ไทยออยล์คาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 12-16 มี.ค. 61

ไทยออยล์คาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 12-16 มี.ค. 61

ราคาน้ำมันดิบคาดถูกกดดัน จากสต็อกและปริมาณการผลิตของสหรัฐที่ปรับเพิ่ม

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 59-64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62-67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 12 – 16 มี.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบคาดจะปรับลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับจุดคุ้มทุนของผู้ผลิตในสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตของสหรัฐ แซงหน้ารัสเซีย และกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก ประกอบกับ สถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องจับตานโยบายและท่าทีของประธานาธิบดีของสหรัฐ ที่คาดว่าจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ :

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทางด้านสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มี.ค. 2561 ปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรล
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือจุดคุ้มทุนของการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ โดย EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ในปี 2561 ุ้มทุนของการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ โดย ปรับเพิ่มขึ้นราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สู่ระดับเฉลี่ยที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และขยายตัวสู่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2562 และมีความเป็นไปได้สูงที่ปริมาณการผลิตของสหรัฐ จะแซงหน้ารัสเซียกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลกในเร็วๆ นี้
  • สถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบียมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังก่อนหน้านี้การประท้วงของแรงงานและเหตุระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบแถวเมือง Zawiya ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตและประกาศเหตุสุดวิสัย(Force Majeure) สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 70,000 บาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุดแหล่งข่าวเผยว่าได้มีการเจรจาตกลงที่จะเปิดดำเนินการแหล่งน้ำมันดังกล่าวอีกครั้ง นอกจากนี้ แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara กำลังการผลิต 340,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งหยุดดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการประท้วงเกี่ยวกับปัญหาทางด้านมลพิษ ก็กลับมาดำเนินการอีกครั้งในวันจันทร์ที่ผ่านมา
  • ติดตามนโยบายทางการค้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำของสหรัฐประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กราวร้อยละ 25 และอลูมิเนียมราวร้อยละ 10 เพื่อปกป้องภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า นอกจากนี้ นโยบายของนายทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองของสหรัฐ เช่นกัน หลังนายแกรี่ โคห์น หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าว
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีน ยอดค้าปลีกสหรัฐ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 9 มี.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.79 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 62.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.12 ดอลลาร์  มาอยู่ที่ 65.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าโลก หลังประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น โดย EIA เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ในสัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นราว 86,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค