ฮอง วู แซมสัน กองหน้าสัญชาติไนจีเรีย-เวียดนาม เจ้าของรางวัลดาวซัลโวตลอดกาล วี-ลีก แม้ปัจจุบันจะโบกมือลาบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไปแล้วแต่ก็ถือว่าเคยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโควตาอาเซียน และ มาร์ค ฮาร์ทมันน์ กองหน้าของอุบล ยูเอ็มที ก็มีดีกรีเป็นถึงหัวหอกทีมชาติฟิลิปปินส์โดยติดทีมชาติมาตั้งแต่ปี 2011

ถึงจะไม่ใช่ลีกเบอร์ 1 ของเอเชีย และไม่ได้ขึ้นชื่อในความคลั่งไคล้ฟุตบอลขนาดหนัก แต่ ไทยพรีเมียร์ลีก สามารถประสบความสำเร็จในแง่การตลาดได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

“เรามีความคิดที่จะขยายาฐานแฟนบอลให้เข้าถึงผู้คนจำนวนกว่า 600 ล้านรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายตัน กล่าว พร้อมเสริมว่า “ส่วนตัวผมมองว่าไทยลีกสามารถสร้างกระแสความนิยมได้มากกว่านี้และจะดึงดูดพาร์ทเนอร์เจ้าอื่นๆได้มากขึ้น เพราะทุกย่างก้าวของเรากำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษ”

นายตัน ยกตัวอย่างสโมสรที่เซ็นสัญญากับนักเตะเมียนมา อาทิ เชียงราย ยูไนเต็ด, โปลิศ เทโร และ พีที ประจวบ ทีมเหล่านี้สามารถช่วงชิงความได้เปรียบในแง่การตลาดอย่างเห็นได้ชัด โดยธนาคารชั้นนำในย่างกุ้งแสดงให้ความสนใจที่จะเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนให้กับทีมใดทีมหนึ่ง นอกจากนี้เวลาลงทำการแข่งขันยังได้มีการถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้แฟนบอลเมียนมาได้ติดตามเกมการแข่งขันแบบสดๆ

เกมระหว่าง เชียงราย ยูไนเต็ด เปิดบ้านเสมอกับ โปลิศ เทโร 1-1 เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากแฟนบอลเมียนมาเป็นจำนวนมากเนื่องจากทั้งสองทีมมีดาวเตะชื่อดังของเมียนมาอยู่ในทีม โดยฝั่ง เชียงราย มี คยอ โค โค หัวหอก วัย 25 ปี ส่วนฝั่ง โปลิศ เทโร นำมาโดยศูนย์หน้าระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง อ่อง ธู โดยมีรายงานว่าเกมคู่นี้ได้รับความสนใจถึงขนาดที่ว่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันขายหมดเกลี้ยงก่อนวันแข่งถึง 1 สัปดาห์

หาสมดุลให้เจอ

ขณะที่มาตรฐานการดึงผู้เล่นอาเซียนไปค้าแข้งใน มาเลเซีย ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน โดย 4 ผู้เล่นระดับหัวแถวของกัมพูชาต่างลงเล่นในลีกเสือเหลืองทั้งหมด โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ เขียว ซกเพ็ง ดาวยิง วัย 26 ปีกลายเป็นนักเตะกัมพูชาคนแรกที่ได้ลงเล่นในลีกสูงสุดของมาเลเซีย แถมยังเป็นคนแรกที่สามารถยิงประตูได้ในลีกเสือเหลืองหลังซัดประตูชัยให้กับ พีเคเอ็นพี เอฟซี ต้นสังกัดเฉือนชนะ เนกรีเซมบิลัน 1-0 ในแมตช์เปิดสนามของศึกมาเลเซีย ซูเปอร์ลีก

“เป็นเรื่องยอดเยี่ยมมากทีเดียวสำหรับการยิงประตูสำคัญได้ตั้งแต่เกมแรกที่ลงสนาม” ซกเพ็ง ให้สัมภาษณ์หลังจบเกม “และยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อสามารถทำประตูได้ต่อหน้าแฟนบอลของตัวเอง เราทุกคนยินดีที่จะลงเล่นที่นี่และต้องการแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานฟุตบอลของเรานั้นแข็งแกร่งแค่ไหน”

สก๊อตต์ โอ'ดอนเนล อดีตกุนซือทีมชาติกัมพูชา กล่าวว่า นี่คือการพัฒนาที่สำคัญของนักเตะทั้งในแง่ของสภาพจิตใจ ตลอดจนเรื่องทักษะ ความสามารถ ในอดีตที่ผ่านมานักเตะกัมพูชาไม่ชอบที่จะออกไปค้าแข้งยังต่างแดน แต่เวลานี้ 4 แกนหลักของพวกเขากำลังลงเล่นในลีกที่แข็งแกร่งที่สุดลีกหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ดีเพราะเมื่อกลับมาเล่นให้ทีมชาติบ้านเกิดนักเตะเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้เล่นที่ดีกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามถึงการออกมาค้าแข้งยังต่างแดนจะเป็นไปในทิศทางบวกเสียส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน โอ'ดอนเนล ก็เกรงว่าหากผู้เล่นฝีเท้าดีๆของกัมพูชาเลือกออกมาเล่นยังต่างแดนทั้งหมดอาจจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาลีกในประเทศด้วยเช่นกัน

“สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศกัมพูชาพอใจกับพัฒนาการของฟุตบอลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่หากนักเตะชื่อดังทั้งหลายออกไปเล่นที่อื่นกันหมดก็ไม่แปลกที่ลีกในประเทศจะอ่อนแอลงทันตาเห็น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องหาจุดที่สมดุลให้เจอ

กัมพูชา และ เมียนมา กลายเป็น 2 ประเทศในอาเซียนที่ส่งออกนักเตะไปค้าแข้งยังต่างแดนมากที่สุด นักเตะเก่งๆของเมียนมาส่วนใหญ่เลือกมาเล่นที่ไทย ขณะที่ ไทย ส่งนักเตะที่ดี่สุดไปเล่นที่ญี่ปุ่น ส่วน นักเตะญี่ปุ่น ต่างทยอยกันไปหาประสบการณ์ที่ยุโรป ซึ่งวงจรเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับความหวังสูงสุดของนักเตะซึ่งต้องการยกระดับตัวเองไปสู่ลีกการแข่งขันที่ดีที่สุดนั่นเอง

การย้ายทีมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดย่อมเกิดประโยชน์ตามมาแทบทั้งสิ้น หากเป็นการซื้อขาดสโมสรต้นสังกัดจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าตัวของนักเตะที่พวกเขาได้ปลุกปั้นมาโดยตรง ขณะเดียวกันถ้าเป็นรูปแบบยืมตัว ไม่ว่าจะเป็น 1 ฤดูกาล หรือมากกว่านั้น ประโยชน์อันดับแรกจะไปตกกับนักเตะเองที่จะสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการไปค้าแข้งยังต่างประเทศกับลีกชั้นนำที่มีมาตรฐานการเล่นที่สูงกว่า

เมื่อหมดสัญญายืมตัวดาวเตะเหล่านั้นก็สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาช่วยต้นสังกัดเดิมให้แข็งแกร่งมากขึ้นไปอีกเช่นเดียวกันกับสโมสรที่ปล่อยยืมก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีระดับแถวหน้าของวงการลูกหนัง

(ล้อมกรอบ) ความคลั่งไคล้ฟุตบอลของกัมพูชา

แฟนบอลเมียนมาติดตามสโมสรในไทยลีกมากขึ้นแค่ไหน แฟนลูกหนังกัมพูชาก็ติดตามลีกลูกหนังมาเลเซียไม่ต่างกัน

คนกัมพูชาให้ความสนใจลีกลูกหนังแดนเสือเหลืองกันเพิ่มมากขึ้น หลังจาก เขียว ซกเพ็ง, เธียร์รี จันทา บิน, ประ มุณี อุดม และ จัน วัฒนากา 4 ดาวดังของกัมพูชาถูกดึงตัวมาค้าแข้งยังดินแดนสือเหลือง

สก็อตต์ โอ'ดอนเนล อดีตกุนซือทีมชาติกัมพูชาซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับอะคาเดมีพัฒนานักเตะเยาวชนในอินเดียกล่าวว่า “นักเตะระดับบิ๊กเนมของกัมพูชาต่างมีสปอนเซฮร์หลายเจ้าที่ให้การสนับสนุนอยู่ แม้กระทั่งเกมแข่งขันอุ่นเครื่องของทีมชาติในระดับเยาวชนยังมีคนเข้ามาดูกว่า 40,000 รายเพราะทุกคนหวังเป็นอย่างมากที่จะเห็นบ้านเกิดของพวกเขาประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ดังนั้นไม่แปลกที่แฟนบอลจะติดตามพวกเขาไปในทุกๆที่”

ปาหัง ทีมดังในลีกมาเลเซีย สร้างความฮือฮาเมื่อดึงตัว จัน วัฒนากา กองหน้ากัปตันทีมชาติกัมพูชา มาร่วมทีมพร้อมกับค่าเหนื่อย 15,000 ดอลลาร์ต่อเดือน

ดอลลาห์ ซัลเลห์ เฮดโค้ชของปาหังเคยออกมาพูดถึงแข้งป้ายแดงว่า “แรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมากอยู่ที่นี่และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาพบกับนักเตะขวัญใจของพวกเขา มีความสนใจมากมายจากสื่อและแฟน ๆ แต่ความนิยมดังกล่าวจะไม่สำคัญอะไรเลย หากนักเตะไม่สามารถโชว์ผลงานที่ดีออกมาในสนาม”