จับตากม.อ้อยกำหนดเกณฑ์กองทุน

จับตากม.อ้อยกำหนดเกณฑ์กองทุน

โรงน้ำตาล เผย หลังลอยตัว กลไกน้ำตาลไม่กระทบ รอความชัดเจน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดเกณฑ์ เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำตาลฯ เปิดช่องกู้เงิน ธ.ก.ส. ช่วยอุดหนุนเกษตรกรช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำ

นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดสถานการณ์น้ำตาลทรายภายในประเทศยังคงเดินหน้าได้อย่างปกติ ราคาน้ำตาลทรายในตลาดลดลงประมาณ 2 บาท ต่อกิโลกรัม ตามราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลดลง

โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลักๆ จากเดิมที่รัฐบาลจะเข้ามากำหนดโควตา ราคา และการนำเงินเข้ากองทุน เปลี่ยนมาเป็นภาคเอกชนโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยเป็นผู้ดำเนินงานต่างๆแทนรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาอุดหนุนโครงสร้างราคาน้ำตาล ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอื่นๆ เสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะต้องรอดูความชัดเจนของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ มีความชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ
“หลังจากลอยตัวน้ำตาลทราย ก็ได้ให้โรงงานน้ำตาลทราย และชาวไร่อ้อย กำหนดส่วนต่างระหว่างราคาน้ำตาลในตลาดโลกกับราคาหน้าโรงงาน ว่าจะเก็บเงินส่วนนี้เข้ากองทุนฯเท่าไร ซึ่งในเดือนที่ผ่านมาก็เก็บในอัตรา 3-4 บาท ต่อกิโลกรัมเข้ากองทุนฯ”

อย่างไรก็ตาม จะต้องรอดู พ.ร.บ.อ้อยละน้ำตาลทรายที่จะออกมาว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ อย่างไร ซึ่งหากกฎหมายกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน กองทุนก็จะมีความน่าเชื่อถือ เพราะรู้ว่าจะมีเงินเข้ากองทุนฯเท่าไร สามารถไปกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำได้ ซึ่งเหมือนกับแนวทางที่เคยใช้มาในอดีต ที่รัฐบาลกำหนดให้กองทุนฯเก็บเงินเพิ่ม 5 บาทต่อกิโลกรัมเข้ากองทุน แต่ในกฎหมายใหม่ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเป็นผู้ตกลงกันเอง และมีกฎหมายออกมารับรอง