สธ.จับมือภาคี ยุติปัญหาวัณโรค แก้ปัญหาดื้อยา

สธ.จับมือภาคี ยุติปัญหาวัณโรค แก้ปัญหาดื้อยา

สธ.จับมือภาคีเดินหน้า ยุติปัญหาวัณโรคภายในปี 2578 ตามเป้าหมายของการพัฒนาแบบยั่งยืน แก้ปัญหาดื้อยาค่าใช้จ่ายสูงร่วมล้านบาท

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ ผู้แทนสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ Dr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายอนุสรณ์ สมศิริ รองผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันวัณโรคสากล ปี 2561

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแสดงเจตจำนงที่จะพัฒนาประเทศสู่เป้าประสงค์ของการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDG) ในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน 2558 ตั้งเป้ายุติวัณโรค ภายในปี 2578 เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหาวัณโรคนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มี 4 แนวทาง คือ 1.“นโยบายเข้มแข็ง” ด้วยแผนยุทธศาสตร์การยุติปัญหาวัณโรคระดับชาติที่รับรองโดยคณะรัฐมนตรี 2.“เสริมแรงด้วยความรู้” การใช้ความรู้เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ปัจจุบันมีเครือข่ายนักวิจัยไทยรวมตัวกันจัดตั้ง Thai TuRN (Thai Tuberculosis Network) ร่วมกันพัฒนายาสูตรใหม่ที่ใช้เวลารักษาสั้นกว่าเดิม ใช้พันธุศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อวินิจฉัยและรักษาวัณโรค รวมทั้งศึกษาปัจจัยทางสังคมที่จะช่วยลดการรังเกียจและตีตรา 3.“รวมหมู่เป็นเจ้าของ” ทุกภาคส่วนและประชาชน ต้องเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยวัณโรค 4.“ต้องก้าวต่อเนื่อง” ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เพราะวัณโรคเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องติดตามในระยะยาว

เนื่องในโอกาสวันวัณโรคสากล (World TB Day) ปี 2561 ได้กำหนดคำขวัญสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์คือ WANTED: LEADERS FOR A TB-FREE WORLD (You can make history. End TB) หรือ “คุณคือผู้นำ แห่งการยุติวัณโรค เพื่อเมืองไทยปลอดวัณโรค” เชิญชวนทุกคนร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในการยุติวัณโรคร่วมกัน โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทุกระดับ ภาคมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป เริ่มต้นกิจกรรมคัดกรองค้นหาวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการควบคุม ป้องกันวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานการดำเนินงานวัณโรคแห่งชาติ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และลดอุบัติการณ์วัณโรคลงอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี เหลือร้อยละ 88 ต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2564 และเหลือร้อยละ 10 ต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2578